window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่รู้จักเมตตาตัวเอง
เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว

#เลี้ยงลูกให้เป็นเด็กที่รู้จักเมตตาตัวเอง

#ในวันที่อะไรๆไม่เป็นไปอย่างใจหวัง #ลูกจะยังใจดีกับตัวเองได้

 

ในปัจจุบันสังคมเราให้คุณค่ากับคนที่ประสบความสำเร็จมาก ๆ ไม่ว่าจะเป็นคนที่สอบได้โรงเรียนดัง สอบติดคณะยอดฮิต ได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำ  หรือแม้แต่คนที่มีหน้าที่การงานที่ดี มีเงินเดือนสูง มีธุรกิจตั้งแต่อายุน้อย บุคคลเหล่านี้ล้วนได้รับการชื่มชม การยอมรับจากสังคม และนับว่าเป็นต้นแบบที่ทำให้เด็กหลาย ๆ  คนได้รับแรงบันดาลใจในการพัฒนาตนเอง พากเพียร พยายาม มุ่งมั่น แข่งขัน เพื่อให้ตนเองเป็นคนที่ประสบความสำเร็จแบบที่สังคมยอมรับและให้คุณค่า

 .

แต่การต้องพยายามเป็นคนเก่ง เป็นคนที่ประสบความสำเร็จในสายตาใคร ๆ ก็เป็นสิ่งที่กดดันไม่น้อยสำหรับเด็กคนนึง และสิ่งที่จะลืมคิดไปไม่ได้เลยนั่นก็คือ #ไม่ใช่ทุกคนจะประสบความสำเร็จ #ความผิดพลาดล้มเหลวเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้

.

ในวันที่ลูกของเราต้องประสบพบเจอกับความผิดพลาดหรือความล้มเหลว เขาอาจจะรู้สึกว่าตนเองเป็นคนที่ไม่ประสบความสำเร็จ มองว่าตนเองไร้ความสามารถ ผิดหวังในตัวเอง ตำหนิและโทษตัวเอง และอาจจะรู้สึกว่าตนเองไม่ถูกยอมรับในสายตาผู้อื่น

.

วันนี้ Net PAMA จึงอยากจะชวนพ่อแม่มาทำความรู้จักวิธีการดี ๆ ที่จะช่วยให้ลูกของเราเป็นเด็กที่รู้จักเมตตาต่อตัวเอง (self - compassion) เมื่อถึงวันที่อะไร ๆ ไม่เป็นอย่างที่ใจหวัง เขาก็จะยังใจดีกับตัวเองได้

.

การเมตตาต่อตัวเอง (self - compassion) คืออะไร

การเมตตาต่อตัวเองคือ #การเห็นอกเห็นใจตัวเอง ในแบบเดียวกันกับที่เราเห็นอกเห็นใจผู้อื่น แม้ว่าเราจะต้องประสบกับความผิดหวัง ก็ยังสามารถยอมรับตัวเองได้ ยังปฏิบัติกับตัวเองอย่างอบอุ่น อ่อนโยน ไม่ละเลยความรู้สึกตัวเอง และยอมรับในสัจธรรมชีวิตที่ว่า “ ความยากลำบาก ความท้าทายหรือแม้แต่ความผิดหวัง ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนจะต้องพบเจอและฝ่าฟันมันไปให้ได้ ”

.

ทำไมพ่อแม่ต้องสอนให้ลูกรู้จักเมตตาตัวเอง

ความเมตตาต่อตัวเองจะช่วยให้ลูกของเรารับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก ที่เขาต้องเจอกับความล้มเหลว พ่ายแพ้หรือผิดหวังได้ โดยที่ยังมีสุขภาพจิตที่ดี 

.

ความเมตตาต่อตัวเองจะช่วยให้ลูกรู้สึกโอเคเมื่อต้องผิดหวัง และรับมือกับความผิดหวังในเชิงบวก


เมื่อเขาต้องพ่ายแพ้ในการแข่งขัน เขาจะบอกกับตัวเองได้ว่า…

“ หนูรู้สึกผิดหวัง แต่หนูดีใจที่ได้พยายามทำให้ดีที่สุด ”

“ ครั้งหน้าหนูจะลองพยายามอีกครั้ง ”

.

เด็กที่เมตตาตัวเองเป็น มีคุณลักษณะ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

 

1.ใจดีกับตัวเอง (self - kindness) เหมือนกับที่ใจดีต่อคนอื่น ๆ สามารถยอมรับทั้งจุดดีและจุดบกพร่องของตัวเองได้อย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ตำหนิ หรือโทษตัวเอง ในวันที่ต้องผิดหวัง

เด็กที่ใจดีกับตัวเอง เมื่อเขามีความทุกข์ เขาจะดูแลจิตใจตัวเอง ปลอบโยนตัวเอง ให้กำลังใจและให้อภัยตัวเองได้ ไม่ต่างไปจากตอนที่เขาให้กำลังใจและปลอบโยนคนอื่นในยามที่คนอื่นมีความทุกข์

.

2.เข้าใจความเป็นมนุษย์  (common humanity) ตระหนักรู้ว่าในโลกนี้ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีข้อบกพร่องและสามารถทำผิดพลาดได้ ความผิดหวังเป็นสิ่งที่ทุกคนประสบพบเจอได้ตลอดเส้นทางชีวิต ความล้มเหลวก็เป็นเพียงบทเรียนบทหนึ่ง ล้มเหลวหนึ่งครั้งใช่ว่าชีวิตจะล้มเหลวตลอดไป

.

3.มีสติอยู่กับปัจจุบัน (mindfulness) หมายถึงการรับรู้และเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขณะ เมื่อเขามีอารมณ์ทางลบ เช่น โกรธ ผิดหวัง เสียใจ แทนที่จะหลีกเลี่ยงความรู้สึก ต่อต้านอารมณ์ที่เกิดขึ้นภายในใจ เขาจะยอมรับและอยู่กับอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม ไม่เอาอารมณ์ทางลบนั้นมาตัดสินตัวเองว่าเป็นคนไม่ดี จนต้องตำหนิหรือลงโทษตัวเอง


“เพราะหนูทำผิดพลาด สมควรแล้วที่จะโดนทุกคนเกลียด”

“เพราะหนูล้มเหลว หนูจึงไม่สมควรที่จะมีความสุข” 


เด็กที่มีสติอยู่กับปัจจุบันเขาจะรับมือกับความผิดหวังได้โดยไม่สูญเสียคุณค่าในตนเอง (self - essteem) 

หากต้องผิดหวังล้มเหลวในเรื่องใดก็ตาม เขาจะบอกกับตัวเองได้ว่า…


“งานที่ล้มเหลว ไม่ใช่ตัวเขาที่ล้มเหลว” 

.

เมื่อลูกของเราเรียนรู้ที่จะเมตตาต่อตัวเอง เขาจะ…


#มีความสุขมากขึ้น

#มีความมั่นใจและความภาคภูมิใจในตนเองมากขึ้น

#มีแนวโน้มที่จะกล้าทำอะไรใหม่ๆ

#ไม่ยอมแพ้กับความผิดพลาด

#มีความยืดหยุ่น

#ล้มแล้วลุกได้ 

.

เด็กที่มีความเมตตาต่อตัวเองมักจะเข้ากับเพื่อนได้ดี ใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น และมีความเสี่ยงน้อยมากที่จะปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า วิตกกังวล ฯลฯ

.


#ความเมตตาต่อตัวเองเริ่มต้นจากความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เข้มแข็ง

ความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ดี การได้รับการเอาใจใส่ การสนับสนุนจากครอบครัว จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นปลอดภัย ส่งผลให้ลูกมีความมั่นใจ กล้าที่จะทำอะไรใหม่ ๆ ให้โอกาสตัวเองได้ลองผิดลองถูก ไม่กลัวที่จะเผชิญกับความท้าทายในชีวิต และลูกจะใจดีกับตัวเองได้ ในวันที่สิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง เพราะลูกรู้ดีว่า #พ่อแม่จะไม่ตัดสินและไม่ตำหนิเขา

.

แล้วพ่อแม่จะสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีที่จะช่วยให้ลูกมีความเมตตาต่อตัวเองได้อย่างไรบ้าง เรามาดูกันเลยค่ะ


- สร้างเวลาคุณภาพ
(quality time) หาเวลาเล่นกับลูก สนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจ หรือมีส่วนร่วมในงานอดิเรกของลูก เช่น เล่นต่อเลโก้ ต่อจิ๊กซอว์ เตะบอล อ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกมด้วยกัน ฯลฯ การมีเวลาคุณภาพกับลูก เป็นการส่งสารง่าย ๆ ให้ลูกรับรู้ว่า #ลูกคือสิ่งสำคัญสำหรับพ่อแม่

- ทำให้ลูกรู้ว่าการเกิดความรู้สึกทางลบเป็นเรื่องปกติ ความรู้สึกเศร้า ผิดหวัง เสียใจ คับข้องใจ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับทุกคน และการมีความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเรื่องปกติทั่วไป หากวันหนึ่งลูกรู้สึกผิดหวัง ร้องไห้เสียใจกับผลสอบของตัวเอง พ่อแม่อาจจะบอกกับเขาว่า…

“แม่เห็นว่าหนูผิดหวังมากกับผลสอบ แต่ไม่เป็นไรนะ สิ่งต่าง ๆ มันก็ไม่ได้เป็นแบบที่เราคาดหวังเสมอไป แค่เห็นลูกตั้งใจอ่านหนังสือ แม่ก็ภูมิใจในตัวหนูมาก ๆ แล้ว”

- พ่อแม่ต้องให้อภัยลูกก่อน หากในวันนึงเกิดเหตุการณ์ที่ลูกทำให้เราโกรธ ผิดหวัง เสียใจ พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีของการรู้จักให้อภัย ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น ลูกทำแจกันใบโปรดของแม่หล่นแตก คุณแม่สามารถบอกกับลูกได้ว่า…

“ แม่เสียใจที่แจกันใบโปรดของแม่แตก แต่ไม่เป็นไรนะลูก อุบัติเหตุมันเกิดขึ้นได้ แม่รู้ว่าหนูไม่ได้ตั้งใจ ”  


- ชื่นชมเวลาที่เห็นลูกแสดงความเมตตาต่อตัวเอง ในวันหนึ่งที่ลูกล้มแล้วลุกขึ้นมาได้ แล้วพ่อแม่บอกกับเขาว่า…


“พ่อกับแม่รู้ว่าลูกเสียใจกับความผิดพลาด แต่พ่อแม่รู้สึกภูมิใจมากนะ ที่เห็นลูกพยายามทำมันอีกครั้ง” 

ได้ยินแบบนี้ ลูกเองก็จะอยาก ‘พยายามอีกครั้ง’ ในเรื่องอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน เพราะสำหรับลูกแล้วหากพ่อแม่มองเห็น ให้คุณค่า และชื่นชม ในช่วงเวลาที่เขาให้อภัยตัวเอง ใจดีกับตัวเอง เขาก็จะเมตตาตัวเองเก่งยิ่งขึ้น และจะเก่งยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อต้องเจอกับบทเรียนใหม่ ๆ ในชีวิต

.

‘เมื่อลูกต้องเผชิญกับความผิดหวัง เขาจะเรียนรู้วิธีเมตตาต่อตัวเอง จากสิ่งที่พ่อแม่พูดและกระทำกับเขา’

พ่อแม่จึงมีส่วนสำคัญในการช่วยให้ลูกเรียนรู้ว่า การทำผิดพลาดเป็นเรื่องปกติ เราต้องให้อภัยตัวเอง และพยายามทำให้ดีขึ้นในครั้งต่อไป 

.

และสุดท้ายนี้ มีประโยคนึงที่อยากจะฝากถึงพ่อแม่ทุกท่านที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่..

“คุณพ่อคุณแม่เอง ก็อย่าลืมเมตตาตัวเองกันด้วยนะคะ”

Net PAMA ขอเป็นส่วนหนึ่งในความสัมพันธ์ที่ดีของทุกครอบครัว ♥️

หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก หรือศึกษาทักษะพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนในครอบครัว สามารถเข้ามาศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com เรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่านำไปใช้จริงได้แน่นอนค่ะ

.

บทความโดย หมอก

ที่มา: https://raisingchildren.net.au/school-age/health-daily-care/mental-health/self-compassion-young-children

https://www.madelinepolonia.com/blog/3-elements-of-self-compassion

NET PaMa