window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
คุยกับลูกอย่างไรเมื่อตัดสินใจแยกทาง
เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

คุยกับลูกอย่างไรเมื่อตัดสินใจแยกทาง

การตัดสินใจแยกทางคือจุดสิ้นสุดของบทบาทชีวิตคู่ แต่บทบาทของการเป็นพ่อแม่ยังคงดำเนินต่อไป 


การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องแปลกในสังคมไทยปัจจุบันและดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริงเมื่ออัตราการหย่าร้างของประเทศไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้นจาก อัตราการหย่าร้างต่อการจดทะเบียนอยู่ที่ 2 เปอร์เซ็นต์ในปี 2510 สู่ 35 เปอร์เซ็นต์ในปี 2560 หรือในจำนวนคนจดทะเทียน 100 คนจะมีหย่าร้าง 35 คน 


แต่การหย่าร้างไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่แค่เซ็นเอกสารแล้วจบไปแต่มีทั้งขั้นตอนการตัดสินใจ การแบ่งหน้าที่ในการดูแลลูก การหาที่อยู่อาศัยใหม่ เรื่องเงิน รวมถึงการต้องปรับตัวเข้ากับโครงสร้างของครอบครัวแบบใหม่หลังจากหย่าร้างกันเรียบร้อยแล้ว


ผศ. พญ. ธิดารัตน์ ปุรณะชัยคีรี ได้อธิบายไว้ใน Net PAMA Live : คุยกับลูกอย่างไรเมื่อพ่อแม่ตัดสินใจแยกทาง ว่าไม่ใช่แค่กับผู้ใหญ่เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากการหย่าร้าง แต่ในเด็กเองก็สามารถรับผัสถึงความเปลี่ยนไปได้เหมือนกัน แม้เด็กจะเล็กมากก็ตาม


การหย่าร้างส่งผลกระทบต่อเด็กในแต่ละช่วงวัยแตกต่างกัน


ช่วง 0-3 ปี

สิ่งสำคัญที่ควรทำความเข้าใจคือ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในช่วงวัยไหน เด็กสามารถรับรู้ได้ถึงบรรยากาศความตึงเครียดที่เกิดขึ้นได้ ผ่านน้ำเสียงของพ่อแม่ การเล่น การอุ้ม ท่าทีต่าง ๆ ของผู้ใหญ่แม้ว่าเด็กจะยังไม่สามารถรับรู้ถึงภาษาได้ก็ตาม ในช่วงวัยนี้ผลกระทบจากการหย่าร้างอาจทำให้เด็กมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย ร้องไห้บ่อยขึ้น ติดผู้ใหญ่มากขึ้น นอนเองไม่ได้ หรือมีพฤติกรรมถดถอย เช่น กลับมาฉี่ราดหรือไม่สามารถนอนคนเดียวได้


วัยอนุบาล 

ในวัยนี้เด็กสามารถรับรู้ได้ว่าพ่อแม่นั้นแยกทางกัน แต่อาจจะยังไม่สามารถเข้าใจว่าเหตุผลของการหย่าร้างนั้นคืออะไร อาจทำให้เด็กคิดไปเองว่าเป็นเพราะเขาเองหรือเปล่าที่ทำให้พ่อแม่แยกทางกัน 

เด็กอาจมีพฤติกรรมถดถอยคล้ายกับเด็กที่พ่อแม่แยกทางกันในช่วง 0-3 ขวบ


วัยประถม

ประถมต้น: เด็กจะเริ่มเข้าใจสาเหตุของการหย่าร้างว่าไม่ได้เป็นเพราะตัวเองแล้ว แต่ยังคงมีความหวังว่าพ่อแม่จะสามารถกลับมาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิมได้อีก

ประถมปลาย: อาจมีความรู้สึกผิดหรืออึดอัดเมื่อต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง กังวลว่าหากพูดอะไรไปแล้วจะทำให้อีกฝ่ายเสียใจหรือป่าว


วัยมัธยม

เด็กในวัยนี้จะเข้าใจแล้วว่าหย่าร้างหมายถึงอะไร เหตุผลคืออะไร และเข้าใจว่าพ่อแม่คงไม่สามารถกลับมาอยู่ด้วยกันได้แล้ว แต่การเข้าใจไม่ใช่การยอมรับได้ เด็กบางคนอาจยังปฎิเสธที่จะยอมรับ มีความกังวลในอนาคต และอาจเกิดความรู้สึกโกรธทั้งพ่อและแม่ที่ทำให้เขาต้องมาเจอสถานการณ์แบบนี้ พฤติกรรมที่เห็นได้ในเด็กวัยนี้คือก้าวร้าว ต่อต้าน เศร้า วิตกกังวล ผลการเรียนตกลงหรืออาจถึงขั้นใช้สารเสพติด เด็กบางคนอาจแสดงออกเรื่องอารมณ์ผ่านอาการทางกายเช่น ปวดท้อง คลื่นไส้ กล้ามเนื้อตึง


แต่การหย่าร้างใช่ว่าจะส่งผลกระทบที่แย่กับเด็กเสมอไป หากพ่อแม่มีการสื่อสารกัน มีความมั่นคงทางอารมณ์ จะส่งผลให้เด็กสามารถปรับตัวได้


แล้วเราควรหรือไม่ควรสื่อสารเรื่องอะไรกับลูก?


สื่งที่ควรสื่อสารให้ลูกรับรู้


1. เริ่มจากจัดสภาพแวดล้อม
เลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการสื่อสารกับลูก 

เช่น ช่วงเวลาที่สงบ เด็กรู้สึกปลอดภัยที่จะถามหรือเล่ามุมมองของเขา

อาจเป็นตอนเย็นหรือก่อนนอน แต่ต้องเป็นช่วงเวลาที่พ่อแม่ว่างที่จะสื่อสารพร้อมกันและมีเวลาอธิบาย นั่งคุยด้วยกันกับลูกเพื่อไม่ให้ลูกเกิดความสับสนในการพูดคุยกับแต่ละฝ่าย และต้องไม่ลืมเปิดโอกาสให้เขาถามและบอกความรู้สึกของตนเอง (สามารถเรียนรู้ปัจจัยที่สำคัญในการพูดคุยหรือปรับพฤติกรรมเด็กได้ที่ บทที่ 1 ปัจจัยพื้นฐานในการปรับพฤติกรรมเด็ก ใน คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า)


2. สื่อสารให้ชัดเจน
บอกให้ชัดเจนว่าพ่อแม่พยามยามแก้ไขความสัมพันธ์นี้มาแล้วแต่ไม่สำเร็จ ทำให้พ่อแม่เลือกที่จะตัดสินใจแยกกัน 

(การสื่อสารกับลูกให้ราบรื่นและถูกต้องจำเป็นต้องเข้าใจทักษะพื้นฐานของการสื่อสาร สามารถเรียนได้ที่ บทที่ 2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร ใน คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า)


3. เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นความผิดของเขา ให้เขารับรู้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะตัวเขา พูดตามความเป็นจริงแต่ต้องไม่ลืมแสดงออกถึงความห่วงใยว่าพ่อแม่รับรู้ว่ามันอาจส่งผลกระทบกับเขา ขอโทษที่ต้องทำให้เขารู้สึกเจ็บปวดหรือเสียใจ  (สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคนิคการสะท้อนอารมณ์ได้ที่ บทที่ 2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร ใน คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า)

4. พ่อกับแม่ยังคงรักเขาและยังเป็นพ่อแม่ของเขาเสมอ ยืนยันให้เขามั่นใจว่าความรักของพ่อแม่ที่มี ให้เขาไม่มีทางเปลี่ยนไป และเขาไม่จำเป็นต้องเลือกฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เขาสามารถเลือกรักทั้งพ่อและแม่ไปพร้อม ๆ กันได้ สามารถเจอแม่หรือพ่อได้เหมือนเดิม

สิ่งที่ไม่ควรสื่อสารให้ลูกรับรู้


1. ไม่ควรพูดว่าสาเหตุของการหย่าร้างเป็นเพราะฝ่ายใด
การกล่าวโทษอีกฝ่าย เพราะพ่อไปมีคนอื่น หรือนอกใจ จะทำให้เด็กรับรู้ว่าอีกฝ่ายเป็นคนผิดและเกิดความรู้สึกไม่ดีกับอีกฝ่ายได้

2. ไม่แสดงคำพูดหรือท่าทางที่ไม่พอใจอีกฝ่ายเมื่ออยู่ต่อหน้าลูก เพราะวัตถุประสงค์หนึ่งหลังจากการหย่าร้างคือ ให้ลูกยังคงมีภาพจำที่ดีทั้งของแม่และพ่ออยู่ในใจ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่จะทำให้เขาโตไปเป็นเด็กที่เห็นคุณค่าในตนเอง มั่นคงทางจิตใจ

3. ไม่ควรให้ลูกเลือกว่าเขาต้องการจะอยู่กับใคร รวมถึงการถามว่าวันหยุดเขาอยากไปเที่ยวกับใคร การถามแบบนี้ไม่ใช่การมอบอิสระ เสรีภาพให้เขาได้เลือกแต่เป็นการยัดเยียดความรู้สึกผิดให้กับเขา เมื่อเขาไม่เลือกอีกฝ่าย พ่อแม่ควรเป็นคนตัดสินใจเองโดยใช้ผลประโยชน์ของลูกเป็นหลัก

บทความโดย คุณจิ้งจอก

นอกเหนือจากการสื่อสาร พ่อแม่ควรสังเกตุพฤติกรรมหรืออารมณ์ของลูกเสมอตลอดระยะเวลาที่เกิดขึ้น หากรู้สึกว่าลูกมีความเปลี่ยนไป ก็สามารถเข้ามาขอรับคำปรึกษาจากจิตแพทย์เด็กหรือนักจิตวิทยาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้พฤติกรรมเริ่มบานปลาย เพื่อให้ได้แนวทางในการช่วยให้เด็กปรับตัวได้ง่ายขึ้น และพ่อแม่สามารถช่วยให้ลูกได้ด้วยการสร้างกิจวัตรประจำวันที่สม่ำเสมอและชัดเจนให้กับลูก ทำการหย่าร้างให้กระทบกับกิจวัตรประจำวันของลูกให้น้อยที่สุด เพราะเด็กต้องการความมั่นคง คาดเดาได้เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย

NET PaMa