window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
พูดคุยกับลูกยังไงหลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์รุนแรง
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

พูดคุยกับลูกยังไงหลังเผชิญหน้ากับเหตุการณ์รุนแรง

จากเรื่องราวสะเทือนใจที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

เหตุการณ์เหล่านี้สร้างผลกระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์แบบประเมินความเสียหายไม่ได้

เราจะคุยกับลูกยังไงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น มุมมองและท่าทีของเราที่มีต่อข่าว การพูดคุยกันในครอบครัว ล้วนส่งผลต่อลูก ๆ อย่างแน่นอน ถึงแม้เราจะเลี่ยงไม่อยากพูดถึงแต่เชื่อว่าเด็ก ๆ ก็สามารถรับรู้ข้อมูลได้ด้วยตัวเอง แล้วเราควรจะสื่อสารกับลูกอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น


สร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

คงเป็นเรื่องยากลำบากที่จะพูดเรื่องนี้ เราควรเตรียมความพร้อมทางด้านจิตใจของเราก่อนที่จะเริ่มต้นสนทนา หากเรายังมีความกลัวและกังวลอยู่มากต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ให้เราอย่าเพิ่งเริ่มคุยเรื่องนี้กับลูก เพราะสิ่งที่จะถ่ายทอดส่งต่อไปที่ลูกคือ ความกังวล ความกลัว ความไม่ปลอดภัย ซึ่งในมุมมองของเด็กเองถ้าพวกเขารับรู้ความกลัวเหล่านั้น เด็ก ๆ เองก็จะยิ่งรู้สึกหวาดกลัวต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เสมือนเสาหลักของบ้านยังไม่แข็งแรงพอให้พึ่งพิง ดังนั้นพื้นที่ปลอดภัยนั่นก็คือความมั่นคงทางอารมณ์ของพ่อแม่อย่างเรา ๆ นั่นเอง


ควรเลือกเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมในการพูดคุย

เราควรเลือกช่วงเวลาเช้าหรือกลางวัน มากกว่าช่วงหัวค่ำหรือก่อนนอน เนื่องจากจะยังพอมีเวลาให้เด็ก ๆ ได้กลับมาพูดคุยกันหากเรื่องที่พูดถึงนั้นยังวนเวียนหรือติดค้างอยู่ในใจของเด็ก นอกจากนี้การอยู่ในสถานที่ ๆ ดูปลอดภัย สบาย ๆ ก็อาจะช่วยให้เด็กมีสมาธิในการพูดคุยเรื่องสำคัญ หรือเกิดความมั่นคงทางอารมณ์ได้ง่ายกว่าพื้นที่ ๆ มีความวุ่นวาย หรือคนเดินจอแจ ที่อาจจะทำให้เด็กวอกแวกได้ง่าย เพราะว่าเรื่องนี้คือเรื่องที่ควรให้ความสำคัญ การหาเวลาและสถานที่ๆ เหมาะสมจะทำให้เด็กก็รับรู้ได้เองว่าเรื่องที่กำลังจะคุยกันต่อไปนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และเราทุกคนให้ความสำคัญ


คำนึงถึงช่วงวัยของเด็กและพื้นฐานอารมณ์ของเด็กแต่ละคน

เด็กแต่ละวัยมีความสามารถในการรับรู้ข้อมูลได้แตกต่างกัน หากในเด็กวัยเล็กการพูดสั้น ๆ เป็นเรื่องราวที่เข้าใจง่าย ก็จะเป็นประโยชน์มากกว่าการอธิบายหรือเล่าเรื่องยาว ๆ เช่น “หนูไม่ต้องกลัวนะ หนูจะปลอดภัยเพราะแม่จะคอยดูแลหนูอยู่เสมอ” หรือหากเด็กที่มีแน้วโน้มว่าเป็นคนขี้กังวลอยู่แล้ว การเลือกใช้คำพูดให้ละมุนละม่อมและสงบก็จะช่วยให้เด็กสงบตามไปด้วยได้มากกว่าการใช้คำพูดที่ยิ่งกระตุ้นให้กังวลใจ


ถึงเวลาเริ่มต้นพูดคุย

หลังจากเตรียมใจพร้อมแล้ว เราสามารถเริ่มต้นชวนลูกคุยกันด้วยคำถามเปิด เพื่อได้เข้าใจมุมมองและอารมณ์ของลูก

“วันนั้นที่เราอยู่ในห้างกันแม่กลัวมากลูกก็คงกลัวมากเหมือนกัน เล่าให้แม่ฟังได้ไหมว่าลูกรู้สึกยังไง”

“หนูได้ยินข่าวเรื่องนี้ว่ายังไงบ้าง”

“ลูกเข้าใจเรื่องนี้ว่าเป็นยังไง” 

“พ่ออยากรู้ว่าหนูกลัวไหมหลังจากได้ยินข่าว”


เมื่อลูกได้เล่าถึงความรู้สึกและมุมมองของตัวเองแล้ว สิ่งที่เราควรทำคือรับฟัง เปิดกว้าง และยอมรับความกลัวที่เกิดขึ้น สื่อสารกับลูกอย่างตรงไปตรงมาว่า


กว่าเราจะหายกลัวมันน่าจะต้องใช้เวลา แต่เรามีแผนที่จะดูแลความปลอดภัยของกันและกัน เพราะฉะนั้นเรายังสามารถใช้ชีวิตประจำวันกันได้ เพียงแต่เพิ่มความระมัดระวังกันมากขึ้น… 


นอกจากนี้เราควรระมัดระวังการพูดถึงเหตุการณ์นี้ต่อหน้าลูก ๆ เพราะว่าการแสดงความคิดเห็นของเรา ส่งผลต่อมุมมองของลูกได้ เช่น หากเราบอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเขาคือคนไม่ดีเขามาทำร้ายคนอื่น หรือคนนี้เขาคือคนที่ทำพลาดทำสิ่งที่ไม่ดีทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ว่าเราจะพูดถึงเรื่องนี้อย่างไร ให้คำนึงเสมอว่า… เด็กจะรับรู้เหตุการณ์นั้นตามที่เราอธิบายไว้ ดังนั้นการพูดตามความเป็นจริงโดยไม่ใส่อารมณ์หรือเอนเอียงไปฝั่งใดฝั่งหนึ่งมากจนเกินไป จะเป็นประโยชน์ต่อเด็ก ทำให้เด็กได้ฝึกการมองโลกตามความเป็นจริง มี Empathy และไม่ด่วนตัดสินเหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่รีบเชื่อสื่อมากเกินไป คิดให้รอบด้าน เป็นต้น ซึ่งการที่เด็กจะมีทักษะเหล่านั้นได้ พ่อแม่อย่างเราก็ต้องคิดและแสดงออกให้เป็นแบบอย่างของลูกนั่นเอง


ทำให้เด็กมั่นใจว่าเขาจะปลอดภัยแทนการข่มขู่ให้กลัว

เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้หากความรู้สึกกลัวของเด็ก ๆ นั้นยังคงอยู่ต่อเนื่อง ดังนั้นการที่เราแสดงออกให้เขารับรู้ว่าเราจะอยู่กับเขาเสมอและเรายอมรับทุกความรู้สึกของเขา ไม่รีบตัดสินหรือทำให้เด็กรู้สึกกลัวมากกว่าเดิม เช่น “โอ้ยจะกลัวอะไร เลิกกลัวได้แล้ว” “เห็นไหมเนี่ยถ้าดื้อก็จะโดนแบบนี้” หากเราพูดแบบนี้ยิ่งจะส่งผลร้ายต่อความรู้สึกของลูก ทำให้รู้สึกหวาดกลัว ไม่มีที่พึ่งทางใจ และไม่สามารถจัดการอารมณ์ของตัวเองได้ ซึ่งเราสามารถเป็นตัวอย่างการจัดการอารมณ์ให้ลูกได้ เช่น “บางครั้งแม่ก็กลัวนะ เวลากลัวแม่ก็จะบอกคนที่แม่สบายใจ ซึ่งหนูสามารถบอกแม่ได้เสมอเวลาที่ลูกกลัวนะ”


จำกัดการเข้าถึงสื่อที่มีความรุนแรงหรือแหล่งข่าวที่บิดเบือน

เราควรจำกัดการเข้าถึงสื่อที่มีความรุนแรงและไม่เหมาะสมต่อการเสพสื่อของเด็ก นอกจากนี้ควรแก้ไขความเข้าใจผิดของเด็กที่ได้รับอิทธิพลมากจากสื่อ และควรหลีกเลี่ยงที่จะให้เด็กเห็นภาพเหตุการณ์ความรุนแรงโดยตรง


สังเกตอารมณ์และความเครียดของเด็ก เพื่อเข้ารับการรักษาหากจำเป็น

เนื่องจากการที่เด็กตกอยู่ในสถานการณ์กราดยิงนั้น สามารถส่งผลกระทบต่อจิตใจของเด็กได้ไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน บางครั้งเด็กยังมีความเครียดวิตกกังวลอยู่ แต่อาจสื่อสารถึงเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากลำบาก  และสะท้อนออกมาเป็นอารมณ์และพฤติกรรม เช่น อารมณ์เศร้าซึม เครียดและกังวล เก็บตัวมากขึ้น ตัวติดกับพ่อแม่มากขึ้น ไม่อยากไปโรงเรียน หรือไม่อยากห่างจากครอบครัว นอนไม่หลับ ฝันร้าย หงุดหงิดใจ หากเด็ก ๆ มีลักษณะเหล่านี้ให้ลองคุณพ่อคุณแม่ลองพูดคุยและพาเด็กเข้าพบจิตแพทย์เด็ก หรือนักจิตวิทยาเพื่อหาแนวทางการช่วยเหลืออย่างเหมาะสมต่อไป


อ้างอิง

https://news.iu.edu/live/news/28215-ask-the-expert-how-to-talk-to-kids-about-mass

https://www.nmvvrc.org/media/3tmbuhke/parents_guidelines_for_helping_youth_after_the_recent_shooting.pdf 


บทความโดย ภณิชชา ไชยกวิน

NET PaMa