window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
รดน้ำต้นไม้ ดีกว่ารดน้ำวัชพืชในใจลูก (หลักการให้รางวัลและทำโทษ)
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

รดน้ำต้นไม้ดีกว่ารดน้ำวัชพืช


ในทางจิตวิทยาเกี่ยวกับเรื่องพฤติกรรม มีหลักการในการสร้างพฤติกรรมเชิงบวกและลดพฤติกรรมเชิงลบผ่านกระบวนการให้รางวัลและลงโทษ ทฤษฎีนี้มีชื่อว่า ‘Operant Conditioning’ โดยคุณ B.F.Skinner


ทำดีได้รางวัลทำไม่ดีถูกลงโทษ


ทำให้เกิดการเรียนรู้ว่าพฤติกรรมแบบใดที่ทำแล้วจะได้สิ่งที่ต้องการหรือพฤติกรรมใดทำแล้วจะถูกทำโทษ เช่น เด็กๆช่วยผู้ปกครองทำงานบ้าน ผู้ปกครองให้รางวัลเป็นคำชม ในทางกลับกันหากไม่ทำงานบ้านก็จะถูกลงโทษ เช่น ถูกดุ หรือถูกตี


แต่การลงโทษที่รุนแรงเกินไปนั้นส่งผลเสียมากกว่าผลดี ผลเสียอันดับแรก คือ เสียความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เพราะเด็กๆคงไม่ชอบแน่ๆหากถูกลงโทษรุนแรงไม่ว่าจะผ่านคำพูดหรือรุนแรงกว่านั้นคือ การทำร้ายร่างกาย


อันดับต่อมาคือ เสียใจ ทั้งผู้ปกครองก็อาจจะรู้สึกผิดที่ทำโทษรุนแรงเกินไป ทั้งเด็กเองอาจจะรู้สึกกลัวท่าทีของผู้ปกครองจนกลายเป็นไม่กล้าพูดคุย ไม่กล้าสื่อสารหรือเด็กบางคนก็ต่อต้านด้วยความรุนแรงไปเลย เช่น ถูกตีมาก็ตีกลับ ถูกดุเสียงดังมาก็เสียงดังกลับ


แล้วถ้าไม่ลงโทษล่ะ ผู้ปกครองควรทำอย่างไรดี?

ก็ทำตรงข้ามกับให้รางวัล คือ ไม่ให้รางวัลนั่นเอง


การไม่ให้รางวัลมีได้ตั้งแต่ การเพิกเฉยและการวางเงื่อนไข ยกตัวอย่างสถานการณ์คลาสสิค

หากเด็กร้องไห้งอแงต้องการเล่นโทรศัพท์


วิธีการที่เด็กจะใช้คือ ร้องไห้เพื่อสื่อสารว่าเขาอยากเล่น เมื่อไม่ได้รับการตอบสนองก็ต้องเพิ่มระดับการสื่อสาร เช่น ร้องดังขึ้นและแรงขึ้น


ณ จุดนี้ผู้ปกครองต้องรดน้ำให้ถูกที่ หากพ่อแม่ตอบสนองพฤติกรรมร้องไห้งอแงด้วยการให้เล่นโทรศัพท์ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กต้องการ ก็จะกลายเป็น ‘การรดน้ำวัชพืช’ เจ้าวัชพืชคือ อารมณ์และการสื่อสารที่ไม่เหมาะสมของเด็กก็จะงอกเงยสูงขึ้นเรื่อยๆ 


แต่ในทางกลับกัน หากผู้ปกครองตอบสนองด้วยการรับรู้อารมณ์โมโหของเด็กโดยการเข้าไปพูดคุยปลอบให้ใจเย็น บอกเด็กว่าผู้ปกครองรู้ว่าเขาโกรธมากแค่ไหนกับเรื่องนี้แต่การจะเล่นนั้นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่ต้องตกลงกันไว้ก่อนและที่สำคัญต้องชื่นชมทันทีหากเด็กหยุดร้องไห้ได้ นั่นคือ ‘การรดน้ำต้นไม้’


การปรับพฤติกรรมแบบนี้เด็กจะเรียนรู้ว่า แม้ว่าเขาจะโกรธ โมโหจนคุมอารมณ์ไม่ได้แค่ไหน ผู้ปกครองก็ยังรักและยอมรับเด็กและเด็กก็ยังจะได้เรียนรู้ไปพร้อมๆกันว่า สิ่งที่เขาต้องการจะไม่มีทางได้มาด้วยวิธีรุนแรงหรือไม่เหมาะสมโดยเด็ดขาด


และหากผู้ปกครองปรับพฤติกรรมด้วยวิธีนี้ ผลที่จะได้รับตามมาคือความยั่งยืนของพฤติกรรมนั้นๆค่ะ เด็กๆจะได้เรียนรู้ด้วยเหตุผลและเลือกที่จะตอบสนองต่อความต้องการของตัวเองอย่างถูกต้อง ไม่ใช่ตอบสนองด้วยความกลัวว่าจะถูกผู้ปกครองทำโทษ ซึ่งไม่ยั่งยืน


น้าหมอเล่าแล้ว

ถึงตาคุณพ่อคุณแม่เลือกแล้วค่าว่าจะรดน้ำต้นไม้หรือรดน้ำวัชพืชให้เติบโตขึ้นในใจของเด็กๆค่า


บทความโดย น้าหมอใบเฟิร์นเอง
NET PaMa