window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เด็กดื้อ สามารถสะท้อนอะไรในการเลี้ยงดูบ้าง ?
เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

เด็กดื้อ สามารถสะท้อนอะไรในการเลี้ยงดูบ้าง ?


“สวัสดีค่ะ วันนี้พาเด็กมาปรึกษาหมอเรื่องอะไรคะ”

เป็นประโยคที่น้าหมอใช้เพื่อเริ่มต้นในการสัมภาษณ์ประวัติทุกครั้งเมื่อผู้ปกครองพาเด็กมาที่โรงพยาบาล


ซึ่งปัญหาส่วนใหญ่ที่น้าหมอได้เจอในเด็กวัยอนุบาลไปจนถึงวัยประถมคือ ปัญหาพฤติกรรมที่ผู้ปกครองมักจะบอกว่า  “เด็กดื้อค่ะ” 


ฟังดูก็ไม่น่าเป็นปัญหาอะไรใช่มั้ยคะ


แต่ปัญหาที่แท้จริงก็คือ “นิยามของคำว่าดื้อที่ผู้ปกครองหมายถึงนั้นคืออะไร”


“คุณพ่อ/คุณแม่/คุณยาย ลองขยายความได้มั้ยคะว่าพฤติกรรมอะไรของเด็กที่ผู้ใหญ่ในบ้านมองว่า ‘ดื้อ’”


คำตอบที่น้าหมอได้รับก็มีตั้งแต่

  • เด็กมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เวลาที่ผู้ปกครองไม่ตามใจ เช่น อยากเล่นเกมส์ในโทรศัพท์หรืออยากได้ของเล่น หรือขนมที่ผู้ปกครองไม่อนุญาต
  • เด็กไม่รับฟัง ต่อต้าน ทำตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้ปกครองบอก เช่น บอกให้ทำการบ้านแต่ไม่ร่วมมือทำหรือยิ่งไปกว่านั้นอาจจะร้องไห้งอแงจนผู้ปกครองก็ไม่สามารถจัดการ ให้เด็กสงบได้
  • เล่นไม่เหมาะสม ทำให้ข้าวของเสียหายหรือเล่นรุนแรง เล่นผาดโผนจนตัวเองหรือคนที่เล่นด้วยบาดเจ็บ

แต่น้าหมออยากให้ผู้ปกครองทุกท่านลองพิจารณาดีๆ 


- การที่เด็กหงุดหงิดง่ายเวลาที่ผู้ปกครองไม่ตามใจ อาจเป็นเพราะ ที่บ้านยังไม่เคยมีข้อตกลง หรือกติกาให้เด็กๆทราบว่า สิ่งไหนหรือพฤติกรรมใดที่ผู้ปกครอง อนุญาตให้ทำได้และพฤติกรรมใดที่ผู้ปกครองไม่ต้องการให้เด็กทำ


- เด็กไม่รับฟัง ต่อต้าน ทำตรงข้ามกับสิ่งที่ผู้ปกครองบอก อาจเป็นเพราะ ที่บ้านยังใช้วิธีสื่อสารที่ยังไม่ได้ประสิทธิภาพกับเด็ก เช่น พูดเร็วเกินไป ออกคำสั่งหลายอย่างพร้อมๆกันทำให้เด็กสับสนหรือผู้ปกครองมีท่าทาง น้ำเสียงที่ทำให้เด็กตกใจ กลัว หรือโมโหจนแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมา


- เล่นไม่เหมาะสมทำให้ข้าวของเสียหายหรือเล่นรุนแรง ผาดโผนจนตัวเองหรือคนที่เล่นด้วยบาดเจ็บ อาจเป็นเพราะ ผู้ปกครองยังไม่ได้เข้าไปใช้เวลาเล่นกับเด็ก เพื่อสอนวิธีการเล่นที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับเด็ก 


การที่ผู้ปกครองบอกว่าเด็ก ‘ดื้อ’ จึงเป็นการด่วนตัดสินไปสักหน่อย เพราะไม่มีเด็กคนไหนเกิดมาเพื่อเป็นเด็ก ‘ดื้อ’ แต่พฤติกรรมต่างๆที่เด็กแสดงออกมาคือหนึ่งในวิธีการสื่อสารกับโลกใบนี้ ซึ่งโลกใบแรกและใบใหญ่ของเด็กก็คือผู้ปกครองนั่นเอง


หากผู้ปกครองลองคิดในมุมกลับ เช่น

‘ที่ลูกหงุดหงิดง่าย เขาโกรธเรื่องอะไรหรือกังวลใจอะไรอยู่มั้ยนะ’

‘ที่ลูกไม่เข้าใจคำสั่ง เพราะเรายังสื่อสารไม่ชัดเจนหรือเปล่า’

‘ที่ลูกเล่นรุนแรงเพราะไม่รู้ว่าสิ่งไหนเล่นได้หรือเล่นไม่ได้หรือเปล่านะ’


จะทำให้ผู้ปกครองได้ปรับวิธีการคุย การเล่นกับเด็กใหม่และนำไปสู่ความคิดใหม่ว่า

“จริงๆแล้วลูกไม่ได้ดื้อแต่ลูกแค่ต้องการจะสื่อสารกับเราเท่านั้นเอง” 


แต่หากผู้ปกครองลองปรับวิธีการดูแลแล้ว ทำความเข้าใจเด็กแล้ว พฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นยังไม่ดีขึ้นหรือเป็นมากขึ้นกว่าเดิม 


น้าหมอแนะนำว่าควรเข้ารับการประเมินอย่างละเอียดจากจิตแพทย์เด็ก กุมารแพทย์ทั่วไปหรือกุมารแพทย์พัฒนาการว่าเข้าเกณฑ์โรคสมาธิสั้นหรือไม่ค่ะ หรือถ้าอยากเรียนรู้วิธีสื่อสารกับลูกแบบเชิงบวก ก็สามารถมาฝึกฝนวิชาเบื้องต้นได้ฟรีๆที่ www.netpama.com นะคะ 


ด้วยรักและห่วงใย จาก น้าหมอใบเฟิร์น 

NET PaMa