window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เยาวชนคนหนึ่งกระทำผิดร้ายแรงได้ ?
เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว

-นิ้วสีแดง -

อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เยาวชนคนหนึ่งกระทำผิดร้ายแรงได้ ?


พฤติกรรมรุนแรงของเด็กที่เราเห็นอาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายทับถมซับซ้อนซ่อนอยู่ข้างใต้


วันนี้ มัมมี่Bชวนเมาท์ มีนิยายสืบสวนญี่ปุ่นสะท้อนปัญหาครอบครัวและสังคม มาชวนพ่อแม่อ่านและพูดคุยถอดบทเรียนที่ได้จากการอ่านกันค่ะ อ่านจบทำให้เห็นตัวอย่างของปัญหาว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่สามารถก่อให้เกิดเป็นปัญหาพฤติกรรม ทำให้ความคิดและจิตใจของเด็กธรรมดาคนหนึ่งกลายเป็นเด็กกล้าที่จะทำเรื่องรุนแรงทำร้ายคนอื่นถึงแก่ชีวิตโดยไม่รู้สึกผิดได้


Spoiler Alert  บทความด้านล่างนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาหนังสือ **


“นิ้วสีแดง” เป็นเรื่องราวของเด็กชายวัยมัธยมต้นคนหนึ่งที่ก่ออาชญากรรมอันน่าเศร้าและสะเทือนใจ


“นาโอมิ” เด็กชายชั้นมัธยมปีที่ 3 ภายนอกเขาดูเป็นเพียงเด็กติดเกมที่ไม่มีเพื่อน ไม่มีสังคมในชีวิตจริง

แต่ลึกลงไปในใจของเด็กชายเต็มไปด้วยปัญหาที่ซับซ้อนสะสมมาตั้งแต่วัยเด็ก จนมาวันหนึ่ง นาโอมิ ก่อเหตุล่อลวงเด็กหญิงวัยประถมอายุ 7 ปี พรากชีวิตเด็กหญิงจนถึงแก่ความตาย 


“ผมเป็นเยาวชนอยู่ ถ้าเยาวชนทำผิด พ่อแม่ต้องรับผิดชอบผมไม่เกี่ยว” นาโอมิโยนความผิดให้พ่อแม่หลังจากการก่ออาชญากรรม


มองจากภายนอก “นาโอมิ” มีครอบครัวที่ดีและสมบูรณ์ มีพ่อแม่และย่าอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างอบอุ่น แต่ในความเป็นจริง เขาเติบโตมากับความรุนแรง เย็นชา อึดอัดและความขัดแย้ง 


นาโอมิเป็นเด็กขี้โมโหเอาแต่ใจ เติบโตมาจากการเลี้ยงดูแบบประคบประหงมจากผู้เป็นแม่ แม่ไม่กล้าดุและตามใจเด็กชายทุกอย่าง


ในด้านความสัมพันธ์กับคนในบ้าน แม่แสดงท่าทีเย็นชาและไม่เคารพย่า พ่อเองก็ดูรำคาญ นาโอมิไม่เคารพและรังเกียจย่าอย่างเห็นได้ชัด พ่อแม่ไม่เคยดุเขาสักครั้งในเรื่องนี้ 


ตอนชั้นประถมนาโอมิถูกเพื่อนที่โรงเรียนรุมรังแก แต่พ่อกลับเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไม่เพียงแต่ไม่ใส่ใจกลับต่อว่าซ้ำเติม บังคับให้เขาไปสู้กับเพื่อนที่โรงเรียน


ในช่วงนั้นพ่อไม่สนใจครอบครัว นอกใจแม่ มีผู้หญิงคนอื่นและแม่ก็รู้เรื่องนี้ในที่สุด ความสัมพันธ์ในบ้านแตกร้าว


นาโอมิยังคงถูกเพื่อนรังแกมาตลอด ที่โรงเรียนไม่มีใครพูดกับเขาจนจบชั้นประถม เขาถูกโอบล้อมด้วยความรุนแรง ก้าวร้าว ความกลัว และการไร้ซึ่งตัวตนจากสังคม ความขึ้งโกรธของพ่อแม่  การตามใจจนไม่รู้ถูกผิด นาโอมิไปโรงเรียนบ้างไม่ไปบ้าง เก็บตัวอยู่ในโลกแห่งความรุนแรงของเกมที่เขาเลือกเล่น เหมือนมีเพียงแค่เกมเท่านั้นที่จะเป็นเพื่อนกับเขาได้


พ่อยังคงไม่ใส่ใจที่จะแก้ปัญหาและใช้เวลาทั้งหมดกับงาน  การเลี้ยงดูลูกทั้งหมดตกเป็นหน้าที่ของแม่ และไม่ว่านาโอมิจะทำผิดอะไร แม่จะให้ท้ายและช่วยเขาปิดบังความผิดเสมอ 

 

เมื่อรู้ว่า นาโอมิลูกชายคนเดียวของครอบครัวพลั้งมือก่ออาชญากรรม พ่อและแม่ต่างโทษกันไปมาและเลือกที่จะทำผิดซ้ำโดยการบิดเบือน เพื่อปิดบังความผิดให้กับลูก เพราะต้องการรักษาอนาคตของลูกชาย ไม่สนผิดชอบชั่วดี จบลงด้วยความเสียใจ ความสูญเสียที่ย้อนคืนกลับมาไม่ได้


พ่อแม่ได้เรียนรู้อะไรจากการอ่านเรื่องนี้ 


เราไม่ควรด่วนสรุปอะไรง่าย ๆ จากเพียงสิ่งที่เราเห็น เพราะนั่นอาจไม่ใช่ความเป็นจริงทั้งหมด 


ปัญหาพฤติกรรมรุนแรงบางอย่างของเด็ก เช่น ติดเกมจนกระทบกับชีวิตและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว ใช้สารเสพติด ก้าวร้าว อาจเป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งที่เรามองเห็น


แต่ในความเป็นจริง ปัญหามากมายได้ถูกสะสมกดทับภายใต้ภูเขาน้ำแข็งที่จมลงซึ่งเราอาจมองไม่เห็นหรือจงใจที่จะมองข้ามไป


มีหลายปัจจัยที่หล่อหลอมให้เป็นพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจของเด็กคนหนึ่งในระหว่างการเติบโตขึ้นมา เช่น ครอบครัว สังคม โรงเรียน สิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือความผิดปกติบางอย่างของเด็กเอง


#การเลี้ยงดูจากครอบครัว คือปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตซึ่งมีผลต่อพฤติกรรมเด็กอย่างมาก เด็กทุกคนต้องการความรัก การเอาใจใส่ การอบรมสั่งสอน เวลาคุณภาพ การเคารพและการให้คุณค่าและยอมรับในตัวตน ( Self-esteem) โดยเฉพาะจาก พ่อและแม่


ทุกการกระทำของพ่อแม่มีผลกับลูก ลูกจะดูในสิ่งที่พ่อแม่เป็น ทำอย่างพ่อแม่ทำ เติบโตบ่มเพาะนิสัยและพฤติกรรมจากการเลี้ยงดูและเรียนรู้ประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ผ่านมา


เมื่อลูกพบกับปัญหา พ่อแม่ควรจะเป็นที่พึ่งพิงและเป็นพื้นที่ปลอดภัยเปิดใจรับฟัง ยอมรับในความรู้สึก อารมณ์และตัวตนของลูก เคียงข้างเพื่อให้เขาเข้มแข็งพอที่จะฝ่าฟันแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้องและมีสติได้ 


บางพฤติกรรมและอารมณ์ของลูกที่เป็นปัญหาหากพ่อแม่ไม่สามารถรับมือได้เอง ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยเหลือและแก้ไข 


“การหาเงิน”คือสิ่งสำคัญในการเลี้ยงลูกคือ เรื่องจริง 

แต่ความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวนั้นเป็นรากฐานที่สำคัญมากเช่นกัน เพื่อให้เด็กคนหนึ่งเติบโตใช้ชีวิตได้อย่างมั่นคงโดยเฉพาะในวันที่เขาเผชิญกับปัญหา


“หากลูกขาดสิ่งที่สำคัญที่สุดเหล่านี้ไป ในวันหน้าอาจมีราคาแสนแพงที่พ่อแม่ต้องจ่าย “


ในวันที่ลูกทำผิดพลาด พ่อแม่ควรสอนให้ลูกรู้ว่า…


 เมื่อทำผิดต้องยอมรับโทษและผลของการกระทำ แก้ไขความผิดพลาดให้ถูกต้อง โดยเริ่มจากการ “เป็นตัวอย่างที่ดี” เปิดใจยอมรับในความผิดพลาดของตัวพ่อแม่ พร้อมแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและจริงใจ


ไม่ว่าลูกจะทำผิดพลาดร้ายแรงสักเพียงใด ถึงแม้โลกจะไม่สามารถอภัยให้กับความผิดของเขา แต่พ่อแม่จะอยู่เคียงข้างไม่ทอดทิ้ง…


ไม่ใช่เพื่อปกป้องลูกจากความผิด แต่เพื่อให้ลูก

กล้าที่จะยอมรับผิดรับโทษและผลของการกระทำของตัวเองรวมถึงแก้ไขความผิดพลาดนั้น


สิ่งที่ดีที่สุดคือ “การป้องกัน” ก่อนที่ปัญหาจะเกิด เพราะการสร้างลูกถึงจะยากและใช้เวลาแต่ดีกว่าการซ่อม และปัญหาจะ”แก้ได้” ต่อเมื่อเรา “ยอมรับและเข้าใจ” สาเหตุที่แท้จริง

NET PaMa