window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
'พี่น้องอิจฉากัน' ปัญหา(โลกแตก) ที่พ่อแม่มักต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง
เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

“ก็แม่รักน้องมากกว่าหนู” “ก็พ่อรักพี่มากกว่าหนู” 

บทความโดย #น้องตัวกลม


ปัญหา(โลกแตก) ที่พ่อแม่มักต้องเผชิญอยู่บ่อยครั้ง ด้วยเรื่องพี่น้องอิจฉากัน หรือลูกมักรู้สึกว่าได้รับความรักจากพ่อแม่ไม่เท่ากัน แม้ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ของครอบครัวที่มีลูกมากกว่าหนึ่งคน ที่พ่อแม่มักต้องพบเจอ แต่หากละเลยความรู้สึกลูกอยู่เสมอ และไม่รีบแก้ไข นั่นอาจกลายเป็นเหมือนละครพี่น้อง “กาสะลอง ซ้องปีบ” ในอนาคตเมื่อลูกโตขึ้นก็เป็นได้


สัญญาณเตือนเมื่อลูกรู้สึกไม่ได้รับความรัก


เด็กแต่ละคนนิสัยไม่เหมือนกัน บางคนพูดออกมาตรงๆ แสดงออกมาอย่างชัดเจน แต่บางคนไม่พูดออกมา เก็บสิ่งที่เขารู้สึกน้อยใจไว้ข้างใน และแสดงอาการอย่างอื่นออกมาแทน หากสังเกตพฤติกรรมของเขาจริงๆ พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดก็คงพอจะเดาได้ว่าลูกของเรากำลังรู้สึกว่าพ่อแม่ลำเอียงอยู่หรือเปล่า เช่น


รับบทนักต่อสู้ ลูกจะแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวที่ไม่ใช่การ์ตูนกังฟูแพนด้า แต่แสดงออกถึงความรุนแรงอย่างเห็นได้ชัดอย่างการ อาละวาด โวยวาย ตีน้องเพื่อแย่งสิ่งที่เขาอยากได้


รับบทเรียกร้องความสนใจ เด็กบางคนไม่ได้แสดงออกถึงพฤติกรรมรุนแรงชัดเจนก็จริงอยู่ แต่ตรงกันข้ามเขามักจะแสดงออกถึงอาการป่วยไข้ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง แสดงออกถึงความอ่อนแอ เพื่อให้พ่อแม่รู้สึกสงสาร เห็นใจเขา และอยากให้มาสนใจเขาบ้าง


รับบทเก็บตัว ลูกจะเริ่มมีพฤติกรรมเก็บตัวเงียบ เริ่มเล่นคนเดียว ไม่สุงสิงกับใคร อยู่ในโลกของตัวเองมากกว่าปกติ


ซึ่งพฤติกรรมเด็กจะเปลี่ยนไปได้หลากลายอย่างเห็นได้ชัด พ่อแม่และคนใกล้ชิดต้องหมั่นคอยสังเกตดู ว่าลูกมีพฤติกรรมแปลกไปจากเดิมไหม


ถ้าลูกเสียความรู้สึกไปแล้ว…ไม่ได้แปลว่าซ่อมไม่ได้


หากบางครอบครัวอาจรับรู้ได้ว่าลูกรู้สึกไปแล้วว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า หรือมีพฤติกรรมข้างต้นที่กล่าวไป ก็ไม่ได้แปลว่าคนเป็นพ่อแม่จะแก้ไขไม่ได้ เพราะฉะนั้นพ่อและแม่อย่าเพิ่งรู้สึกผิดกับตัวเอง หรือคิดว่าเราไม่ดีพอ แต่เพียงแค่เริ่มปรับเปลี่ยน ค่อยๆ เข้าใจ 


ลองเข้าไปอยู่ในหัวใจของลูก เพื่อรับฟังถึงสิ่งที่เขาอยากจะบอกกับเราบ้าง โดยเริ่มได้จาก


เริ่มพูดคุย สิ่งแรกที่ควรให้ความสำคัญคือการพูดคุยกับลูก ให้เขาสะท้อนความรู้สึกที่มีอยู่ข้างใน เพื่อให้ลูกรู้สึกไว้ใจ และรับรู้ได้ว่าแม่อยู่ทีมเดียวกับเขาเสมอ เช่น 


“แม่เข้าใจหนู แม่รักหนูเหมือนเดิมเพียงแค่น้องยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ตอนหนูเล็กๆ แม่ก็เลี้ยงหนูแบบน้องเลย”


“วันนี้ลูกอยากกินอะไร อยากกินของโปรดที่หนูชอบไหมคะ” พยายามให้เขามีส่วนร่วมในการแชร์ไอเดีย และเลือกที่จะฟังให้มากขึ้น พูดคุยกับเขาให้มากขึ้น


เริ่มให้ลูกใกล้ชิดกับน้อง ถ้าสำหรับพ่อแม่ที่มีลูกเล็กก็สามารถเรียกลูกคนโตให้ช่วยหยิบขวดนมน้องบ้าง หรือช่วยหยิบผ้าอ้อมน้อง และบอกเขาว่าลูกเป็นพี่ที่ดี ช่วยแม่ดูแลน้องตลอดเลย สิ่งนี้จะช่วยให้เขารู้สึกภูมิใจ และรู้สึกว่าแม่ไว้ใจในตัวของเขา


เริ่มหากิจกรรมที่ทำร่วมกัน พ่อแม่หลายคนอาจเคยคุ้นหูกับคำว่า “One On One Time” ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามความต้องการของลูกกับพ่อแม่ในหนึ่งวันได้อย่างเต็มที่ เช่น พาไปทำกิจกรรมที่เขาขอ พาไปกินของอร่อยๆ ที่เขาอยากไป ซึ่งนั่นจะทำให้ลูกรับรู้ถึงความสำคัญของเขา รับรู้ถึงความรักที่พ่อแม่มีให้เขา แถมยังช่วยให้พ่อแม่รู้ถึงนิสัยและบุคลิกส่วนตัวของลูกเราได้อีกด้วย


สุดท้ายนี้ขอฝาก…แม้ว่าลูกจะเดินมาบอกว่าพ่อแม่รักน้องมากกว่า หรือเขาอิจฉาน้อง เกลียดน้อง พ่อและแม่ก็ไม่ควรตำหนิลูก แต่ควรปรับความเข้าใจ ค้นหาสาเหตุว่าอะไรทำให้ลูกรู้สึกแบบนั้น และต้องไม่ลืมที่จะพูดขอโทษและชื่นชมเขาที่มีความกล้าบอกให้พ่อและแม่รับรู้ถึงสิ่งที่ผิดพลาดไป ถ้าอยากเรียนรู้เพิ่มเติม สามารถเรียนรู้เกี่ยวกับเทคนิคการลงโทษเมื่อลูกตีกันได้ใน คอร์สเรียนจัดเต็มสำหรับเรียนรู้เทคนิคการปรับพฤติกรรมลูกอย่างละเอียด ได้แบบฟรี ๆ เลยนะคะ

NET PaMa