window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
พ่อแม่จ๋าอย่าลืมหนู
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
ไม่ใช่แค่เด็กที่มีปัญหาด้านการเรียน ด้านอารมณ์ ด้านพฤติกรรม เท่านั้นที่ต้องการความรัก ความเอาใจใส่จากคนในครอบครัว แต่พี่น้องของเด็กเหล่านี้ก็ต้องการเช่นกัน

สำหรับบ้านที่มีลูก 2 คนขึ้นไป หลายครั้งด้วยความเป็นห่วง พ่อแม่จะทุ่มเทเวลา ให้ความสนใจไปกับลูกที่มีปัญหาค่อนข้างเยอะ ไม่ว่าจะเป็นช่วยสอนการบ้าน ทำงานศิลปะ จัดตารางสอน พูดชม ให้กำลังใจ ให้รางวัล และรู้สึกสบายใจที่ลูกอีกคนสามารถดูแลตัวเองได้ จนเผลอลืมให้ความสนใจพวกเขาไป ซึ่งเป็นบ่อเกิดความน้อยใจ เสียใจ อิจฉาพี่น้อง  เด็กหลายคนที่มีพฤติกรรมที่ดีอยู่แล้วก็เกิดพฤติกรรมถดถอย หรือมีพฤติกรรมที่แย่ลงได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็ก หรือพี่น้องที่อายุใกล้เคียงกัน

เช่น จากเดิมเขียนลายมือสวย ทำการบ้านได้รวดเร็ว ก็กลายเป็นว่างอแงไม่อยากทำการบ้าน ทำไม่ได้ เขียนชุ่ยๆ เพราะอยากได้ความสนใจจากแม่ อยากให้แม่นั่งด้วยเหมือนกับเวลาที่สอนพี่

จากที่พูดรู้เรื่อง ก็เริ่มเถียง เริ่มกรี๊ด เหมือนกับน้อง เพราะเวลาที่น้องไม่พอใจ อาละวาดแล้วพ่อแม่สนใจ 

จากที่เป็นเด็กเชื่อฟัง ก็เริ่มดื้อมากขึ้น ยิ่งมีพฤติกรรมที่ไม่ดีก็ยิ่งถูกตำหนิมากขึ้น คุณค่าในตัวเองลดลง ทำให้เขาน้อยใจ คิดว่าพ่อแม่รักพี่น้องมากกว่าตัวเอง พาลจะรู้สึกไม่ดีกับพี่น้อง

จริงๆแล้ว เชื่อว่าทุกท่านรักลูกเท่าๆกัน เพียงแต่คนที่มีปัญหาก็ดูแลมากหน่อย คนที่ไม่มีปัญหาเราก็สบายใจ ชื่นชมในใจแล้วปล่อยผ่านไป ซึ่งลูกไม่รู้ไม่เข้าใจ ดังนั้นจึงอยากให้แสดงออก ถึงความใส่ใจ ให้ความรัก ความสนใจกับลูกคนอื่นๆ ด้วยนะคะ ทำได้หลายอย่างเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นการชมเชยในเวลาที่ลูกมีพฤติกรรมที่ดี เช่น 

• พ่อชอบมากเลยที่ลูกตั้งใจทำการบ้านเองแบบนี้ ดูสิเขียนเป็นระเบียบเชียว 
• แม่ขอบใจลูกมากที่ช่วยสอนการบ้านน้องดีๆ หนูเป็นพี่ที่น่ารักมากเลยจ้ะ
• แม่ภูมิใจที่หนูมีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่ กลับมาถึงก็ทำการบ้านโดยไม่ต้องเรียกเลย เยี่ยมมากจ้ะ

นอกจากนี้ยังสามารถ ให้กำลังใจ กอด ให้เวลาพิเศษกับลูก ให้รางวัล เป็นต้น 

เเต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เพื่อเรียกร้องความสนใจ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ควรบอกความรู้สึกและความต้องการ กับลูกเพราะโดยธรรมชาติแล้วลูกอยากจะทำสิ่งดีๆ ให้พ่อแม่รู้สึกดี รู้สึกภูมิใจในตัวเขานั่นเองค่ะ เช่น แม่จะชอบมากเลย ถ้าลูกนั่งทำการบ้านเองจนเสร็จแบบที่เคยทำ 

• ถ้าลูกหยุดพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจ ให้ชมทันที
• ถ้ายังไม่หยุด ให้เพิกเฉย ไม่ต้องสนใจพฤติกรรมเหล่านั้น 

แล้วพฤติกรรมจะค่อยๆกลับมาดีเหมือนเดิม

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by Tim Bish on Unsplash
NET PaMa