window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เล่นเกมอย่างไรให้สุขภาพกายและใจแข็งแรง
เมื่อ 5 เดือนที่แล้ว

โรคติดเกมคืออะไร แล้วพ่อแม่ควรทำอย่างไรเมื่อลูกติดเกมมากเกินไป?


“โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนไปเร็วมาก สนามเด็กเล่นในสมัยนี้ไม่ใช่ที่ที่เราจะสามารถเดินไปตามลูกเมื่อเขากลับไปตรงเวลา หรือลูกต้องขออนุญาตก่อนออกไปเล่นทุกครั้งอีกแล้ว 

สนามเด็กเล่นในปัจจุบันอยู่ในมือของเขาแล้ว ผ่านมือถือที่เราซื้อให้เขาใช้”


ปัญหาลูกติดเกมคงเป็นปัญหาที่พ่อแม่หลายบ้านคุ้นชินแต่ไม่ว่ายังไงก็ยังคงปวดหัวกับเรื่องนี้อยู่ เวลาบอกให้เลิกเล่นคำที่มักจะตามมาก็คือ แปปนึง แต่ไม่เคยมีสักครั้งที่แปปจริง ๆ หันไปกี่ครั้งก็เจอลูกเล่นเกม แล้วที่จริงลูกเราต้องเล่นเกมกี่ครั้ง กี่ชั่วโมงถึงเรียกได้ว่าเป็น ‘โรคติดเกม’ (Gaming disorder) และควรพบผู้เชี่ยวชาญ


องค์การอนามัยโรคได้ให้เกณฑ์การวินิจฉัย โรคติดเกม ไว้ 3 ข้อ

1. ไม่สามารถกำกับควบคุมการเล่นเกมของตนเองได้ เมื่อเล่นแล้วจะอยากเล่นอีกต่อไปเรื่อย ๆ

 

2. ให้ความสำคัญกับการเล่นเกมมากกว่าการทำกิจวัตรประจำวันอื่น ๆ เช่น ไม่ยอมไปเรียนหนังสือเพราะจะเล่นเกม ไม่ยอมออกไปทานข้าวกับญาติ ๆ

3. ถึงแม้จะได้รับผลเสียจากการเล่นเกมก็ยังคงเล่นต่อและอาจมีแนวโน้มเล่นเพิ่มมากขึ้น เช่น ปวดหัว ง่วงนอน หลับในเวลาเรียนแต่ก็ยังคงเล่นต่อ


หากมีพฤติกรรมครบทั้ง 3 ข้อจะถือว่าจัดเข้าข่ายโรคติดเกมและควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ


แต่การพาลูกเข้าพบแพทย์อาจเป็นเรื่องยากในเด็กวัยรุ่น ผศ.นพ. สมบูรณ์ หทัยอยู่สุข จึงได้ให้คำแนะนำวิธีการพาลูกวัยรุ่นมาพบแพทย์กับพ่อแม่ไว้ใน Net PAMA live: ‘เล่นเกมอย่างไรให้สุขภาพกายและใจแข็งแรง’ ว่า


เข้าใจธรรมชาติของเกมที่ลูกเล่น


เบื่องต้นพ่อแม่ควรเข้าใจว่าเกมออนไลน์บางชนิดไม่เหมือนกับการออกไปวิ่งไล่จับที่สนามเด็กเล่น ที่สามารถเลิกตอนไหนก็ได้ เพื่อน ๆ ยังสามารถเล่นต่อได้อยู่ เพราะเกมออนไลน์ประเภท ‘MOBA’ เป็นเกมที่เล่นเป็นทีมและแต่ละคนจะมีหน้าที่ไม่เหมือนกัน เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแข่งชนะจะถือว่าจบรอบของเกม หากผู้เล่นคนใดคนหนึ่งออกจากเกมกลางคันอาจทำให้แพ้เนื่องจากขาดคนทำหน้าที่นั้นไป 


การที่พ่อแม่ยึดโทรศัพท์ของลูกทันทีหรือปิดคอมพิวเตอร์เพื่อหวังให้เขาเลิกเล่นเกม ในตอนนั้นลูกอาจหยุดเล่นทันที แต่ผลที่ตามมาอาจมากกว่าที่พ่อแม่คิด เนื่องจากเมื่อเขาเป็นคนทำให้ทีมแพ้ สมาชิกในทีมอาจตำหนิ ต่อว่า หรืออาจรุนแรงมากขึ้นหากสมาชิกในทีมเป็นเพื่อนที่โรงเรียนหรือในโลกจริง อาจนำไปสู้การกีดกัดออกจากกลุ่ม จนถึงตกเป็นเป้าของการบูลลี่เลยก็ได้



สื่อสารและรับฟังลูก


การรับฟังเป็นสิ่งแรกที่พ่อแม่ควรทำเมื่อพูดคุยกับลูก เปิดโอกาสให้เขาได้เล่าเหตุผลและเรื่องราวของเขาโดยที่เรารับฟังอย่างจริงใจ ไม่ใช่รับฟังเพื่อรอหาข้อโต้แย้งหรือสั่งสอน แต่ฟังเพื่อสะท้อนความรู้สึกของเขา เช่น “แม่รู้ว่าหนู หงุดหงิด ที่ต้อง หยุดเล่นเกม” การสะท้อนอารมณ์เช่นนี้จะทำให้ลูกรู้สึกถูกรับฟัง เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและนำไปสู่การเปิดใจรับฟังคำสอนของพ่อแม่มากขึ้น (หากพ่อแม่อยากเรียนรู้วิธีการฟังเพื่อสะท้อนความรู้สึก สามารถเรียนได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า)


จากนั้นถึงขั้นตอนที่พ่อแม่สามารถสอนเขาได้แต่ให้ใช้การสื่อสารเชิงบวก โดยบอกความรู้สึกของพ่อแม่และสิ่งที่อยากให้ลูกทำ เช่น “แม่รู้สึกว่าช่วงนี้หนูเล่นเกมค่อนข้างบ่อยและติดกันนาน แม่เป็นห่วงอยากให้หนูไปหาหมอด้วยกัน ไม่รู้ว่าหนูรู้สึกเหมือนแม่มั้ย”


หากยังรู้สึกไม่เข้าใจวิธีการสื่อสารหรือสะท้อนความรู้สึกของลูก สามารถเข้าไปฟัง Net PAMA Live “พูดอย่างไรให้ลูกฟัง ฟังอย่างไรให้ลูกพูด” หรือเรียนรู้ทักษะพื้นฐานของการสื่อสารได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า


สังเกตพฤติกรรมการเล่นเกมของลูก


เหมือนกับการที่ลูกออกไปเล่นนอกบ้าน คำถามที่พ่อแม่มักถามก่อนอนุญาติคือ ‘ไปกับใคร’ ‘ไปเล่นที่ไหน’ ‘แล้วจะกลับกี่โมง’ พ่อแม่ควรใช้คำถามเช่นนี้เวลาที่ลูกขอเล่นเกมเช่นกัน เพื่อให้ได้รู้ว่าตอนนี้ลูกกำลังมีปฏิสัมพันธ์กับใครอยู่ มีแนวโน้มจะเกิดอันตรายจากภัยมืดของโลกออนไลน์หรือไม่ ส่วนการถามเรื่องเวลาก็เป็นเหมือนการสร้างกฎให้กับลูกว่า เขาจะสามารถเล่นเกมได้ตอนไหนบ้างและกี่ชั่วโมง เพื่อให้ลูกเกิดการเรียนรู้กฎกติกาโดยอัตโนมัติ


การเล่นเกมสามารถทำได้ ผู้ใหญ่หลายคนก็เล่นเกมคลายเครียด หากลูกรู้จักหน้าที่ เวลาและความรับผิดชอบของเขา เขาก็มีสิทธิจะได้เล่นเกมหรือทำกิจกรรมที่เขาชอบโดยไม่เดือดร้อนผู้อื่น แต่เมื่อเล่นมากเกินไปอาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี พ่อแม่ควรพูดคุยและรับฟังลูก การสอนสามารถทำได้แต่ควรทำเมื่อรับฟังเขาแล้ว และไม่ควรต่อว่าหรือดุด่าเขาด้วยอารมณ์

NET PaMa