window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
~เข้าใจลูกวัยรุ่น~
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
หากเราลองนึกย้อนไปดูว่าช่วงวัยไหนที่มีสีสันในชีวิตมากที่สุด 
ก็คงไม่พ้น....วัยรุ่น
.
ซึ่งขณะเดียวกัน ตอนนี้เด็กในบ้านของใครหลายคนก็กำลังอยู่ในช่วงสร้างสีสันชีวิตให้ตัวเองและคนดูแลด้วย
.
ก่อนอื่นมาดูกันว่าลูกหลานของท่านเป็น"วัยรุ่น" ช่วงไหนแล้ว 
.
1. วัยรุ่นตอนต้น (10-13 ปี) 
จะต้องการความเป็นอิสระ ความเป็นส่วนตัว เริ่มที่จะสนใจรูปร่างหน้าตัวเองมากขึ้น อยากโดดเด่นเป็นจุดสนใจของเพื่อนเดียวกันเเละต่างเพศ มักจะเปรียบเทียบกับเพื่อนๆ อยากได้อิสระมากขึ้น อยากลองทำอะไรด้วยตัวเองดูบ้าง

ในช่วงนี้ หากผู้ปกครองตำหนิเรื่องพฤติกรรมแปลกๆ เพี้ยนๆ เช่น แต่งหน้า 
เจาะหู ใส่เสื้อผ้าที่ไม่ค่อยเข้ากันในมุมมองของเรา 
ก็อาจจะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งกันได้
.
2. วัยรุ่นตอนกลาง (14-17 ปี)
ช่วงนี้เรียกได้ว่าเป็นความท้าทายของผู้ปกครองหลายๆท่าน เนื่องจากจะเป็นช่วงที่อารมณ์ขึ้นๆลงๆ (หากผู้ปกครองท่านใดที่อยู่ในช่วงวัยทองด้วย ยิ่งมีโอกาสปะทะอารมณ์กันมากขึ้น) มักใช้เวลากับเพื่อนมากขึ้น คุยกับคนในครอบครัวน้อยลง มีความลับมากขึ้น ต้องการการยอมรับจากเพื่อนมากๆ เพื่อนชวนให้ทำอะไรก็ทำ แม้จะไม่ชอบ 
ไม่อยากทำ หรือรู้ว่าไม่ดีก็อาจจะทำ ส่วนหนึ่งเพราะไม่กลัวว่าจะเกิดอันตราย แต่กลัวว่าเพื่อนจะไม่ยอมรับ (ซึ่งหากคบเพื่อนดีก็ดีไป) จนหลายครั้งขาดความเป็นตัวของตัวเอง อะไรๆก็เพื่อนมาก่อน 
เรียกได้ว่าทุ่มเทสุดๆ รวมถึงเริ่มมีแฟนด้วย

ในช่วงนี้ หากผู้ปกครองซักไซร้ไล่เรียง พยายามล้วงความลับ ตามคอมเม้นท์ใน IG, Facebook, Twitter บังคับให้ตอบ ตำหนิต่อหน้าเพื่อน ซักไซร้การไปกับเพื่อนมาก จะยิ่งเป็นตัวจุดชนวนความขัดแย้งเลย
.
3. วัยรุ่นตอนปลาย (18-21 ปี) 
เป็นช่วงเริ่มผ่อนคลายของผู้ปกครอง เพราะวัยนี้จะมีความคิดเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ดังนั้น ไม่ค่อยตามเพื่อนแล้ว ถึงแม้จะเป็นตัวของตัวเองแต่ก็รับฟังคำแนะนำผู้ปกครองมากขึ้น

แล้วสิ่งที่วัยรุ่นต้องการคืออะไร...

1. การให้ความรักเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือขอพื้นที่ส่วนตัวหรืออิสระมากขึ้นอีกหน่อย ในขอบเขตที่ทั้ง
ผู้ปกครองและวัยรุ่น "ตกลงด้วยกัน" เช่น การแต่งตัวไปเที่ยว การกลับบ้านช้า การใช้จ่าย การเรียน การเล่นเกม เป็นต้น และการลงโทษอย่างเหมาะสมเมื่อไม่ทำตามข้อตกลงก็จำเป็นอยู่เช่นกัน

2. ต้องการ "การรับฟัง" วัยนี้อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ค่อนข้างให้ความสนิทกับเพื่อนมากกว่าครอบครัว เวลามีอะไรก็มักจะปรึกษาเพื่อนซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีทักษะแก้ปัญหาที่เหมาะสมก็ได้ แต่สิ่งที่เพื่อนทำคือ "การรับฟัง และเข้าใจ" ดังนั้น เราในฐานะผู้ปกครองจึงต้อง "รับฟัง เพื่อให้เข้าใจ และช่วยแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม" เมื่อวัยรุ่นเปิดปากคุยกับเรา นี่แหละช่วงเวลาทอง รีบรับฟังว่าเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เจอมา และแสดงความเข้าใจเขาด้วย จากนั้นค่อยๆชวนคิดว่าทำอย่างไรได้บ้าง และให้เขาเลือกวิธีแก้ไขที่ทุกฝ่ายน่าจะมีความสุขด้วยกัน

***จำไว้ว่า....อย่าเพิ่งรีบเข้าไปสอน สั่ง บ่น เตือน 
ให้รับฟังก่อน ไม่งั้นเขาอาจรู้สึกว่าถูกซ้ำเติม จะเลิกเล่าให้เราฟัง และหันไปหาเพื่อนแทน แล้วต่อไปก็ไม่อยากมาเล่าให้เราฟังแล้ว เพราะกลัวว่าเราจะบ่น 
ดุด่า เขาอีก

3. ขอกำลังใจ ให้ความเชื่อมั่นในตัวเขา โดยเฉพาะในยามที่เขาไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ซึ่งจะมีเป็นระยะ

4. ขอบรรยากาศในบ้าน ที่อบอุ่น ปลอดภัย และน่าอยู่ คนในบ้านอารมณ์ดี พูดคุยด้วยเหตุผล ใส่ใจในความรู้สึกของกันและกัน

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
NET PaMa