window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ตัวอย่าง Resilience ทักษะการ ‘ลุกขึ้นสู้และปรับตัว’ เมื่อเจอปัญหา จากหนัง Mary Poppins Returns
เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

อ้างอิงจากหนังเพลงครอบครัวแฟนตาซีสุดน่ารัก ที่จริง ๆ แล้วเรื่องราวในนั้น....อาจไม่ได้น่ารักเท่าไหร่ อย่าง “แมรี่ พอปปิ้นส์ รีเทิร์น (Mary Poppins Returns)”

เชื่อว่าหนึ่งหนังเพลงในดวงใจของผู้ใหญ่อย่างเรา รวมถึงเด็ก ๆ ในยุคสมัยนี้ คงหนีไม่พ้นหนังเรื่องราวเกี่ยวกับพี่เลี้ยงสุดเนี๊ยบผู้สรรสร้างความมหัศจรรย์ที่ช่วยเหลือครอบครัว Londoner หนึ่งให้รอดพ้นจากปัญหาชีวิต อย่าง แมรี่ พอปปปิ้นส์ (Mary Poppins) ที่ในเวอร์ชั่นล่าสุด (2018) วอล์ท ดีสนี่ย์ (Walt Disney) ได้ปรับเอามาทำใหม่เป็น Live Action ว่าด้วยเรื่องราวของการที่คุณพี่เลี้ยงคนนี้ต้องกลับมาช่วยเหลือลูกหลานครอบครัว Londoner หรือครอบครัวตระกูลแบ้งค์ (The Banks) เจ้าเดิมอีกครั้ง หลังจากที่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ไมเคิล แบงค์ (Micheal Banks) ลูกชายของจอร์จ แบงค์ (George Banks) ที่ตอนนี้เติบโตกลายเป็นคุณพ่อเลี้ยงลูก 3 คน ต้องเจอกับเหตุการณ์การสูญเสียภรรยาสุดที่รักในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจบ้านเมืองไม่ดีเอามาก ๆ จนทำให้ล่าสุดกำลังจะโดนยึดบ้านภายในไม่กี่วันหากไม่สามารถหาเงินมาจ่ายชดใช้หนี้ที่กู้ยืมมาได้

แม้ว่าเรื่องราวในหนังจะเต็มไปด้วยเพลงอันแสนไพเราะ ความสวยงามของฉาก การเต้นรำอันสวยสดงดงาม รวมไปถึงความรู้สึกอิ่มใจที่เต็มไปด้วยพลังบวกแล้ว แต่หากลองมองในอีกมุม จริง ๆ และความสวยงามและพลังบวกที่ present ออกมาในหนังนั้นถือว่าเป็นหนึ่งตัวอย่างชั้นดีเลยของการนำเสนอ “Resilience” หรือ “ทักษะการลุกขึ้นสู้และปรับตัวเมื่อเจอกับปัญหา” ได้อย่างดีเยี่ยม ที่นอกจากจะสามารถนำไปสอนลูก ๆ สุดที่รักของเราได้แล้วก็ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับพวกเราชาวผู้ปกครองได้เช่นกัน เพราะบางทีก็ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าในวันที่ชาวผู้ปกครองอย่างเราเหนื่อยกับปัญหาชีวิตบางอย่าง มันก็อาจทำให้เรารู้สึกไม่ไหวหรือรู้สึกหาทางออกไม่ได้จนทำให้สุดท้ายแล้ว… พวกเราอาจ desperately need a nanny ได้เหมือนกัน

ซึ่ง Resilience ที่คุณพี่เลี้ยงแมรี่ พอปปิ้นส์ เอามากฝากพวกเรานั้นมีอะไรบ้าง? เราลองไปดูกันเลย!

ลองกลับมาอยู่กับ ความไร้สาระ ดูบ้างเพื่อเปิดประตูความคิดสร้างสรรค์

แม้ว่าการแก้ปัญหาด้วยการใช้ตรรกะและพิจารณาด้วยเหตุผลจะเป็นสิ่งสำคัญ แต่อีกหนึ่งทักษะที่ช่วยให้เราสามารถลุกขึ้นสู้และปรับตัวกับปัญหาได้ นั่นก็ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) นั่นเอง เพราะความคิดสร้างสรรค์อาจช่วยทำให้เราคิดแก้ไขปัญหาได้หลายรูปแบบ รวมถึงกล้าทำสิ่งต่าง ๆ และสร้างความเชื่อมั่นต่อการแก้ปัญหามากขึ้น ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ ส่วนหนึ่งสามารถเกิดขึ้นได้จากการใช้จินตานาการของเรา

เพราะฉะนั้นในฉากเพลง Can you imagine that? ที่พี่เลี้ยงแมรี่ให้เด็ก ๆ ลงไปอาบน้ำแล้วลองจินตนาการถึงสิ่งต่าง ๆ ที่เป็นไปไม่ได้ จริง ๆ แล้วหากมองในมุมของจิตวิทยา อาจเป็นการเปิดประตูให้พวกเรากลับมาใช้สกิลนี้มากขึ้น เพราะบางทีการอยู่ในโลกแห่งจินตนาการที่ไร้ข้อจำกัดเหมือนเวลาเราเป็นเด็ก ลองนั่งคิดถึงสิ่งที่ดูไร้สาระดูบ้าง หรือลองใช้เวลาสักพักเข้าไปดื่มด่ำกับความ “เพ้อฝัน” ของตัวเองดูบ้าง อาจทำให้เราคิดอะไรใหม่ ๆ ได้ก็ได้ แถมมันยังสร้างความสนุกและรอยยิ้มทำให้เราผ่อนคลายความเครียดและได้พักผ่อนอีกด้วย ซึ่งการผ่อนคลายความเครียดและการพักผ่อนก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ควรทำเป็นอย่างมากในช่วงที่เราเจอกับปัญหาเหมือนกัน เพราะการพักและการผ่อนคลายความเครียด ทำให้เรามีแรงกายแรงใจที่สมบูรณ์ ทำให้เรามีพลังไปแก้ไขอุปสรรคในชีวิตต่อได้อย่างไม่พังและมีประสิทธิภาพนั่นเอง

หัด Improvise และ ปรับมุมมอง ต่อการเล่าเรื่องราว (อันแสนเศร้านั้น)

ส่วนใหญ่เวลาเรานิยามคำว่า “ปัญหาชีวิต” หลายคนอาจอธิบายได้ว่ามันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบที่เราไม่สามารถควบคุมได้ เราเลยมักจะ suffer กับปัญหานั้นเพราะเราไม่สามารถควบคุมให้มันเป็นในอย่างที่เราต้องการได้ในตอนต้น การหัด Improvise หรือการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เป็นอีกสกิลหนึ่งที่ช่วยสร้างความยืดหยุ่นต่อจิตใจ ทำให้เราค่อย ๆ หาทางในการอยู่ร่วมกับปัญหาต่อไปได้อย่างไม่เจ็บปวดจากความคาดหวังของเรา และนอกจากนี้การลองหามุมมองใหม่ ๆ ในการเล่าเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้น ก็เป็นอีกหนึ่งสกิลที่ช่วยให้เราปรับตัวกับปัญหาได้เช่นเดียวกัน เพราะสุดท้ายปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นมันเกิดขึ้นจริงและจำเป็นต้องอยู่ในความทรงจำของเราเสมอ แต่หากเราหาวิธีการอยู่กับมันได้อย่างไม่ทรมานด้วยการลองหาวิธีการ “เล่าเรื่องใหม่” หรือปรับมุมมองของเราที่มีต่อเรื่องราวนั้น ๆ ความทรงจำนั้นก็อาจไม่ได้สร้างความเจ็บปวดต่อเรามากนัก ทำให้เราสามารถเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไปได้

ฉากที่แมรี่ได้ไปเจอท็อปซี่ ลูกพี่ลูกน้องที่เปิดร้านซ่อมของที่ต้อง suffer กับทุก ๆ วันพุธสัปดาห์ที่สองเวลา 9.00-12.00 ของเดือนเพราะร้านจะพลิกกลับหัวจากพื้นเป็นเพดานและเพดานกลายเป็นพื้น ทำให้ไม่สามารถรับซ่อมของได้เพราะทุกอย่างไม่เหมือนเดิม เลยเป็นอีกหนึ่งฉากตัวอย่างของการใช้สกิล improvise และ ปรับมุมมอง เพราะหลังจากที่แมรี่ได้แนะนำท็อปซี่ให้ลองพลิกตัวเองกลับหัวไปตามห้องที่เปลี่ยนแปลงไป นางก็เริ่มรู้สึกดีขึ้นเพราะพอทำอย่างนั้นก็ทำให้เห็นว่าจริง ๆ แล้วทุกอย่างก็ยังเหมือนเดิมได้ สุดท้ายแล้วนางเลยยอมรับซ่อมของที่แมรี่นำมาอย่างมีความสุข

จุดไฟในตัวเองเพื่อลุกออกมาแก้ปัญหา (แทนที่จะนั่งจมกับปัญหาอย่างหมดหวัง)

เมื่อเราจมอยู่กับปัญหา เรามักจะหมกมุ่นอยู่กับความรู้สึกเชิงลบและการคิดหาทางแก้ไขปัญหาอยู่เรื่อย ๆ จนสุดท้ายแล้วกลายเป็นรู้สึก “lost” หรือรู้สึกหลงทางกับตัวเอง ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อดี ซึ่งพอเกิดสภาวะนี้แล้วบางคนอาจรู้สึกหมดหวังต่อการแก้ปัญหา ทำให้จมอยู่กับความทุกข์จากปัญหาต่อไปอีก

การจุดไฟในตัวเองเพื่อสร้างความเชื่อมั่น แม้จะเป็นอะไรที่ทำยากเสียเหลือเกินในช่วงเวลาที่อะไร ๆ ก็ดูจะมืดมัวไปหมด แต่สุดท้ายแล้ว อย่าลืมว่ามีสิทธิเลือกต่อตัวเองเสมอว่าเราจะเลือก “จมอยู่กับความรู้สึกหาทางออกไม่ได้” หรือจะ “จุดไฟสร้างพลังให้ตัวเองเพื่อลุกออกไปแก้ปัญหาทำให้ชีวิตเราดีขึ้น” หรือหากเราออกจากสถานการณ์นั้นไม่ได้จริง ๆ การลุกขึ้นขอความช่วยเหลือจากใครสักคน ก็อาจเป็นสิ่งที่สามารถทำได้เพื่อช่วยในการแก้ไขปัญหาเช่นกัน

เหมือนกับฉากการร้องเพลง Triple-Little-Light-Fantastic ของแจ็ค ช่างซ่อมไฟสุดน่ารักกับเด็ก ๆ ของไมเคิลและแมรี่ที่เกิดขึ้นหลังจากที่เด็ก ๆ หลงทางกลับบ้านเพราะรู้สึกผิดมากจากพยายามเข้าไปช่วยคุณพ่อเรื่องโดนยึดบ้านแต่ไม่สำเร็จและโดนคุณพ่อว่ากลับมา โดยแจ็คได้บอกกับพวกเขาว่าหากรู้สึก lost สิ่งหนึ่งที่เขาแนะนำได้นั่นก็คือการลุกขึ้นสู้กับปัญหาและขอความช่วยเหลือจากเขาเพื่อพากลับบ้าน เพราะอย่างน้อยมันก็คงดีกว่าการที่เรานั่งเศร้าอยู่ตรงนั้นและยอมให้ปัญหาค่อย ๆ กลืนกินเราเข้าไป พยายามกลับมาพึ่งตัวเอง กลับมา be positive และกลับมาจุดไฟให้สว่างและโชติช่วงในตัวเอง เพื่ออย่างน้อยเราจะได้ใช้มันนำทางให้ออกจากมรสุมปัญหานั้นได้

และนี่ก็เป็นตัวอย่างของ Resilience หรือทักษะการลุกขึ้นสู้และปรับตัวเมื่อเจอกับปัญหาที่แมรี่ พอปปิ้นส์ ได้มอบให้กับเรา ชาวผู้ปกครองสามารถนำไปปรับใช้และสอนลูก ๆ ของเราต่อได้เลยนะ และหากใครยังคงอยากรู้ว่าแล้วเราควรจะปลูกฝัง Resilience อะไรให้กับลูกอีกบ้าง? และอยากรู้วิธีว่าเราจะสอนลูกให้มี Resilience เหล่านี้อย่างไร? สามารถเข้ามาเรียนรู้กันต่อได้ใน www.netpama.com ได้เลยนะ



บทความโดย คุณนายข้าวกล่อง

NET PaMa