window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
แม่ฆ่าลูกเกิดจากอะไร
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

แม่ฆ่าลูกเกิดจากอะไร


ภาวะที่มารดาหรือบิดาฆ่าลูกที่ยังเล็ก (infanticide) นั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานแล้ว มีการศึกษาถึงภาวะนี้จำนวนมาก พบว่าสาเหตุอาจจะมาจาก 


1.การตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม (unwanted pregnancy) แล้วไม่กล้าหรือล้มเหลวในการทำแท้ง
2.เป็นการทำเพื่อแก้แค้นสามี ซึ่งเป็นพ่อของเด็ก
3.การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวช
4.การดูแลเด็กที่ไม่ดี ขาดความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงดูเด็ก (child maltreatment)
5.การไม่ได้เพศของลูกตามต้องการในบางวัฒนธรรม หรือทำไปด้วยความเชื่อในบางลัทธิ

ในบทความนี้หมอจะหยิบยกมาพูดถึงข้อ 3 และข้อ 4 เพื่อความรู้ความเข้าใจ และป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแม่ฆ่าลูกขึ้นในอนาคต


ฉันจะเป็นแม่ที่ดีพอหรือเปล่า ?


คงเป็นคำถามในใจคุณแม่มือใหม่หลาย ๆ คน ที่นอกจากจะต้องอุ้มท้องแล้วยังต้องอุ้มความคาดหวังทั้งจากตัวเองและคนอื่นเอาไว้มหาศาลด้วย การตั้งครรภ์หนึ่งครั้งมีการเตรียมตัวมากมาย ที่เห็นได้ชัดคือการไปฝากครรภ์ (ANC) 


เมื่อเจ้าตัวน้อยคลอดออกมาแล้ว คุณแม่หลายท่านต้องรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งบทบาทหน้าที่อันเปลี่ยนไป (role transition) การกลายมาเป็นคุณแม่เต็มตัว นั่นหมายถึงหน้าที่ในการดูแลอีกชีวิตหนึ่งที่เพิ่งถือกำเนิดก็เต็มตัวเช่นกัน บางคนคาดหวังจะหาสิ่งที่ดีที่สุดมาให้ลูกรวมทั้งตนเองและสามีด้วย ด้วยความคาดหวังที่มากมายขนาดนี้ เมื่อพบกับความเป็นจริงว่าตัวเองยังทำตามที่คาดไว้ได้ไม่เต็มที่


คุณแม่หลายคนอาจะประสบกับปัญหา ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ได้ ซึ่งสิ่งกระตุ้นอาจเป็น น้ำนมไหลไม่มากพอ เครียดเรื่องการเงินในอนาคต บางคนอาจต้องยื้อแย่งการเลี้ยงเด็กกับพ่อแม่สามี หรือการพักผ่อนไม่พอ บางครั้งความรำคาญเสียงลูกน้อยก็มีผลมาก และคุณแม่เองก็อาจยิ่งรู้สึกผิดมากเข้าไปอีกที่รู้สึกเกลียดเจ้าตัวน้อย


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่รุนแรง นำไปสู่การที่มารดาฆ่าเด็กทารกได้ครับ (และในหลายๆ ราย ฆ่าตัวตายตาม)


แต่ทั้งนี้อารมณ์เศร้าที่เกิดขึ้นหลังคลอดบุตร อาจไม่ถึงกับเป็นโรคซึมเศร้าเสมอไป ในบางครั้งอาจเป็นแค่ ปัญหาการปรับตัวของคุณแม่มือใหม่ ที่บทบาทหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป (adjustment disorder) หรืออารมณ์เศร้าดิ่ง ดาวน์ หลังคลอดเล็กๆน้อยๆ ที่เรียกว่า Postpartum Blue


...แล้วเมื่อไหร่ ที่จะต้องสงสัย ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ?...


นั่นคือ เมื่ออารมณ์เศร้า ดิ่ง ดาวน์ หดหู่ มีเวลานานกว่า 2 สัปดาห์

ในหลายๆงานวิจัยและคำแนะนำทางเวชปฏิบัติ แนะนำให้คุณแม่มือใหม่ เริ่มจากการถามตัวเองว่า


  1. ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ เรารู้สึกหดหู่ เศร้า ท้อแท้สิ้นหวังหรือไม่ ? หรือ
  2. ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ เรารู้สึกเบื่อหน่าย ทำอะไรก็ไม่เพลิดเพลินหรือไม่ ?

ถ้าหากข้อใดข้อหนึ่งคุณตอบว่า ใช่ แล้วล่ะก็ แนะนำให้ทำแบบทดสอบ 9Q ต่อไปครับ

ถ้าเข้าเกณฑ์ คุณอาจกำลังมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ "Postpartum Depression" 


หมอขอแนะนำว่าให้บอกกับคุณสามี ญาติ หรือคนรอบตัวเพื่อขอให้พวกเขาช่วยเหลือ หรืออย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระการดูแลเจ้าตัวน้อยไปสักช่วงหนึ่ง เพื่อให้คุณแม่ได้มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น และเข้าไปพบคุณหมอที่โรงพยาบาล เพื่อเริ่มประเมินและทำการรักษา


ควรมีการเข้าใจที่ถูกต้องว่า คุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้านั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นคนไม่ดี หรือขาดศีลธรรม เพราะปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้าขึ้น เราทราบว่าภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นนอกจากเกิดจากปัญหาความเครียด ความกดดันและการปรับตัวแล้ว การพักผ่อนไม่เพียงพอของคุณแม่ก็มีส่วน และปัจจัยที่ส่งผลมากๆเลยก็คือปัจจัยด้านฮอร์โมนนั่นเอง เพราะการลดลงอย่างรวดเร็วของระดับเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนหลังคลอด ส่งผลให้คุณแม่รู้สึกเศร้าได้ บางการศึกษาพบว่าในประชากรทั่วไปมีคุณแม่เข้าเกณฑ์ซึมเศร้าหลังคลอด 27 % บางการศึกษาก็พบสูงถึง 50 % เลยทีเดียว


ภาวะซึมเศร้าหลังคลอดที่ไม่ถูกตรวจพบ ทำให้ไม่มีโอกาสที่จะได้รับการแบ่งเบาช่วยเหลือ อาจเป็นสิ่งที่หนักอึ้งสำหรับคุณแม่คนหนึ่ง อย่างที่คนนอกยากที่จะจินตนาการออก


ในขณะที่ การดูแลเด็กที่ขาดความรู้ความเข้าใจ (child maltreatment) ดูคล้ายจะตรงกันข้ามกับกรณีข้างต้น การขาดความรู้ความเข้าใจในเด็กแรกเกิด หรือความยากลำบากในการควบคุมอารมณ์ตัวเองของพ่อกับแม่ นำไปสู่การบาดเจ็บหรือเสียชีวิตของเด็กได้ เพราะหลายครั้ง มีการใช้กำลัง หรือปล่อยปะละเลยเด็ก


มีการพูดถึงพ่อแม่ที่เป็นผู้ต้องหาคดี Child Maltreatment หลายราย ได้ให้การว่าพวกเขาไม่ได้ตั้งใจจะฆ่าทารกน้อยของพวกเขา แต่ทว่าเป็นการตอบสนอง ไปตามพื้นอารมณ์ (temper) ของเด็กที่ดื้อ เลี้ยงยากเหล่านี้ หรือเป็นการ ดัดนิสัย ฝึกวินัย เด็กเหล่านี้ ในความเห็นของหมอแล้ว เด็กเล็กนั้นยังไม่รับรู้ Concept ของความถูก ผิด ระเบียบ วินัย ซึ่งจริงๆแล้วจะพัฒนาหลังการพัฒนาของภาษาเสียอีก พวกเขาร้องไห้ก็เพราะพวกเขาหิว ง่วง เจ็บ หรือไม่สุขสบายก็แค่นั้น ในหลายๆครอบครัวที่การตีเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แน่นอนว่ายิ่งตี เด็กก็ยิ่งร้องเพราะเขาเจ็บ การทำโทษและลงไม้ลงมือของคนเป็นพ่อแม่จึงรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเพื่อให้ลูกหยุดร้องกวน บางครั้งจับเด็กเขย่าตัวจนสมองกระทบกระเทือน (shaken baby syndrome) แล้วเด็กก็นิ่งไป มาดูอีกทีก็พบว่าเด็กเสียชีวิตไปแล้ว


ภาวะ Child maltreatment นั้นมักพบในคุณแม่ที่มีอายุน้อยกว่า 25 ปี ส่วนใหญ่ตั้งครรภ์ขณะยังเป็นวัยรุ่น (teenage pregnancy) ไม่ได้จดทะเบียนสมรส ว่างงาน ได้รับการศึกษาต่ำกว่าการศึกษาพื้นฐาน และไม่ได้ฝากครรภ์ต่อเนื่อง


หากคุณแม่มือใหม่คนไหนเริ่มรู้สึกรำคาญลูกน้อยแล้วล่ะก็ หมอแนะนำให้ขอความช่วยเหลือคนรอบตัวด่วนๆนะครับ ไม่ว่าจะเป็น สามี หรือ บิดามารดาของคุณแม่เอง 


แม้ว่ากลุ่มประชากรที่จะเกิด Child Maltreatment กับกลุ่มที่น่าจะเกิดซึมเศร้าหลังคลอดดูน่าจะไม่ใช่กลุ่มเดียวกัน แต่สองภาวะนี้เกิดขึ้นร่วมกันได้นะครับ


คุณแม่มือใหม่ที่มีความรู้สึกรำคาญ อยากจับตัวลูกเขย่า อาจมีความเศร้าที่ซ่อนอยู่ลึกๆก็ได้ อย่างไรหมอก็ยังแนะนำให้ไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้านตามสิทธิ์อีกเช่นกันครับ เพื่อเข้าสู่กระบวนการการรักษา  จะได้ตรวจรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ (early detection)


แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าอีกเช่นกันที่คุณแม่ที่มี Child Maltreatment ในบางพื้นที่ นั้นนอกจากขาดโอากาสทางการศึกษา ยังขาดการเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐาน ทำให้ขาดการฝากครรภ์ มีฐานะไม่เอื้ออำนวยกับการเลี้ยงดูเด็กให้มีคุณภาพ ญาติพี่น้องรอบตัวไม่มีใครสะดวกที่จะดูแลไม่ว่าจะตัวแม่หรือตัวเด็ก หรือบางครั้ง ญาติก็มองว่าเรื่องแค่นี้เล็กน้อยไม่ใช่ปัญหา ทำให้ผู้หญิงกลุ่มนี้ทุกข์ทรมานและน่าสงสารมาก


หมอก็ได้หวังอยู่ลึกๆว่า ในอนาคต การเข้าถึงทั้งการรักษา และการศึกษาจะครอบคลุมมากขึ้น และความเหลื่อมล้ำจะลดลงในซักวันหนึ่งครับ


บทความนี้อยากจะย้ำอีกครั้งถึงความมุ่งหวังในเข้าสู่กระบวนการการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ  เริ่มจากการกล้าบอกกับญาติหรือคนใกล้ตัว การกล้าขอความช่วยเหลือ รวมทั้งญาติเองก็ช่วยกันเป็นหูเป็นตาด้วย เพื่อที่จะได้เข้ารับการประเมิน และส่งต่อจิตแพทย์ตามสิทธิ์ หมอจะบอกว่า...ยาโรงพยาบาลรัฐเดี๋ยวนี้ไม่แพง ถูกบรรจุในสิทธิ์การรักษาขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว บางตัวกินแล้วก็ยังให้นมลูกได้อยู่ครับ


คุณแม่หลายคนที่อ่านบทความนี้อาจจะโชคดี ไม่ได้ประสบภาวะยากลำบากหลังคลอดลูก แต่ก็มีอีกจำนวนหนึ่งเช่นกันที่อาจไม่ง่ายอย่างนั้น คุณแม่ผ่านช่วงเวลานั้นมาได้ยังไง การแชร์ความคิดเห็นไว้ เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านอื่นๆแน่นอน


บทความโดย หมอ Triquetra


พ่อแม่ท่านใดที่อยากฝึกฝนวิชาการเลี้ยงลูกเชิงบวกสามารถลงทะเบียนเรียนได้ฟรีๆ ที่ www.netpama.com นะครับ !

NET PaMa