เฉลย คุณจะทำยังไงเมื่อลูกติดเกม
ก. สอนให้ลูกกลัว
ข. ทำลายเกมทิ้ง
ค. พาไปบำบัดตามความเชื่อ
ผิดเพราะ การพูดคุยกับลูกควรคำนึงถึงจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วย หากเราไปพูดระหว่างที่ลูกกำลังเล่นเกม ลูกคงไม่มีสมาธิจะฟังเรา แถมการพูดถึงข้อเสียของเกมที่ยืดยาว เหมือนเป็นการบ่นไปเรื่อย ๆ ก็เป็นสิ่งที่ไม่น่าฟัง บางทีลูกได้ยินแล้วก็ไม่รู้ว่าพ่อแม่ต้องการอะไรกันแน่ คำพูดนั้นจึงเป็นเพียงสิ่งที่ผ่านหูซ้ายและทะลุหูขวา ส่วนการทำลายข้าวของก็เป็นตัวอย่างที่ไม่ดี ซึ่งจะทำให้ลูกซึมซับความรุนแรง และอาจมีพฤติกรรมที่สร้างความเสียหายได้ในอนาคต
ค ผิด แต่ก็มีส่วนถูก เพราะ การบำบัดอาการติดเกมนั้นมีอยู่จริง แต่จะไม่มีการบังคับให้อ้วก การบำบัดมักจะทำในกรณีที่เด็กติดเกมอย่างรุนแรง โดยการรักษาในโรงพยาบาลและทำ Digital Detoxification คือ การให้เด็กงดเว้นการเล่นเกมและการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีทุกชนิด เพื่อให้เด็กออกจากโลกออนไลน์แล้วหันมาโฟกัสสิ่งที่อยู่ในชีวิตจริงมากขึ้น ซึ่งการงดเกมในระยะเวลาหนึ่ง จะช่วยปรับสมดุลสมองที่เสียไปจากการติดเกมได้
ข้อที่ถูกต้องคือ พ่อแม่ผู้ปกครองควรตั้งสติ และสำรวจก่อนว่าอะไรที่ทำให้ลูกติดเกม หรือเกมสำคัญอย่างไรกับลูก เพื่อจะได้เข้าใจปัญหา และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด
7 แนวทางที่ผู้ปกครองควรรู้ เมื่อลูกกำลังมีปัญหาติดเกม
1. สำรวจที่มาที่ไปว่าทำไมลูกถึงติดเกม
อันดับแรก เมื่อพ่อแม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของลูก เมื่อรู้สึกว่าลูกเริ่มติดเกมแล้ว ขอให้คุณพ่อคุณแม่ตั้งสติ อย่าเพิ่งโทษว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นความผิดของใคร และอย่าเพิ่งโทษตัวเอง เพราะปัญหาติดเกมมีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง และไม่มีประโยชน์ที่จะโทษกันไปมา ขอให้คุณพ่อคุณแม่ลองมาพิจารณาดูว่า
- ลูกเริ่มเปลี่ยนไปตั้งแต่ตอนไหนกันนะ?
- มีเหตุการณ์อะไรที่ทำให้ลูกเลิกทำสิ่งที่เคยชอบทำ แล้วมาเล่นเกมแทนรึเปล่า?
- ลูกมีปัญหาอะไรที่โรงเรียนไหม?
- บรรยากาศภายในบ้านของเราเป็นอย่างไร?
- เรามีกิจกรรมอะไรทำร่วมกันในครอบครัวบ้าง?
- กลุ่มเพื่อนของลูกเป็นอย่างไร เด็ก ๆ ชอบทำอะไรกัน?
- ลูกมีอะไรที่สนุก ๆ ให้ทำบ้าง? นอกจากการเล่นเกม
- ลูกมีทัศนคติอย่างไรกับเกม?
(เขาอาจเห็นตัวอย่างจากสื่อว่าเล่นเกมแล้วได้ประโยชน์ และสามารถหาเงินได้ ก็อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เขาบอกคุณพ่อคุณแม่ว่า ที่เขาเล่นเกมน่ะ มีประโยชน์นะ เขากำลังฝึกเล่นเกม จะแคสเกม จะไปแข่งอีสปอร์ต พ่อแม่อย่ามาห้ามเขา)
การพิจารณาสิ่งเหล่านี้ จะทำให้พ่อแม่เข้าใจว่า เกมสำคัญกับลูกอย่างไร ลูกอาจจะเล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย เพื่อความสนุกสนาน เพื่อการมีสังคม เพื่อเป้าหมายบางอย่าง หรืออาจจะเล่นเพื่อหลีกหนีจากความทุกข์ในชีวิต
การสำรวจและพิจารณาว่า มีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้ลูกเล่นเกม จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดด้วยความเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น
2. สร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างกัน
หันมาใช้เวลากับลูกมากขึ้น โดยการพูดคุยในเรื่องที่ลูกสนใจ บ่นให้น้อย ฟังให้มาก
ชวนลูกทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว เช่น การเล่นบอร์ดเกม การเล่นกีฬา หรือหากลูกไม่ยอมทำด้วย ก็อาจจะลองเล่นเกมกับลูกดูบ้าง ถ้าพ่อแม่เล่นเกมไม่เป็น ก็ลองขอให้ลูกสอนก็ได้ คุณพ่อคุณแม่จะได้เข้าใจสิ่งที่ลูกทำมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างสัมพันธภาพอันดีในครอบครัว ทำให้ลูกรู้สึกว่าพ่อแม่เข้าใจเขา เมื่อสัมพันธภาพระหว่างกันดีเพียงพอ ลูกก็จะมีแนวโน้มรับฟังเรามากขึ้น เราจึงควรพูดคุยเรื่องกฎกติกาหรือข้อตกลงเรื่องการเล่นเกม เมื่อสัมพันธภาพระหว่างเรากับลูกดีเพียงพอแล้ว ไม่เช่นนั้น ลูกก็มีแนวโน้มจะต่อต้านและไม่ให้ความร่วมมือกับเรา (หากอยากรู้วิธีเพิ่มเติมในการสร้างสัมพันธภาพ สามารถเรียนรู้ได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน็ตป๊าม้า เลยค่ะ)
3. สร้างข้อตกลงร่วมกันในเรื่องของการแบ่งเวลาในชีวิตและการเล่นเกม
วิธีการพูดคุย คือ ใช้ “ข้อความป๊าม้า (I message)” ในการสื่อสารความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ที่มีต่อการเล่นเกมของเขา และรับฟังความคิดเห็นของลูกว่าลูกคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร เช่น
“แม่เป็นห่วงที่ลูกเล่นเกมจนนอนดึก เวลาที่แม่เคยห้ามหนู จนเราต้องทะเลาะกันบ่อย ๆ แม่ก็ไม่ชอบเลย แม่ไม่อยากบ่น ไม่อยากให้เราทะเลาะกัน ลูกว่ามีวิธีไหนไหมที่จะทำให้เราไม่ต้องทะเลาะกันเรื่องนี้”
“พ่อเข้าใจว่าลูกชอบเล่นเกม และเกมก็ให้อะไรหลาย ๆ อย่างกับลูก พ่ออยากให้ลูกรู้ว่าพ่อเป็นห่วงว่าลูกจะใช้เวลากับเกมมากเกินไป จนกระทบกับตัวลูก พ่ออยากให้ลูกรักษาสมดุลระหว่างเกมกับด้านอื่น ๆ ของชีวิต ลูกว่าเราจะเล่นเกมให้สมดุลยังไงดี”
คุณพ่อคุณแม่ควรหาจังหวะในการพูดคุยเพื่อสร้างข้อตกลงร่วมกันกับลูกในเรื่องการเล่นเกมของเขา โดยเริ่มต้นสื่อสารความเป็นห่วงของเราด้วย “ข้อความป๊าม้า” จากนั้นอาจใช้คำถามชวนคิดว่า เราจะตกลงเรื่องการแบ่งเวลาในชีวิตและการเล่นเกมให้สมดุลอย่างไรดี ให้ลูกได้แสดงความคิดเห็น
(เรียนรู้เทคนิคการสื่อสารด้วย “ข้อความป๊าม้า” ได้ในคอร์สจัดเต็มบทที่ 2 ทักษะพื้นฐานการสื่อสาร)
การตั้งกติกาการเล่นเกมควรตั้งให้รัดกุมว่า เล่นได้แค่ไหน อย่างไร และหากทำไม่ได้ตามที่ตกลงกันไว้จะเกิดอะไรขึ้น เช่น อาจจะลดเวลาการเล่นของวันถัดไป โดยแต่ละฝ่ายมีสิทธิที่จะพูด ตักเตือน หรือทักท้วงกันและกันได้ ซึ่งข้อตกลงนี้ควรทำความเข้าใจร่วมกันทั้งบ้านและมีการปฏิบัติอย่างจริงจัง เพื่อให้ข้อตกลงนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ และลูกได้เรียนรู้ที่จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของเขา
ช่วงแรก ๆ ลูกอาจจะยังทำตามกติกาข้อตกลงไม่ได้ ขอให้คุณพ่อคุณแม่ใจเย็น ๆ พูดถึงสิ่งที่ตกลงกันไว้ และให้ลูกเลือกเองว่าเขาจะทำอย่างไร เช่น “ถึงเวลาที่ตกลงกันไว้แล้วนะ ลูกจะหยุดเลยไหม ถ้าไม่หยุดตอนนี้ พรุ่งนี้แม่ขอลดเวลานะครับ ตามที่เราตกลงกันไว้” ทั้งนี้ ก่อนจะถึงเวลาที่ตกลงกันไว้ เราอาจเตือนเขาก่อนสักรอบหนึ่ง พอถึงเวลาลูกจะหยุดได้มากขึ้น ขอให้คุณพ่อคุณแม่สื่อสารอย่างใจเย็น ยึดมั่นในสิ่งที่ตกลงกันไว้ และไม่อารมณ์ขึ้นไปกับลูก
(เรียนรู้เทคนิคการกำหนดกติกาและข้อตกลงเพื่อปรับพฤติกรรมลูกให้ได้ผล ได้ในคอร์สจัดเต็มบทที่ 6 เทคนิคการทำตารางให้คะแนน)
4. ชื่นชมสิ่งที่ลูกทำได้
ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เขาสามารถทำตามที่ตกลงกันไว้ได้ หรือช่วงเวลาอื่น ๆ โดยการชมนั้น ขอให้เน้นชื่นชมที่ความพยายามของเขา การชื่นชมเป็นสิ่งที่บอกเขาว่าเขาได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ จะทำให้ลูกมีความภาคภูมิใจในตัวเอง และอยากที่จะทำตามกติกาข้อตกลงนั้นต่อไป เช่น “แม่ปลื้มใจมากที่ลูกเลิกเล่นเกมตามเวลาที่เราตกลงกันไว้ หนูเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบและรักษากติกาได้ดีมาก”
(ฝึกการชมเพื่อเสริมสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของลูกๆ ได้ในคอร์สจัดเต็มบทที่ 3 เทคนิคการชม)
5. ส่งเสริมงานอดิเรกหรือกิจกรรมทางเลือกอื่น ๆ
หลายครั้งเด็ก ๆ ก็เล่นเกม เพราะพวกเขาไม่รู้ว่าจะทำอะไรดี การส่งเสริมงานอดิเรกหรือกิจกรรมทางเลือกอื่น ๆ จะทำให้เด็กรู้ว่า มีอย่างอื่นที่สนุก ที่ช่วยให้ผ่อนคลายได้ ไม่ใช่มีแค่เกมเพียงเท่านั้น หากเด็กมีกิจกรรมที่มาทดแทนการเล่นเกมที่เขาชอบและทำได้ดี การติดเกมก็จะลดลงได้ และยังเป็นการเสริมสร้างให้เขาเกิดความภาคภูมิใจในตนเองอีกด้วย ทั้งนี้ กิจกรรมนั้น ไม่ควรเป็นการส่งเขาไปเรียนพิเศษจนเต็มตารางเวลาชีวิต เพราะอาจทำให้เด็กเครียดและกดดันได้ พ่อแม่ผู้ปกครองอาจใช้วิธีการทำความรู้จักเพื่อนของลูก และพากันชักชวนไปทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเล่นเกม เช่น การเล่นกีฬา การเล่นดนตรี การประดิษฐ์สิ่งของหรืองานศิลปะ เป็นต้น
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรมทางเลือกทดแทนการเล่นเกม ได้ที่ https://www.healthygamer.net/Library/detail/343)
6. ส่งเสริมการรู้เท่าทันเกมและอีสปอร์ตให้กับลูก
เกมและอีสปอร์ตนั้นมีทั้งด้านบวกและด้านลบ เด็ก ๆ อาจได้รับสื่อที่นำเสนอเรื่องราวด้านบวก จนหลงลืมผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่นเกมและอีสปอร์ต เราสามารถชักชวนลูกตั้งคำถามกับสื่อที่เขาได้รับ เช่น สื่อนี้ใครทำ เขามีจุดประสงค์ต้องการสื่อสารอะไร คนแต่ละคนจะสามารถรับรู้แบบไหนได้บ้าง คนทำสื่อนั้นหวังผลอะไร มีอะไรที่สื่ออาจจะบอกไม่หมด หรือมีอะไรที่ไม่ถูกนำเสนอบ้าง นอกจากนี้ คุณอาจชวนลูกเปิดรับข้อมูลข่าวสารหลาย ๆ ด้าน จากหลาย ๆ แหล่งข้อมูล จะเป็นการส่งเสริมให้เด็ก ๆ ได้คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และมีความรู้เท่าทันสื่อเกมและอีสปอร์ต โดยมีความเข้าใจข้อเท็จจริง ระมัดระวังการโฆษณาแฝงและค่านิยมที่ไม่เหมาะสม
มีมุมมองต่อเกมและอีสปอร์ตอย่างรอบด้าน ซึ่งจะช่วยให้เขาสามารถเล่นเกมอย่างสร้างสรรค์ ให้เกมเป็นส่วนที่ดีในชีวิต และลดผลกระทบทางลบที่อาจเกิดขึ้นได้
(อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการรู้เท่าทันเกมและอีสปอร์ต ได้ที่ https://www.healthygamer.net/Library/detail/364
และอ่าน "คัมภีร์ป้องกันลูกติดเกม" ได้ที่ https://bit.ly/3RjNQ3v)
7. เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
หากผู้ใหญ่ในบ้านหันหน้ามองแต่จอ เด็กก็คงทำแบบเดียวกัน ผู้ใหญ่เองก็ควรมีการบริหารจัดการเวลาการใช้หน้าจออย่างเหมาะสมเช่นกัน ลองตั้งเป้าหมายในการลดการใช้อุปกรณ์หน้าจอต่าง ๆ และหันหน้ามาใช้เวลากับคนที่อยู่ตรงหน้ามากขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างในการใช้สื่ออย่างเหมาะสมให้กับลูก และใช้เวลากับลูกอย่างมีคุณภาพกันนะคะ
คุณพ่อคุณแม่ผู้ปกครองสามารถเรียนรู้วิธีการสื่อสารเชิงบวก เพื่อนำมาใช้กับลูกที่ติดเกม ได้ที่ www.netpama.com
หรือหากต้องการปรึกษาปัญหาการติดเกมโดยเฉพาะ สามารถปรึกษาผ่าน Line Chatbot ได้ที่ Line ID: @426wsfmp หรือกดที่นี่เพื่อแอดไลน์ https://bit.ly/HGchatbot
หรือทักแชทเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยา ได้เลยที่ https://m.me/healthygamer
บทความโดย แอดมินเพจ Healthy Gamer เกมสมดุล ชีวิตสมดุล
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดที่อยากฝึกฝนวิชาการเลี้ยงลูกเชิงบวก ฝึกวิธีการใช้ความสงบสยบปัญหาลูกทะเลาะกัน เราอยากแนะนำให้ลองเรียนฟรี ๆ ได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า นะคะ บอกเลยว่ามีทั้งคลิปละครให้ดูเป็นตัวอย่างแถมยังมีแบบฝึกหัดให้ลองทำ สนุกและได้ความรู้ที่ใช้ได้จริงกลับไปแน่นอนค่ะ