window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ผลกระทบจากประสบการณ์เลวร้ายในวัยเด็ก 
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว
แม้ว่าคนส่วนใหญ่จะบอกว่า ช่วงเวลาตอนที่ยังเป็นเด็ก ถือเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุด แต่สำหรับเด็กบางคน ช่วงเวลาสมัยเด็กก็เป็นประสบการณ์ที่เลวร้าย  
 .
เด็กบางคนถูกทำโทษรุนแรง เช่น ถูกตีรุนแรงและบ่อยครั้ง การใช้คำพูดรุนแรง ประชดประชัน ตีตรา  
การกระทำต่อเด็กที่สร้างความกลัว ทำให้เด็กรู้สึกไม่มั่นคงและปลอดภัยทางจิตใจ เช่น การทอดทิ้งทางร่างกายและอารมณ์ความรู้สึก การที่เด็กต้องอยู่ในบ้านที่ทะเลาะเบาะแว้งใช้ความรุนแรง การถูกล่วงละเมิดทางเพศ  
สิ่งต่างๆเหล่านี้สร้างผลกระทบ กลายเป็นบาดแผลทางกายและใจของเด็กคนหนึ่ง ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตา 
.
ประสบการณ์ความทรงจำที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจในวัยเด็ก หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า Adverse childhood experiences (ACE) ที่รุนแรงและเกิดในเวลานานต่อเนื่อง จะทำให้เกิด Toxic stress response คือปฏิกิริยาสารพิษที่ตอบสนองต่อความเครียด ซึ่งจะส่งผลถึงการใช้ชีวิตต่อมา จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ 
 .
มีผลกระทบทั้งในเรื่องของสุขภาพกายและใจ 
พบว่าเด็กที่มีประสบการณ์ร้ายๆในวัยเด็กเล็ก จะมีปัญหาการเรียนรู้ ความจำไม่ดี มีปัญหาการเรียน (เพราะความเครียดส่งผลต่อการเจริญพัฒนาของเซลล์ประสาท) 
.
เด็กจะเติบโตมาเป็นคนที่มีแนวโน้มไม่พึงพอใจกับชีวิต เป็นคนที่ทุกข์ง่าย มีความเครียดสูง มีปัญหาในการควบคุมอารมณ์ มีความอดทนต่ำเมื่อเผชิญกับความเครียดหรืออุปสรรค เด็กอาจจะแสดงออกด้วยความก้าวร้าว ต่อต้าน ทำผิดกฎระเบียบ หรือวิตกกังวล ซึมเศร้า บางคนใช้ยาเสพติดเพื่อบรรเทาความทุกข์ในใจ 
 .
นอกจากผลกระทบทางจิตใจ พบว่าผู้ใหญ่ที่มีอาการเจ็บป่วยต่างๆทางร่างกายตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคตับ โรคปอด โรคความดันโลหิตสูง เมื่อซักประวัติไปในอดีตพบว่าคนไข้มักมีประวัติที่มีประสบการณ์ร้ายๆในวัยเด็ก และเรื่องราวนั้นยังเป็นแผลในใจมาจนปัจจุบัน 

คงคล้ายๆกับเมื่อจิตใจเจ็บป่วย ร่างกายก็จะมีผลกระทบตามมา กายและใจเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้ 
และคนเหล่านี้ที่มีประสบการณ์ร้ายๆในวัยเด็ก ก็มักจะมีอายุขัยที่สั้นกว่าคนทั่วไปราวหลายปี  

ส่วนจะแก้ไขอย่างไรบ้าง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากบาดแผล ตรงนี้ไม่ง่ายแต่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ หากผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ครูบาอาจารย์ สามารถปกป้องเด็กจากเรื่องเลวร้าย หรือ อย่างน้อยก็อย่าเป็นคนที่สร้างบาดแผลทางใจให้กับเด็ก ก็คงจะดี
.
ซึ่งหลายครั้งก็ไม่ง่าย เพราะผู้ใหญ่เองก็เป็นคนที่มีบาดแผลมาก่อน และก็เผลอส่งผ่านความเจ็บปวดของตัวเองไปให้เด็กๆ 
โดยไม่รู้ตัว
.
บางครั้งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นก็เป็นบาดแผลร้าวลึกในใจที่ยากจะเยียวยาด้วยตัวเอง เมื่อเป็นแผลที่มองไม่เห็น เพราะอยู่ในใจ บางครั้งแผลนั้นจึงถูกเก็บซ่อนไว้ ไม่ได้รับการเยียวยา กลายเป็นผลกระทบเรื้อรังรุนแรงกัดกินชีวิตทั้งร่างกายและจิตใจของคนๆหนึ่งไปจนสิ้นอายุขัย
.
จริงๆแล้ว การยอมรับจะทำให้ก้าวข้ามความเจ็บปวดของบาดแผลไปได้ ถ้าจัดการด้วยตัวเองไม่ได้จริงๆ การหาตัวช่วย เช่น การไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยา เพื่อการดูแลช่วยเหลือที่เฉพาะเจาะจงก็อาจจะทำให้อะไรๆดีขึ้นไม่มากก็น้อย
.
อย่างน้อยเมื่อใจเข้มแข็งเพียงพอ ก็คงจะทำให้ใช้ชีวิตต่อไปได้ด้วยความเข้าใจตัวเองมากขึ้นพร้อมที่จะให้โอกาสตัวเองในเส้นทางชีวิตข้างหน้าต่อไป
.
เขียนโดย พญ.เบญจพร ตันตสูติ
ภาพประกอบโดย ณรัตน์ สร้อยสังวาลย์
NET PaMa