window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เฉลย คุณจะทำยังไงเมื่อลูกตีกัน
เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

เฉลย คุณจะทำยังไงเมื่อลูกตีกัน

ก. สาดน้ำใส่ลูก 
ข. ชวนลูกต่อยมวยกัน
ค. ตี !!!

ผิดเพราะ  การยุยงให้ทะเลาะกันจนแพ้กันไปข้างใดข้างหนึ่ง หรือการใช้ความรุนแรงเพื่อยุติความขัดแย้งของพี่น้องจะทำให้เด็กเลิกทะเลาะกันเพราะความกลัว แต่ยังคงมีความคับข้องใจและความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องยังคงบาดหมางเช่นเดิม และที่สำคัญเด็กจะขาดโอกาสในการฝึกทักษะที่จำเป็นต้องใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้ง เช่น ทักษะการควบคุมอารมณ์ ทักษะการแก้ไขปัญหา ทักษะการอยู่ร่วมกันผู้อื่น เป็นต้น รวมไปถึงเด็กอาจลอกเลียนแบบพฤติกรรมความรุนแรงนั้นๆ และนำไปใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งต่อไปในอนาคต

ข้อที่ถูกต้องคือ ควบคุมอารมณ์ตัวเองเพื่อรวบรวมสติและเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ลูก ๆ ฝึกการมีมุมมองอย่างเป็นกลางเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ให้พี่น้องปรับความเข้าใจซึ่งกันและกันได้ ชวนลูก ๆ คิดหาแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมร่วมกัน โดยสามารถทำได้ดังนี้

ใช้ความสงบสยบศึกลูกอาละวาดตีทะเลาะแย่งของกัน 

เมื่อมีพี่น้องภาพในความฝันของพ่อแม่ คือลูกของเรารักใคร่กลมเกลียว แบ่งปันกัน ตัดภาพมาในโลกความเป็นจริง พี่น้องมักเถียงและทะเลาะกันเป็นประจำ บ้านนั้นคือเวทีมวยและแม่มักจะรับบทกรรมการมวยแล้วอีกหนึ่ง   

อันที่จริงนั้น การทะเลาะกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้และเป็นธรรมดาในการอยู่ร่วมกัน ลูกและเราควรที่จะเรียนรู้ ฝึกฝน ควบคุม จัดการและแก้ไขปัญหาได้ด้วยตนเอง 

เมื่อลูกทะเลาะกันสิ่งสำคัญที่สุด คือพ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจถึงความแตกต่างระหว่าง “การแสดงความรู้สึก” กับ “การก้าวร้าวทำร้ายผู้อื่น” ซึ่งกฎหลัก 3 ข้อในการอยู่ร่วมกันคือ  “ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่ทำลายสิ่งของ”
 

เหตุการณ์ที่เรามักจะเจอในกรณีพี่น้องโต้เถียง ทะเลาะ แย่งของกัน แบ่งได้หลัก ๆ  2 กรณี  

  1. พี่น้องทะเลาะกันด้วยคำพูดและภาษากาย เช่น งอน โต้เถียง ตะโกน แย่งของเล่น ฟ้อง แต่ไม่ได้มีการทำร้ายร่างกายกันและกัน 
  2. พี่น้องทะเลาะกันและมีการทำร้ายร่างกายกัน 

กรณีนี้ *ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องเข้าไปหยุดและแยกพี่น้องออกจากกันทันทีเพื่อสงบสติอารมณ์คนละที่ หากแย่งของเล่นกันให้พ่อแม่เก็บของเล่นชิ้นนั้นขึ้นมาก่อน  

ในกรณีจำเป็นที่ลูกต้องอยู่ในห้องเดียวกัน ควรเว้นระยะให้ทั้งคู่ห่างกัน เช่นแยกกันไปอยู่คนละมุมเพื่อสงบสติอารมณ์  (คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับบทลงโทษที่เหมาะสมเมื่อลูกทะเลาะกันได้ที่ คอร์สเรียนจัดเต็ม บทที่ 5 เทคนิคการลงโทษ)

ถัดไปสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ การควบคุมอารมณ์ตัวเอง ไม่ร้อนไปตามอารมณ์ลูก ใช้ความนิ่งสงบสยบอารมณ์โกรธ ไม่ตะโกนหรือตวาดลูก ใช้น้ำเสียงที่เข้าใจ แต่หนักแน่นแสดงให้ลูกรู้ว่า “แม่เอาจริง” 

“ลูกตีกันเพราะแย่งของเล่น แม่รู้ว่าโกรธ เราโกรธได้แต่เราจะไม่ทำร้ายคนอื่น ของเล่นชิ้นนี้แม่จะเก็บไว้ก่อน เมื่อลูกใจเย็นและพร้อมค่อยคุยดี ๆ ค่อยมาตกลงกันแล้วเล่นกันต่อ” (การพูดเช่นนี้เรียกว่า "ข้อความป๊าม้า" พ่อแม่สามารถเรียนรู้การฝึกใช้ข้อความป๊าม้าได้ที่ คอร์สเรียนจัดเต็ม บทที่ 2 ทักษะพื้นฐานในการสื่อสาร)  

มื่ออารมณ์ลูกเย็นลงพร้อมที่จะคุยควรปล่อยให้ลูกพูดคุยตกลงกันเอง รอให้พี่น้องได้ถกเถียง เรียบเรียงเหตุการณ์แก้ปัญหาด้วยกันเองก่อน หากลูกตกลงกันได้ก็จะถือเป็นอีกก้าวในการเรียนรู้และรับมือกับความขัดแย้ง  

  

หากลูกต้องการคนรับฟัง พ่อแม่ตัองเป็นคนกลาง “รับฟัง” เพื่อช่วยให้ลูกได้เรียบเรียงสาเหตุปัญหา ให้โอกาสลูกในการจัดการอารมณ์ตัวเองขณะเล่า สื่อสารกับลูกให้ชัดเจนว่า แม่รับฟังแต่จะ “ไม่ตัดสิน” อย่าพยายามหาคนถูกผิด เพราะไม่ว่าผลการตัดสินจะเป็นอย่างไรแม่จะลำเอียงในสายตาอีกฝ่ายทันทึ  

“แม่ฟังเพื่อช่วยให้ลูกแก้ปัญหากันเอง แม่จะฟังทุกคน แต่กติกาของเราคือ เวลาที่อีกคนเล่า ที่เหลือต้องฟัง ไม่พูดแทรกจนกว่าจะถึงตาเราเล่า ไม่อย่างงั้นแม่จะหยุดฟัง ตกลงไหม ลูกตกลงกันใครจะเล่าให้แม่ฟังก่อน”

  

ระหว่างการฟัง หากมีการพูดแทรกหรือเถียงกัน พ่อแม่ต้องรักษากติกาที่ตกลงกันไว้อย่างเคร่งครัด ซึ่งจะเป็นการสอนลูกในเรื่อง การเป็นผู้ฟังที่ดี เคารพในกติกา และเคารพผู้อื่นด้วย   

“ตอนนี้เป็นเวลาพี่เล่า ถ้าลูกยังพูดแทรก เราจะฟังไม่เข้าใจ หากลูกพูดแทรกหรือเถียงพี่อีก  แม่จะหยุดฟัง รอลูกพร้อมเมื่อไหร่เราค่อยมาคุยกันนะ” 

 

ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ในเวลาที่ทะเลาะกัน ต่างฝ่ายมักจะสนใจแต่ความรู้สึกของตัวเอง ไม่ได้คิดถึงสาเหตุและปัญหาที่แท้จริง เมื่อลูกเล่าจบพ่อแม่สามารถช่วยสรุปและชี้ให้ลูกเห็นถึง “ปัญหา” หลังจากสรุป ให้เปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความเห็นเพื่อแก้ปัญหานั้นไปด้วยกัน 

 

“แม่เข้าใจว่า ของเล่นชิ้นนี้เป็นของพี่ น้องหยิบมาเล่นโดยไม่ได้ขอ พี่โกรธที่น้องไม่ยอมคืนให้ แย่งกันแล้วพี่ก็ตีหนู น้องเจ็บและเสียใจ แม่อยากให้ลูกช่วยกันหาทางออกว่าเราจะแก้ปัญหานี้อย่างไร”  

“ลูกรู้สึกผิดที่ตีน้อง แต่ลูกก็โกรธที่น้องไม่ขอก่อนและไม่ยอมคืน ลูกอยากขอโทษน้อง และครั้งหน้าอยากให้น้องขออนุญาติลูกก่อนเอาของลูกไปเล่นใช่ไหมจ๊ะ” 

“น้องยอมรับว่าผิด แต่เจ็บและเสียใจที่พี่ตี ลูกอยากขอโทษพี่เหมือนกัน และคราวหน้าลูกจะขอพี่ก่อน ลูกอยากให้พี่บอกลูกดี ๆ ใช่ไหมจ๊ะ“   

“แม่ดีใจ ที่ลูกรับฟังและแก้ปัญหากันเองได้ แม่ชอบที่ลูกเล่นกันดี ๆ นะจ๊ะ” 

  

ทุกครั้งที่เกิดการทะเลาะกัน เป็นโอกาสในการเรียนรู้  หากเราให้โอกาสลูกที่จะเรียนรู้ จัดการควบคุมอารมณ์ตัวเอง หาสาเหตุของปัญหาและทางแก้ไขด้วยตนเองร่วมกันได้ จะเป็นการพัฒนาทักษะการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นและรู้จักวิธีรับมือเมื่อเกิดความขัดแย้งได้อย่างดี

หากคุณพ่อคุณแม่สนใจเรียนรู้เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกเพิ่มเติม สามารถลองเรียนฟรี ๆ ได้ที่ คอร์สจัดเต็มของเน๊ตป๊าม้า นะคะ บอกเลยว่ามีทั้งคลิปละครให้ดูเป็นตัวอย่างแถมยังมีแบบฝึกหัดให้ลองทำ สนุกและได้ความรู้ที่ใช้ได้จริงกลับไปแน่นอนค่ะ

 

บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์ 



NET PaMa