window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ความเข้าใจรับรู้ได้ผ่านกระทำไม่ใช่แค่เพียงคำพูด
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

ความเข้าใจรับรู้ได้ผ่านกระทำไม่ใช่แค่เพียงคำพูด


วันนี้เจอคุณพ่อ คุณแม่ของเด็กวัยรุ่นคนนึง ที่น้าหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า

น้าหมอเคยเจอคุณพ่อก่อนหน้านี้แล้ว วันนี้ได้เจอคุณแม่เป็นครั้งแรก


สัปดาห์ก่อนที่เจอคุณพ่อ สัมผัสได้ว่าคุณพ่อยังไม่ค่อยเห็นด้วยว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้าและไม่คิดว่าอารมณ์เศร้าของลูกจะถึงขั้นทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางใจ คิดว่าเป็นความวิตกกังวลธรรมดาทั่วๆไป


สัปดาห์นี้น้าหมอเลยขอนัดคุณแม่มาด้วย เพื่อจะได้ทำความเข้าใจครอบครัวนี้มากขึ้น

เมื่อได้คุยกับคุณแม่ คุณแม่พูดให้น้าหมอฟังว่า 


คุณแม่เข้าใจแล้วว่าลูกต้องการคนรับฟัง ต้องการการดูแลใกล้ชิด เนื่องจากคุณแม่เป็นบุคลากรทางสาธารณสุขก็เลยมีความเข้าใจเรื่องโรคซึมเศร้ามากกว่าคุณพ่อเล็กน้อย


คุณแม่เล่าต่อไปอีกว่าได้รับฟังและคุยกับลูก บอกลูกว่าให้คิดบวก คุณแม่ไม่ได้คาดหวังอะไรในตัวลูกโดยเฉพาะเรื่องผลการเรียนซึ่งเป็นอีกสิ่งที่ลูกกังวล (เนื่องจากเด็กมีพี่น้องที่เรียนดีมากจึงมักจะเปรียบเทียบตัวเองกับพี่น้องและมองว่าตัวเองด้อยกว่าอยู่เสมอ)


หลังจากคุยกับพ่อแม่เสร็จ น้าหมอก็ให้เด็กมาคุยอีกครั้ง

‘วันนี้หมอได้คุยกับคุณพ่อ คุณแม่ของหนูแล้ว

ทั้งสองท่านเล่าให้น้าหมอฟังว่าได้ปรับการคุยกับหนูแล้ว หนูรู้สึกยังไงบ้างคะ’


‘หนูคิดว่าพ่อกับแม่ยังไม่ค่อยเข้าใจหนูค่ะ’ เด็กหญิงบอก

‘ยังไงเหรอคะ’ น้าหมอถามต่อ

‘ไม่รู้เหมือนกันค่ะ แต่รู้สึกเหมือนว่าเขายังไม่ค่อยเข้าใจ’

เด็กหญิงพยายามจะเล่า แต่ก็ยังไม่สามารถอธิบายออกมาได้


‘การที่พ่อแม่บอกให้คิดบวกทำให้หนูรู้สึกว่าเขายังไม่เข้าใจจริงๆใช่มั้ยว่าหนูเศร้า’

น้าหมอสะท้อนความคิดของเด็กออกมาเป็นคำพูด

เด็กหญิงพยักหน้า


มาถึงตรงนี้น้าหมออยากจะบอกว่า การที่คุณพ่อ คุณแม่ชวนลูกมองมุมบวกนั้นเป็นเรื่องที่ดีค่ะ

แต่…..มีข้อควรระวังเล็กน้อย คือ


การมองมุมบวกต้องอยู่บนพื้นฐานความจริง ไม่ใช่การมองบวกเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัญหาที่มีอยู่จริง’ แต่หลายต่อหลายครั้งเราไม่รู้ตัวว่าเรากำลังเลี่ยงปัญหาอยู่


ก่อนจะมองมุมบวก น้าหมออยากชวนผู้ปกครองทุกท่านคิดเกี่ยวกับปัญหาก่อนว่า


1. สิ่งที่เกิดขึ้นคือปัญหาหรือไม่?

เพราะคำว่าปัญหาของแต่ละคน แต่ละบ้านอาจจะไม่เหมือนกัน หากว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตเราติดขัด เดือดร้อนใจ สิ่งนั้นคือปัญหาแล้ว


2. ถ้าคือปัญหาจริง >> ยอมรับว่านี่คือปัญหา

จุดนี้ถือว่าเป็นจุดที่ยากขึ้นมาอีกขั้นนึงเลย เพราะหลายต่อหลายครั้ง ทุกคนในบ้านอาจจะรับรู้ว่าเกิดปัญหาแต่ไม่พร้อมหรือยังไม่อยากจะยอมรับ น้าหมอเข้าใจว่าการยอมรับในปัญหาบางครั้งมันทำให้เจ็บปวด แต่หากยอมรับได้แล้ว เราจึงจะสามารถก้าวผ่านปัญหาและความเจ็บปวดนั้นไปได้ค่ะ ในขั้นตอนนี้ หลายๆบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือจึงตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการปรึกษาหรือรักษากับบุคลากรทางสุขภาพจิตซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากค่ะ


3. จัดการปัญหาที่เกิดขึ้น

ขั้นตอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับรายละเอียดของปัญหาที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละครอบครัวค่ะ


ย้อนกลับมาที่ครอบครัวของเด็กคนนี้

ได้ผ่านทุกขั้นจนมาถึงขั้นที่ 3 คือการจัดการปัญหาแล้วค่ะ

ซึ่งจริงๆนั้นไม่ใช่การจัดการที่ไม่ดี เพียงแต่อาจจะต้องปรับอีกเล็กน้อย


หลายๆคนอาจจะมีความเข้าใจว่า การสื่อสารด้วยคำพูดเพียงอย่างเดียวนั้นเพียงพอที่จะแสดงออกถึงความเข้าใจแต่จริงๆแล้ว ‘คำพูดและการกระทำที่สอดคล้องไปกับคำพูด’ ต่างหากที่จะสามารถส่งความเข้าใจจากผู้พูดไปถึงผู้ฟังได้


ยกตัวอย่างเช่น

หากผู้ปกครองพูดว่า ‘พ่อแม่เข้าใจและไม่ได้คาดหวังอะไรเรื่องเรียนของลูกเลย ไม่ต้องกังวลนะ’

แต่ทุกครั้งที่คุยกับลูก ก็มักจะชวนคุยเรื่องเรียน เรื่องผลการเรียน ให้คำชมหรือความสนใจในผลลัพธ์ปลายทางมากกว่าความตั้งใจและความพยายามของลูก


พ่อแม่ไม่คาดหวังเรื่องเรียน แต่จะชื่นชมก็ต่อเมื่อ ผลการเรียนดี ไม่ได้ชื่นชมเมื่อพฤติกรรมทางสังคมที่ดี เช่น ความมีน้ำใจ หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น


การไม่สอดคล้องระหว่างคำพูดและการกระทำจึงทำให้เด็กๆสับสน และไม่แน่ใจว่า 

‘พ่อแม่เข้าใจหนูจริงๆมั้ย?’


สุดท้ายน้าหมอก็ได้เชิญคุณพ่อ คุณแม่และเด็ก เข้ามารับฟังอีกรอบ พร้อมสรุปให้ฟังดังข้อความด้านบน น้าหมอจบ session อย่างเหนื่อยล้าเล็กน้อย แต่ก็ได้ทำความเข้าใจพ่อแม่เพิ่มขึ้นว่าการที่ต้องยอมรับว่าลูกเป็นโรคซึมเศร้าก็ทำให้รู้สึกว่ายากที่จะรับมือ 


ส่วนลูก ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่า ขอให้พ่อแม่รับฟังอยู่ข้างๆและรู้ว่าหนูเป็นอะไรก็พอ

การสื่อสารนั้นเป็นเครื่องมือที่ดี สามารถแก้ไขได้ทุกปัญหาแต่ต้องรู้วิธีการใช้ให้ถูกต้องและเหมาะสมค่ะ


หากครอบครัวไหนปรับการสื่อสารและการกระทำให้ตรงกันมากขึ้นก็จะช่วยให้การสื่อสารและสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในบ้านดีขึ้นตามไปด้วยค่ะ

บทความโดย น้าหมอใบเฟิร์น

สามารถเรียนรู้เรื่องการสื่อสารเชิงบวกเพิ่มเติมได้ที่ netpama.com นะคะ รับรองว่าจะได้อะไรกลับไปใช้จริงเยอะมากๆเลยล่ะ

NET PaMa