window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ชวนพ่อแม่แก้ปัญหาพี่อิจฉาน้องเล็ก
เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

ชวนพ่อแม่แก้ปัญหาพี่อิจฉาน้องเล็ก 

บทความโดย แม่มิ่ง


เชื่อว่าหลาย ๆ ครอบครัวคงประสบปัญหาพี่อิจฉาน้องเล็ก ดังเช่นเหตุการณ์ของครอบครัวนี้ใช่ไหมคะ


“ลูกคนโตอายุ 3 ขวบกว่าแล้ว เคยทำอะไรได้เองหมดทุกอย่าง แต่พอคุณแม่คลอดน้องเบบี๋แล้วพากลับมาบ้านพฤติกรรมของพี่คนโตเริ่มเปลี่ยนไปอย่างเห็นได้ชัด ฉี่รดกางเกงมั่งหละ ร้องไห้เพื่อให้แม่ป้อนข้าวมั่งหล่ะ ทั้ง ๆ ที่ปกติก็รับประทานข้าวได้เอง บางทีก็ร้องไห้ไม่หยุดขณะที่แม่ป้อนนมน้อง”


หากเจอเหตุการณ์แบบนี้ น่าเห็นใจทั้งคุณพ่อคุณแม่กับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของลูก และรู้สึกสงสารพี่คนโตจะรู้สึกอย่างไร ในเมื่อถูกเลี้ยงแบบลูกคนเดียวมาตลอด แต่อยู่ดี ๆ เพียงแค่ชั่วข้ามคืนที่น้องเล็กกลับมาบ้าน โลกใบน้อย ๆ ของพี่คนโตก็เปลี่ยนไป ทุกคนพากันพุ่งความสนใจไปที่น้องคนเล็กที่มาใหม่ !!! น้องจะทำอะไรก็ดูน่ารัก น่าเอ็นดูไปหมด แม่ของหนู หนูก็หวงนะ ไม่อยากแบ่งแม่ให้ใครเลย รักน้องหนูก็รัก เพราะน้องตัวเล็ก ๆ น่ารักเหมือนตุ๊กตา แต่บางทีก็แอบหมั่นไส้ จิตใจสับสนไปหมด ทำยังไงดี นี่คือ เสียงที่ดังก้องในใจของลูกคนโตที่กำลังรู้สึกว่าอยู่ดี ๆ มาถูกแย่งความรักจากแม่ไป

แบบนี้ปล่อยไว้ไม่ได้ค่ะ มาแก้ปัญหาคาใจให้พี่คนโตกันดีกว่า ป้องกันปัญหาพี่อิจฉาน้องได้อีกด้วย


สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยพี่คนแรกได้ คือ


ต้องสร้างความมั่นใจให้ลูกคนแรก แม้จะมีน้องใหม่ แต่ลูกก็ยังเป็นคนที่พ่อแม่รักที่สุดเหมือนเดิม หรือมากกว่าเดิมเสียอีก


ชวนพี่เป็นผู้ให้ความรักแก่น้องเล็ก ด้วยการช่วยคุณแม่ดูแลน้อง หยิบจับข้าวของเครื่องใช้ให้น้อง หยิบผ้าอ้อม แพมเพิส ช่วยกล่อมน้องนอน เท่าที่พี่คนโตพอจะทำได้ เมื่อพี่มีส่วนร่วมในการดูแลน้องเล็ก เขาจะซึมซับความอ่อนโยน และเข้าใจได้เองว่า น้องยังเล็กมาก ยังไม่สามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด เมื่อพี่เกิดความเข้าใจ ความรู้สึกน้อยใจ หรือขัดแย้งในใจตนเองจะค่อย ๆ ลดลง และอย่าลืมคำชมที่พี่ช่วยดูแลน้องเล็กอย่างอ่อนโยนด้วยนะคะ


จัดเวลาพิเศษให้พี่คนโต สักวันละ 1 – 2 ชั่วโมง เพื่อให้มีเวลาในการทำกิจกรรมด้วยกันเหมือนเดิม เช่น เล่น หรืออ่านหนังสือด้วยกัน  ออกไปเดินเล่นด้วยกัน โดยฝากให้คุณพ่อหรือบุคคลที่ไว้วางใจช่วยดูแลให้


ให้คุณพ่อหรือบุคลลอื่นที่ลูกคนโตรักและไว้วางใจมาช่วยดูแลเขา ในเวลาที่คุณแม่กำลังยุ่งอยู่กับการดูแลน้อง เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าถูกทอดทิ้งให้อยู่กับคนอื่น


แสดงความรักความเอาใจใส่ต่อลูกดคนโตให้มาก ๆ และสม่ำเสมอ บอกลูกบ่อย ๆ ว่า “แม่รักหนูมากขึ้นทุกวัน ยิ่งมีน้องแม่ก็ยิ่งรักหนูมากขึ้นอีกนะ”


รักษาอารมณ์ของตนเอง อดทน อดกลั้นให้มาก ไม่ตามใจลูกจนเสียนิสัยและไม่ดุว่าตำหนิลูกเมื่อเขามีพฤติกรรมถดถอย ต้องการให้พ่อแม่มาดูแลเหมือนเด็กเล็ก ๆ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกต่อต้านและแสดงพฤติกรรมรุนแรงมากขึ้น


สำหรับพฤติกรรมถอถอยที่เกิดขึ้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องกังวลนะคะ ทักษะต่าง ๆ ที่ลูกเคยทำได้ เขายังสามารถทำสิ่งเหล่านั้นได้อยู่ เพียงแค่ใจยังไม่พร้อม แต่เมื่อได้รับความมั่นใจโดยเฉพาะมั่นใจในความรักของพ่อแม่ พฤติกรรมดี ๆ เหล่านั้นจะกลับมาเหมือนเดิมแน่นอนค่ะ แถมยังรักและเข้าใจน้องมากขึ้น และเข้าใจว่าตนเองไม่ได้ถูกแย่งความรัก เมื่อเติบโตขึ้นพี่น้องจะรักและสามัคคีกันอีกด้วยเพราะได้ช่วยดูแลไปพร้อม ๆ กับคุณพ่อคุณแม่ตั้งแต่น้องยังเล็ก ๆ นั่นเอง หากคุณพ่อคุณแม่อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการปรับพฤติกรรมของลูก สามารถเรียนรู้ได้แบบฟรี ๆ ที่ คอร์สจัดเต็มสำหรับปรับพฤติกรรรมเด็กอย่างละเอียด

NET PaMa