window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
พฤติกรรมของเด็กคือภาพสะท้อนของครอบครัว
เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

พฤติกรรมของเด็กคือภาพสะท้อนของครอบครัว
(ปรับพฤติกรรมลูกได้โดยการเป็นแบบอย่างที่ดี)


สัปดาห์ก่อนน้าหมอได้เจอเด็กชายวัย 8 ปีที่ผู้ปกครองพามาปรึกษาเรื่องพฤติกรรมดื้อต่อต้าน เกิดขึ้นเฉพาะเวลาอยู่กับพ่อแม่แต่ไม่เป็นที่โรงเรียน


ครั้งแรกที่เจอกัน (น่าจะ 1-2 เดือนก่อน)


ซักประวัติและประเมินอาการสมาธิสั้นก็ยังไม่เข้าเกณฑ์ แต่พบปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ปกครองและเด็กกับปัญหาความสัมพันธ์ในบ้านระหว่างคุณพ่อ คุณแม่และคุณย่า และขาดการตั้งกติการวมทั้งขาดการฝึกระเบียบวินัย


สิ่งที่ครอบครัวที่มีปัญหาในลักษณะนี้จะมีร่วมกันคือ ผู้ใหญ่ในบ้านจะเข้ามาคุยกับน้าหมอด้วยความหงุดหงิดใจ มีความท่วมท้นของอารมณ์ พร้อมกับคำพูดเชิงลบเพื่อใช้อธิบายพฤติกรรมเด็ก ส่วนเด็กๆก็มักจะมีสีหน้าไม่สดชื่นแจ่มใส พูดน้อยและกังวล


ผู้ปกครองบอกกับน้าหมอในห้องตรวจว่า

เด็กไม่เชื่อฟัง

‘เด็กเอาแต่ใจ งอแง งี่เง่า’

‘พ่อแม่ทำทุกอย่างที่โรงพยาบาลบอกแล้วแต่ไม่ได้ผลเลย’


ในระหว่างรับฟังปัญหาของผู้ปกครองน้าหมอก็สังเกตสีหน้าของเด็กไปด้วย

เด็กน้อยก้มหน้า ไม่พูดอะไร น้าหมอเลยขอประเมินเด็กเป็นการส่วนตัว


เมื่อผู้ปกครองออกไปแล้ว เด็กมีท่าทางเรียบร้อยแตกต่างจากพฤติกรรมที่ผู้ปกครองเล่าค่อนข้างเยอะ ดูแล้วพฤติกรรมเด็กไม่น่าจะแย่ขนาดนั้น เด็กร่วมมือกับน้าหมอเป็นอย่างดีและเล่าเรื่องราวได้ดี ซึ่งเด็กเล่าว่า เวลาอยู่ที่บ้านรู้สึกว่าถูกดุตลอดเวลาและผู้ปกครองที่ดุมักจะเป็นคุณพ่อที่ดุมากกว่าคุณแม่


“พ่อทำอะไรบ้างที่หนูมองว่าเป็นการดุ”

น้าหมอถาม เพราะหลายครั้งผู้ปกครองอาจจะแค่ตักเตือนแต่เด็กๆเข้าใจผิดว่าเป็นการดุ


เด็กบอกว่า พ่อทำหน้าบึ้ง ขมวดคิ้ว และเสียงดังใส่เด็กบ่อยครั้ง และทุกครั้งที่เห็นท่าทีของพ่อแบบนั้นมันทำให้เด็กโกรธจนต้องระเบิดอารมณ์ตอบกลับไปและรู้สึกผิดทีหลังอยู่บ่อยๆเพราะเขารู้ว่าการระเบิดอารมณ์นั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมและไม่ควรทำ


น้าหมอเลยลองถามถึงความต้องการหรือความรู้สึกภายในใจของเด็กผ่านคำถามในการขอพรวิเศษกับนางฟ้า (3 wishes) เด็กขอพรแค่ข้อเดียว

‘อยากได้พ่อแม่คนใหม่’


ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้มาฟังคงจะมีความรู้สึกบางอย่างเกิดขึ้นใช่มั้ยคะ น้าหมอเชื่อว่าตอนนี้ผู้อ่านบทความก็คงรู้สึกอะไรบางอย่าง แต่หากผู้ปกครองตัดความคิด ความรู้สึก (ที่คาดว่าน่าจะเป็นเชิงลบต่อเด็กคนนี้) ออกไป จะเห็นว่าจริงๆแล้วเด็กอยากจะบอกแค่ว่า 


‘อยากให้พ่อแม่ปรับตัว ดุน้อยลง พูดกับเขาดีขึ้น ลดการใช้เสียงดังหรือตำหนิมากเกินไปได้มั้ยครับ’ 


แต่ด้วยวัยและความสามารถของการใช้เหตุผลที่ยังไม่มากพอ และไม่เคยฝึกสื่อสารอารมณ์ ทำให้เด็กสื่อสารออกไปชัดเจนขนาดนั้นไม่ได้ จึงเป็นหน้าที่ของน้าหมอที่ต้องเป็นวุ้นแปลภาษาของเด็กชายคนนี้ให้พ่อแม่ของเขาเข้าใจ



น้าหมอได้เชิญผู้ปกครองมาคุยอีกครั้ง ก็พบว่าจริงๆ ไม่ใช่ทุกครั้งที่เด็กทำพฤติกรรมปัญหา เด็กสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีความรับผิดชอบหน้าที่แต่สิ่งที่ขาดไปคือ การให้แรงเสริมในทางบวก 


เมื่อเด็กทำดีเขาร้องขอคำชม


แต่ได้รับการตอบสนองน้อยหรือบางครั้งก็ไม่ได้รับการตอบสนองเลย และในทางตรงกันข้ามเมื่อทำผิด ความผิดนั้นถูกจับใส่แว่นขยายให้ใหญ่โต เจอแบบนี้ใครๆก็คงจะต้องโมโหเป็นธรรมดา


พ่อแม่ฟังแล้วพอจะเข้าใจ แต่สิ่งที่ยังติดขัดคือ ความเป็นทีมเดียวกันของผู้ใหญ่ในบ้าน ในมุมมองของพ่อแม่ มีคุณย่าที่ยังตามใจเด็กทำให้พ่อแม่ปรับเด็กได้ยากเพราะไม่กล้าขัดคุณย่า และมุมมองของพ่อคือการดูแลลูกเป็นหน้าที่ของแม่


เมื่อไรที่ผู้ใหญ่ในบ้านมีแนวทางของตัวเองในการดูแลเด็กแต่เป็นแนวทางที่ไม่เหมือนกัน เมื่อนั้น เด็กก็จะเกิดความสับสนและไม่รู้ว่าควรทำตัวแบบไหน นำไปสู่พฤติกรรมเชิงลบที่ผู้ปกครองมองว่า เด็กมีปัญหา


เด็กเรียนรู้จากการดูแบบอย่างของผู้ใหญ่


เด็กเป็นกระจกเงาสะท้อนทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในครอบครัว หากผู้ปกครองมองเห็นว่า ‘เด็กมีปัญหา’ อาจเป็นสัญญาณว่า ‘บ้านเราอาจมีปัญหาบางอย่างเช่นกัน’


เด็กจะไม่สามารถจัดการอารมณ์โกรธอย่างเหมาะสมได้ ถ้าหากเขาเห็นผู้ปกครองระเบิดอารมณ์ทุกครั้งที่โกรธ เด็กจะไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ออกมาได้ หากผู้ปกครองก็บอกอารมณ์ความต้องการของตัวเองไม่ได้และช่วยสะท้อนอารมณ์ให้เด็กไม่ได้ เด็กจะไม่สามารถทำตามกฎ กติกาได้ หากเห็นว่าสมาชิกในบ้านแต่ละคนก็ต่างไม่ทำตามกติกา


น้าหมออยากชวนผู้ปกครองค่อยๆให้เสริมแรงเชิงบวกกับเด็กๆเวลาพวกเขาทำพฤติกรรมที่ดีบ้าง ลดการตำหนิ ต่อว่าที่รุนแรงลงและสื่อสารความรู้สึกของสมาชิกในบ้านมากขึ้น

หากเด็กๆช่วยเหลืองานบ้าน ผู้ปกครองต้องสะท้อนอารมณ์เชิงบวกของตัวท่านเองและชื่นชมเด็ก 


ตัวอย่างประโยคที่ควรพูด 

เช่น ‘แม่ชอบมากเลยที่หนูรู้หน้าที่ ทำงานบ้านโดยที่แม่ไม่ต้องเตือนเลย หนูมีความรับผิดชอบดีมาก’ จะเห็นว่าการชม ไม่ใช่การยกยอปอปั้นเด็กหรืออวยเด็กจนเกินจริงเลยแต่มันคือการสื่อสารที่ง่ายๆตรงไปตรงมา

 

การสอนเรื่องพฤติกรรมเชิงลบก็เช่นกัน ผู้ปกครองสามารถสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาได้แบบไม่ต้องดุว่ารุนแรง แต่เป็นการบอกว่าพฤติกรรมนั้นเป็นปัญหาอย่างไรและพฤติกรรมไหนที่ทำแล้วดีกว่า เช่น เด็กไม่ร่วมมือในการใช้หน้าจอในเวลาที่กำหนด เริ่มหงุดหงิด ต่อรอง อันดับแรกที่ผู้ปกครองควรทำคือ ‘ตั้งสติ สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ’

 

ก่อนที่จะพูดคุยกับเด็ก ใช้น้ำเสียงที่หนักแน่น มั่นคง ชัดเจน พูดสั้นๆ กระชับว่า

“หมดเวลาที่ตกลงแล้ว เราต้องทำตามข้อตกลงนะลูก แม่เข้าใจว่าหนูโกรธเพราะกำลังเล่นสนุก แต่เราตกลงกันแล้ว พรุ่งนี้จะได้เล่นอีกครั้งตามที่ตกลงกันนะ”

 

หากเด็กยังโกรธอยู่ ผู้ปกครองควรอนุญาตให้เด็กแสดงอารมณ์โกรธได้อย่างเหมาะสม เช่น

“หนูโกรธได้ ร้องไห้ได้ แต่ต้องไม่ตีตัวเองและไม่ขว้างของนะ ถ้าหนูหายโกรธแล้วแม่รออยู่ตรงนี้”

 

ไม่ต้องอธิบายเหตุผลยาวๆ ไม่ต้องใช้คำขู่หรือการตี ใช้แค่ความหนักแน่น มั่นคง นุ่มนวลและจริงใจเท่านั้น


วิธีนี้นอกจากจะปรับพฤติกรรมเด็กได้แล้ว ยังช่วยรักษาสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัวระหว่างผู้ปกครองและเด็กอีกทั้งยังทำให้เด็กได้เห็นแบบอย่างของการจัดการปัญหาหรืออารมณ์ที่ถูกต้องเหมาะสมผ่านพฤติกรรมของผู้ปกครองอีกด้วยค่ะ


บทความโดย น้าหมอใบเฟิร์น


น้าหมอทราบว่าอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผู้ปกครองหลายๆท่าน แต่สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝนได้ฟรีๆผ่านการเรียนจาก www.netpama.com นี่เองนะ !

เอาใจช่วยให้ทุกๆบ้านสื่อสารกับลูกและปรับพฤติกรรมได้ถูกต้องเหมาะสมนะคะ

NET PaMa