window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำอย่างไรดีเมื่อลูกบอกว่า “พ่อแม่ ผม/หนู มีแฟนแล้ว”
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
หากวัยรุ่นเดินมาบอกเราว่ามีแฟน สิ่งแรกที่จำเป็นต้องทำคือ ตั้งสติก่อน อย่างน้อยก็ควรดีใจที่เขา เชื่อใจ ไว้ใจเรา พร้อมที่จะคุย ควรชื่นชมในความกล้า ขอบคุณที่เขามาบอกตรงๆ รับฟังอย่างตั้งใจ  เพราะถ้ามองในมุมของวัยรุ่น ก่อนที่เขาจะมาบอกก็ต้องเตรียมตัวเตรียมใจพอสมควร อาจจะกังวลกับท่าทีของผู้ปกครองอยู่แล้ว รวมถึงอาจจะสังเกตอารมณ์ของเราก่อนที่จะบอกก็ได้  

อีกกรณี คือ หากเขาไม่บอก แต่เราสังเกตอารมณ์ พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปจากแต่ก่อน เช่น คุยโทรศัพท์นานๆ แอบไปคุยคนเดียว พอเราไปเจอก็รีบหลบ ดูน่าสงสัยว่ามีแนวโน้มที่จะมีแฟน

จะทั้งที่เขาบอกหรือเราสังเกตได้เอง คงห้ามความรู้สึกชอบพอไม่ได้  ยิ่งห้ามจะยิ่งมีความลับกับเรามากขึ้น ทีนี้จะยิ่งน่าเป็นห่วง

ให้เราลองตั้งคำถามว่า "แฟน"ของเขาหมายถึงอะไร???  รับฟังเขาก่อน เพื่อดูความเข้าใจหรือความคิดของเขา จะได้ประเมินพฤติกรรม นำไปสู่การพูดคุยได้ง่ายขึ้น เช่น คนที่รู้สึกดีอยากไปไหนมาไหนด้วยกัน คนที่สามารถซื้อของที่อยากได้ให้ คนที่เป็นที่ระบาย คนที่ต้องเอาใจ คนที่อยากมีเซ็กส์ด้วย  คนที่แชร์ทุกข์สุข เป็นต้น

อาจจะเล่าประสบการณ์ของผู้ปกครองให้ฟังด้วยก็ได้ ช่วยให้เขาเห็นว่าเราเปิดใจรับฟัง เเละเขาก็ได้เรียนรู้ประสบการณ์ การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกด้วย

ควรกำหนดขอบเขตชัดเจน ว่าให้คบกันในลักษณะเพื่อนที่ช่วยเหลือกันไปก่อน เพราะยังมีการเปลี่ยนแปลงความชอบในอนาคตอีก ยังคงให้ความสำคัญกับการเรียน เพราะเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบหลัก และคบเพื่อนคนอื่นๆด้วย เพราะหากเลิกกันก็ยังมีเพื่อนชวนคุย เล่นด้วย (หากเลิกกับแฟนแล้วหัวเดียวกระเทียมลีบ จะทำให้ปรับตัวยาก)

บอกสิ่งที่อนุญาตและไม่อนุญาต ตรงนี้ผู้ปกครองต้องใจเย็น เพราะเขาอาจจะต่อรอง ก็ควรรับฟังเขาด้วย จะได้เป็นข้อตกลงร่วมกัน ซึ่งวัยรุ่นมักจะให้ความร่วมมือมากกว่าการสั่งอย่างเดียว

เช่น อนุญาตให้โทรศัพท์คุยกันได้ แต่ต้องมีเวลาคุยกับครอบครัวด้วยในช่วงเวลาใดบ้าง ไปเที่ยวกันเป็นกลุ่ม ระบุเวลากลับบ้านชัดเจน การแต่งตัวอย่างเหมาะสม ให้เกียรติกันทางคำพูดและการกระทำทั้งหญิงชาย ไม่อนุญาตให้ไปเที่ยวด้วยกันสองต่อสอง โอบกอด จูบ มีเพศสัมพันธ์กัน เป็นต้น 

หากอีกฝ่ายแสดงพฤติกรรมไม่ดี ทั้งทางคำพูดหรือการกระทำให้มาปรึกษาเราทันที เพราะร่างกายและจิตใจของเรา ไม่มีใครมีสิทธิมาทำร้ายเด็ดขาด แต่การที่วัยรุ่นจะทำอย่างนี้ได้ สัมพันธภาพระหว่างเราและเขาต้องดีพอสมควร 

เมื่อเขามาระบายหรือปรึกษา ท่าทีของผู้ปกครอง
มีความสำคัญมาก ต้องรับฟังอย่างตั้งใจ ให้กำลังใจ ชวนฝึกคิดให้อารมณ์ดีขึ้น หรือแก้ปัญหา งดการซ้ำเติม บ่น ดุว่า  เป็นต้น

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by Paloma A. on Unsplash

NET PaMa