window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ไม่อยากให้พี่น้องอิจฉาและไม่สามัคคีกันอย่าเปรียบเทียบลูก
เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว

ไม่อยากให้พี่น้องอิจฉาและไม่สามัคคีกันอย่าเปรียบเทียบลูก 

บทความโดย #มัมมี่Bชวนเมาท์


อันที่จริงแล้ว พวกเราพ่อแม่ก็ไม่ได้ตั้งใจที่จะเปรียบเทียบลูกเรากับพี่น้องหรือกับเด็กคนอื่นๆ ใช่ไหมคะ แต่เพียงเพราะความหวังดี ที่อยากจะยกตัวอย่างที่ดีใกล้ตัวมาให้ลูกได้เห็นภาพและเป็นแรงผลักดันเท่านั้น ซึ่งความปรารถนาที่แท้จริงของพ่อแม่ ก็เพื่ออยากให้ลูกของเราทำได้และทำสำเร็จเหมือนคนอื่นๆเท่านั้นเอง


"ทำไมหนูอ่านหนังสือไม่ได้ล่ะลูก ตอนพี่ ป1 พี่เค้าอ่านคล่องมากๆเลยนะ"


"ลูกดูน้องสิ น้องยังกล้าว่ายน้ำเลย ลูกเป็นพี่โตกว่าทำไมถึงกลัว ไปเร็วๆ ลองดูอีกที"


"คนพี่เค้ามีน้ำใจค่ะ ทำอะไรคิดถึงคนอื่นเสมอ คนเป็นแม่ก็ชื่นใจแบบนี้"


หากถูกเปรียบเทียบแบบนี้ พ่อแม่คิดว่าลูกของเราจะรู้สึกอย่างไร และหากถ้าเป็นตัวเรา เราจะรู้สึกอย่างไรนะ หากมีคนพูดประโยคเหล่านี้กับเราบ้าง


"คุณลองดูภรรยาบ้านนั้นสิ เลี้ยงลูกไปด้วยทำงานไปด้วย เก่งรอบด้าน แถมยังสวยดูแลตัวเอง คุณน่าจะเอาอย่างเค้าบ้างนะ"


"รุ่นน้องเค้าเพิ่งเข้ามาใหม่ แต่ทำงานได้ไว แถมยังผลงานดี  คุณเป็นรุ่นพี่ทำงานมานานแล้ว ยังทำได้ช้ากว่าน้อง ผมว่าคุณน่าจะพิจารณาปรับปรุงตัวได้แล้ว"


"ดูพ่อบ้านโน้นสิ ช่วยเลี้ยงลูก เล่นกับลูก ช่างเป็นพ่อที่ดีจริงๆ โอย ! เห็นแล้วอิจฉา"


หากมีคนมาเปรียบเทียบเรากับคนๆหนึ่งอยู่บ่อยๆ โดยบอกว่าเราด้อยกว่า แย่กว่า ควรจะเอาคนนั้นเป็นแบบอย่าง นานๆ เข้า เราจะรู้สึกกับคนที่เราโดนเอาไปเปรียบเทียบบ่อยๆ อย่างไร ถึงแม้คนๆนั้นอาจจะไม่ได้ทำอะไรเราเลยก็ตาม 


"อึดอัด ไม่อยากเจอ ไม่อยากอยู่ใกล้เพราะจะโดนเปรียบเทียบอีก หรือบางครั้งความรู้สึกอาจรุนแรงขึ้นจนกลายเป็นความอิจฉาหรือไม่ชอบหน้าในที่สุด"


ทุกครั้งที่พ่อแม่เปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง ถือเป็นการ สร้างบาดแผลในจิตใจลูกทีละเล็กละน้อยโดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อถูกเปรียบเทียบบ่อยๆจะส่งผลต่อความรู้สึกของลูกดังนี้


ลูกจะรู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่า ( Low Self-Esteem) เคยมีคำกล่าวว่า วาจาพ่อแม่ศักดิ์สิทธ์เสมอ เมื่อพูดบ่อยๆว่าลูกเป็นอย่างไร ลูกก็มักจะเป็นอย่างนั้น หากพ่อแม่เปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง หรือกับเด็กคนอื่นๆ บ่อยๆ ลูกจะรู้สึกว่า ฉันไม่เก่ง ฉันไม่ดีพอ ฉันไม่มีคุณค่าแม้แต่กับพ่อแม่ของตัวเอง ในสายตาพ่อแม่ พี่น้องและคนอื่นดีกว่าฉันเสมอ นานเข้าลูกก็จะยิ่งขาดความมั่นใจในตัวเอง 


ต่อต้านพ่อแม่ เราคิดว่าการเปรียบเทียบจะทำให้ลูกเห็นตัวอย่างที่ดีแล้วฮึดสู้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว โอกาสนั้นเกิดขึ้นได้แต่น้อยมากๆ โดยความรู้สึกของลูกที่จะเกิดขึ้นเมื่อถูกเปรียบเทียบ มักจะเป็นความรู้สึกทางลบเช่น 


“ในเมื่อเป็นคนดีที่สุดในสายตาพ่อแม่ไม่ได้ เป็นคนที่แย่และไม่เอาไหนที่สุดก็แล้วกัน !”  


"ทำดีแทบตาย เราก็สู้พี่น้อง สู้คนอื่นไม่ได้ในสายตาพ่อแม่ แล้วเราจะทำไปเพื่ออะไร"


ทำให้เกิดความรู้สึกพ่อแม่ลำเอียงรักลูกไม่เท่ากัน เพราะการเปรียบเทียบทำให้ลูกรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม พ่อแม่รักพี่น้องมากกว่า ส่วนตนพ่อแม่ไม่รักทำอย่างไรก็ไม่ดีพอ ไม่มีค่าในสายตาพ่อแม่ทั้งนั้น


เกิดเป็นความอิจฉาแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพี่น้อง หากรู้สึกว่าทำไมลูกไม่รักไม่สามัคคีกัน ลองเปิดใจถามตัวเองว่า ส่วนหนึ่งเราเคยเผลอเปรียบเทียบลูกบ่อยๆ หรือไม่ 


คนเราทุกคนเกิดมาต่างกัน ถึงเป็นพี่น้องก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเหมือนกัน การเปรียบเทียบ จะทำให้ลูกเกิดความรู้สึกคนใดคนหนึ่งด้อยกว่า นำพาความรู้สึกด้อยค่า น้อยเนื้อต่ำใจให้กับลูกที่ถูกเปรียบเทียบเสมอ และอาจจะทำให้ลูกอีกคนรู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่า เป็นคนสำคัญกว่า ทำให้เกิดการแข่งขัน ชิงดีชิงเด่นกัน เพราะอยากจะได้รับการยอมรับจากพ่อแม่ จนกลายเป็นอิจฉาริษยาไม่สามัคคีกันในที่สุด  


หากอยากให้ลูกรักและสามัคคีและไม่อิจฉากันสิ่งที่พ่อแม่ทำได้คือ 


หยุดการเปรียบเทียบลูกกับพี่น้อง หรือกับเด็กคนอื่นๆ ทำความเข้าใจว่า คนเราทุกคนมีความแตกต่างกัน ยอมรับในตัวตนข้อดี ข้อด้อยของลูกแต่ละคน


"คนเราไม่เหมือนกัน ลูกก็มีความถนัดของลูกเอง เพียงแค่ทุกคนฝึกฝน และพยายาม แม่มั่นใจว่า เราทุกคนทำได้ อาจจะแค่ช้าเร็วต่างกัน แม่เป็นกำลังใจให้ลูกนะจ๊ะ"


หลีกเลี่ยงการชมลูกคนหนึ่งต่อหน้าลูกอีกคนหนึ่ง ถึงจะไม่ได้เป็นการเปรียบเทียบโดยตรง แต่คำชมอีกคนต่อหน้าบ่อยๆ อาจจะทำให้เด็กอีกคนรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง  เช่น ชมน้องต่อหน้าพี่บ่อยๆ


"หนูเป็นเด็กมีน้ำใจจริงๆที่ช่วยแม่ทำงานบ้าน" 


จะทำให้คนพี่เข้าใจว่า “แม่หมายถึงเขาเป็นเด็กไม่มีน้ำใจ” ต่อหน้าลูกทั้งสอง แม่อาจจะพูดว่า  "ขอบใจมากนะจ๊ะ ที่หนูมาช่วยงานบ้านแม่" และค่อยหาโอกาสชมเชยลูกในเวลาอยู่กันสองต่อสอง 


พูดในสิ่งที่อยากให้ลูกทำหรือปรับปรุง โดยบอกความต้องการและความรู้สึกของแม่ให้ชัดเจนโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น 


“แม่ไม่ชอบเลย ที่เห็นห้องลูกรกเลอะเทอะ ของควรจะวางจัดเก็บเป็นที่จะได้หาง่ายนะจ๊ะ “


“แม่รู้ว่าการอ่านฝึกหนังสือเป็นเรื่องยากจริงๆ  แต่ถ้าหนูค่อยๆ ฝึก แม่ว่าลูกจะทำได้แน่ๆ เรามาพยายามและฝึกไปด้วยกันนะจ๊ะ “


สนับสนุนศักยภาพที่แตกต่างของลูกแต่ละคน เพราะเด็กทุกคนมีความถนัดที่ต่างกัน พ่อแม่สามารถสนับสนุน ส่งเสริม โดยมอบความรักความเข้าใจ เป็นกำลังใจให้ลูกประสบความสำเร็จตามความถนัดของตน


ชื่นชมในความพยายามของลูก ไม่เน้นไปเพียงที่ผลลัพธ์ หากพ่อแม่ยอมรับและเชื่อมั่นในตัวลูก คอยเป็นกำลังใจให้ลูก ก็จะทำให้ลูกแต่ละคนยอมรับและมีความเชื่อมั่นในตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน


“เพลงเปียโนบทนี้ยากจริงๆ แต่แม่เห็นลูกตั้งใจซ้อมมากจริงๆ แม่ภูมิใจในความพยายามของลูกมากๆ นะจ๊ะ แม่เป็นกำลังใจให้นะลูก”


“เมื่อคืนอ่านหนังสือจนดึกเลย เหนื่อยไหมลูก พ่อชื่นใจจริงๆ ที่เห็นความตั้งใจของลูก”


ความหวังของพ่อแม่ คือ การเห็นพี่น้องรักกัน สามัคคี กลมเกลียว และเป็นเพื่อนกันไปตลอดชีวิต อย่าปล่อยให้การเปรียบเทียบลูก ความปรารถนาดีโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่ มาเป็นบ่อนทำลายความรักและความสัมพันธ์พี่น้องของลูกเลยนะคะ ❤️

ถ้าหากพ่อแม่ท่านใดสนใจวิธีดีๆที่จะคุยกับลูกรักทั้งสองแบบเชิงบวก อยากแนะนำให้ลองมาเรียนรู้ฟรี ๆ ที่

คัมภีร์การเลี้ยงลูกแบบจัดเต็ม นะคะ เรามีคลิปตัวอย่างให้ดูเพลินๆแถมได้ความรู้ที่นำไปใช้ได้จริงอีกด้วยค่ะ
NET PaMa