window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำโทษอย่างไรไม่ให้เป็นความรุนแรงในครอบครัว
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

ทำโทษอย่างไรไม่ให้เป็นความรุนแรงในครอบครัว


เด็กวัยรุ่นชายคนหนึ่ง ครอบครัวพามาปรึกษาด้วยปัญหาหงุดหงิดง่ายและก้าวร้าวมากขึ้นทำให้เกิดการทะเลาะกันระหว่างคุณพ่อคุณแม่และเด็กอยู่บ่อยครั้ง

น้าหมอสอบถามสาเหตุ จุดเริ่มต้นของอารมณ์ที่เปลี่ยนแปลงของเด็กคนนี้คือ ความผิดหวัง


เดิมทีเด็กเป็นชอบทำกิจกรรม มีความหวังว่าอยากก้าวหน้าในกิจกรรมที่ตัวเองสนใจจึงซ้อมหนักและก็ได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อคุณแม่เป็นอย่างดี จนกระทั่งมีแมวมองมาดูการแข่งขันและเห็นแวว จึงชักชวนเด็กไปฝึกซ้อมและคัดตัวแต่เด็กต้องย้ายโรงเรียนไปอยู่อีกจังหวัดเพื่อฝึกซ้อม


เด็กและคุณพ่อคุณแม่ตัดสินใจย้ายโรงเรียนกลางเทอมและย้ายจังหวัด ไปเป็นเด็กหออยู่ประจำ จากเดิมที่อยู่กับคุณพ่อคุณแม่มาตลอด เรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ของชีวิตเขาเลยทีเดียว


เด็กเล่าว่าช่วงแรกๆก็สนุกดี แต่นานๆไปเริ่มมีปัญหากับเพื่อนร่วมหอพัก เพื่อนพูดไม่ดีใส่ กลั่นแกล้ง ทำให้เขาเริ่มจะเศร้า มีปัญหาการเรียน เมื่อไปแจ้งกับครู ครูก็ไม่ค่อยเข้าใจ ปัญหาเริ่มบานปลายจนเขาเริ่มคิดถึงเรื่องการทำร้ายตัวเอง คุณพ่อคุณแม่จึงตัดสินใจรับกลับมาที่บ้านและเข้าเรียนที่โรงเรียนเดิม


ฟังดูแล้วปัญหาก็น่าจะคลี่คลาย แต่กลับกลายเป็นแย่ลง เด็กต้องปรับตัวเข้ากับเพื่อนชั้นเรียนใหม่อีกครั้ง แต่ครั้งนี้ยากขึ้นกว่าเดิมเพราะเขามีความกังวลว่าเพื่อนๆจะมองยังไงที่ต้องกลับมาก่อนที่ความฝันจะสำเร็จ เขาคิดว่าตัวเองเป็น คนพ่ายแพ้ ในสายตาเพื่อน ทำให้เขาเศร้าหนักขึ้น ไม่ไปโรงเรียน เก็บตัวอยู่ในห้อง คิดถึงการฆ่าตัวตายบ่อยๆและมีอารมณ์แปรปรวนทะเลาะกับคุณพ่อคุณแม่บ่อยขึ้น บางครั้งทะเลาะกันรุนแรงมากจนถึงขั้นถูกตีจนมีบาดแผลซึ่งก็คือเหตุการณ์ก่อนหน้าที่จะมาหาน้าหมอเพียงไม่กี่วัน


เมื่อเจอประวัติแบบนี้น้าหมอจึงขอเริ่มพูดคุยกับเด็กก่อน เพื่อให้เด็กเกิดความไว้ใจว่าเขาสามารถเล่าเรื่องได้เต็มที่ เพราะน้าหมอฟังเขาเป็นคนแรก ก่อนที่จะฟังข้อมูลจากคุณพ่อคุณแม่


เด็กบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรงและถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐานแต่ ณ วันที่มาพบน้าหมอไม่มีบาดแผลใดๆที่เป็นบาดแผลใหม่ มีเพียงรอยฟกช้ำตามแขนที่เริ่มจางและรอยถลอกเล็กๆ ที่เริ่มตกสะเก็ดแล้ว

ตอนแรกน้าหมอตกใจเล็กน้อยที่เด็กบอกว่าต้องการแจ้งความคุณพ่อคุณแม่ข้อหาทำร้ายร่างกาย น้าหมอจึงเชิญคุณพ่อคุณแม่มาสอบถามข้อมูล เมื่อได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่ก็ได้ข้อมูลอีกด้านหนึ่งว่าจริงๆคือ การทำโทษที่รุนแรงเกินไป ไม่ได้มีเจตนาที่จะทำร้ายร่างกาย เหตุผลที่ต้องทำโทษรุนแรงเป็นเพราะเด็กเถียงเวลาที่คุณพ่อคุณแม่สอนและแสดงท่าทีก้าวร้าวใส่ คุณพ่อคุณแม่จึงโมโหมากเลยตีเด็กจนเกิดบาดแผลขึ้นโดยไม่ตั้งใจให้รุนแรงขนาดนี้ ซึ่งเมื่อน้าหมอพิจารณาจากองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วยก็ค่อนข้างชัดเจนว่าเป็นไปในทางที่คุณพ่อคุณแม่บอกเพราะเด็กก็ได้รับการดูแลที่เหมาะสมดี ทั้งเรื่องโรงเรียน อาหารการกิน ถือว่าคุณพ่อคุณแม่ดูแลเรื่องปัจจัยสี่ได้เหมาะสมและคุณพ่อคุณแม่ก็เป็นคนพามาพบแพทย์เอง ไม่น่าใช่กรณีความรุนแรงในครอบครัวที่ต้องดำเนินการทางกฎหมาย เช่น พ่อแม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ลูกหรือไม่ให้การดูแลขั้นพื้นฐานแก่ลูกแต่เรื่องราวที่ดูรุนแรงนี้เกิดจากการสื่อสารที่เป็นไปในเชิงลบของครอบครัว


ก่อนอื่น เราต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเมื่อเด็กวัยรุ่นซึมเศร้า อารมณ์มักจะหงุดหงิดและหากถูกกระตุ้นเร้ามากๆก็อาจจะระเบิดอารมณ์ได้ง่าย เมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าลูกโมโหร้าย ก็มีทั้งความโกรธ ผิดหวัง เสียใจที่เข้ามาอย่างท่วมท้นสุดท้าย หลายครอบครัว จบลงที่การต่อว่า ตำหนิและลงโทษรุนแรงเช่นครอบครัวนี้


เด็กก็โกรธที่คุณพ่อคุณแม่ตีและคุณพ่อคุณแม่ก็โกรธที่เด็กพูดไม่ดีใส่และผิดหวังที่เด็กแสดงพฤติกรรมไม่ดีต่างคนต่างโกรธกันไปมา สื่อสารกันด้วยอารมณ์เชิงลบและในครอบครัวนี้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่นึกไปไม่ถึงคือ ความรู้สึกผิดหวังของลูก


คุณพ่อคุณแม่ไม่เคยคุยว่าการไปเจอเรื่องแย่ๆที่โรงเรียนใหม่ส่งผลอย่างไรกับลูกบ้าง ลูกรู้สึกทุกข์ใจอย่างไรในตอนนั้นหรือตอนที่ย้ายกลับมาแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ยังไม่ได้คุยกับลูกว่าจะไหวมั้ย จะปรับตัวได้หรือไม่ อารมณ์ความรู้สึก ณ ตอนนี้เป็นอย่างไร


เมื่อเด็กไม่ได้ระบายความเสียใจออกมา เขาจึงเหมือนระเบิดเวลาที่รอวันปะทุ ส่วนคุณพ่อคุณแม่ก็อาจจะขาดทักษะการสื่อสารจนทำให้เกิดความขัดแย้งในบ้านที่รุนแรงขึ้น


จริงๆแล้วน้าหมอไม่ได้ต่อต้านเรื่องการทำโทษของคุณพ่อคุณแม่เพียงแต่อยากทำความเข้าใจกับพ่อแม่ว่า ต้องมีความชัดเจนในเป้าหมายที่จะทำโทษ เช่น จะตีเพื่อให้เด็กรับทราบว่าทำผิด สามารถตีได้ แต่!!! อย่าตีด้วยอารมณ์ เพราะหากทำเช่นนั้นแล้ว การตีนั้นก็คือการระบายอารมณ์ของพ่อแม่เท่านั้น ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเด็กเลย อีกทั้งยังสร้างการเรียนรู้กับเด็กว่า หากโมโหต้องระบายอารมณ์ด้วยการตีหรือใช้วิธีรุนแรงและทำให้เด็กใช้ความรุนแรงต่อไปกับคนอื่นในครอบครัวหรือที่เลวร้ายที่สุดคือ ใช้ความรุนแรงที่ได้รับมาไปทำร้ายคนนอกครอบครัว


โชคดีที่เด็กคนนี้ยังไม่มีพฤติกรรมรุนแรงไปยังคนนอกครอบครัว น้าหมอจึงต้องปรับการสื่อสารใหม่ ให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจความทุกข์ในปัจจุบันของเด็กมากขึ้นเพื่อลดการใช้คำพูดรุนแรงและทำโทษรุนแรง และให้ยารักษาอาการซึมเศร้ากับเด็กและสอนวิธีจัดการความโกรธอย่างเหมาะสมและสอนให้เด็กสื่อสารกับคุณพ่อคุณแม่มากขึ้น


วิธีที่น้าหมอมักจะสอนทุกครอบครัวที่มีปัญหาการจัดการอารมณ์โกรธคือ การเงียบ บ่อยครั้งเมื่อคุณพ่อคุณแม่เห็นพฤติกรรมไม่ดีของเด็กปฏิกิริยาอัตโนมัติคือ รีบบอก รีบสอน ซึ่งเป็นความหวังดี แต่เมื่อความหวังดี อยู่ผิดที่ ผิดเวลา แทนที่จะความขัดแย้งจะสงบกลับปะทุมากกว่าเดิม


การเงียบ คือการดึงอารมณ์ที่ปั่นป่วน ความคิดที่ยุ่งเหยิงให้กลับมาอยู่กับปัจจุบันดึงปฏิกิริยาตอบสนองต่างๆให้ช้าลงและสำคัญสุดคือ ดึงสติกลับมา เพื่อให้เราสื่อสารกับตัวเองว่า เราโกรธมากแค่ไหน เราเสียใจและผิดหวังแค่ไหน


ความเงียบจะพาเราก้าวไปสู้จุดถัดไป ว่าจะทำอย่างไรกับอารมณ์ด้านลบเหล่านี้ของเราดีและเมื่อเราผ่านไปได้ เราถึงจะพาคนอื่น ผ่านไปได้ด้วยเช่นกัน


เช่น หากคุณพ่อคุณแม่เห็นลูกก้าวร้าวมาก ทำให้คุณพ่อคุณแม่โกรธมาก แทนที่จะเดินไปจัดการ เช่น ดุ เสียงดังหรือตี ให้คุณพ่อคุณแม่เดินออกจากบริเวณนั้นเพื่อจัดการอารมณ์ของตัวเองโดยการหายใจเข้าออกช้าๆ เมื่อรู้สึกว่าสงบมากขึ้นแล้วจึงค่อยเข้าไปคุยกับลูกโดยใช้น้ำเสียงปกติและให้เหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เพื่อให้ลูกก้าวผ่านความโกรธนั้นไปได้


ยกตัวอย่างคำพูดที่ควรพูด


‘ตอนนี้ลูกโมโหมากเลย ไม่เป็นไรนะ ลูกโมโหได้ พ่อ/แม่ เข้าใจว่าเรื่องนี้ลูกไม่ชอบมากๆ แต่ถ้าเราคุยตอนนี้คงไม่เข้าใจกัน ลูกหายใจเข้าออกลึกๆให้โกรธลดลง แล้วเราค่อยมาคุยกันนะ’

คำพูดที่ควรหลีกเลี่ยง


‘ทำไมเป็นคนก้าวร้าวแบบนี้ อย่าทำแบบนี้กับพ่อ/แม่นะ เป็นเด็กไม่ดี แย่มาก เด็กคนอื่นไม่เห็นเป็นแบบนี้เลย’ การพูดโดยใช้อารมณ์ยิ่งทำให้เด็กโกรธ เสียใจ น้อยใจ มากขึ้นและคุณพ่อคุณแม่ก็โกรธมากขึ้นด้วย


น้าหมอเข้าใจว่ามันอาจจะไม่ง่ายนัก แต่ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรในวันนี้ ในอนาคตมันจะยากขึ้นเรื่อยๆ แน่นอน และเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนในการดูแลลูกนะคะ ให้เราเป็นตัวอย่างที่ดีกับลูก ดีกว่าเป็นตัวอย่างเรื่องการใช้ความรุนแรงในบ้านจนลูกนำไปใช้กับคนนอกบ้านจนเกิดเรื่องเศร้าใจเลยค่ะ


บทความโดย น้าหมอใบเฟิร์น


สำหรับผู้ปกครองท่านใดที่อยากฝึกฝนวิชาการทำโทษในเชิงบวก อยากให้ลองเรียนรู้ไปด้วยกันที่ www.netpama.com นะคะ ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย มีประโยชน์กับทุกๆบ้านจริงๆค่ะ ❤️

NET PaMa