window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
“เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” ความเชื่อที่ทำให้ลูกเป็นทุกข์เพียงเพราะเกิดมาเป็นพี่
เมื่อ 7 เดือนที่แล้ว

“เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” ความเชื่อที่ทำให้ลูกเป็นทุกข์เพียงเพราะเกิดมาเป็นพี่
บทความโดย #มัมมี่Bชวนเมาท์


“น้องยังเล็กอยู่หนูให้น้องก่อนนะ” “หนูมีน้ำใจไหมเป็นพี่แบ่งให้น้องไม่ได้เหรอ“ “แม่บอกให้น้องก่อนไง โตกว่าลูกเสียสละได้ไหม“


พวกเราพ่อแม่เคยคิดไหมคะว่า…เราได้อะไรจากการสอนให้ลูกคนพี่เสียสละให้น้อง


“พี่มีน้ำใจกับน้อง รักน้องจะทำให้น้องรักพี่ ลูกจะรักกัน ช่วยเหลือดูแลกัน” นี่คือความหวังดีและเป็นสิ่งที่พ่อแม่คาดหวังที่จะให้เป็นใช่ไหมคะ


เพราะหลายคนมีความเชื่อว่า “การเสียสละ” เป็นคุณสมบัติของคนดีมีน้ำใจ จึงมีการสอนและปลูกฝังเรื่องการเสียสละให้กับเด็ก ๆ และมีความเชื่อหนึ่งที่ถูกส่งต่อกันมาจากครอบครัวรุ่นสู่รุ่นว่า “คนเป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง” เหตุผลเพราะ พี่โตกว่า รู้เรื่องกว่า ต้องรู้จักอดทนอดกลั้น เสียสละให้น้อง และเมื่อพี่รู้จักเสียสละก็จะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับน้องๆ คนอื่นอีกด้วย หลายครั้ง ที่เรายึดติดกับความคิดและค่านิยมที่ถูกส่งต่อกันมา แม้แต่ตัวเราเองอาจเคยผ่านประสบการณ์นี้มาด้วยความเจ็บปวด แต่ก็อาจจะลืมที่จะทบทวนและรู้เท่าทัน ส่งต่อชุดความเชื่อที่เป็นมรดกแห่งความเจ็บปวดให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป


ก่อนจะสอนลูกว่า พี่ต้องเสียสละให้น้อง อยากให้พ่อแม่ลองทบทวนและตอบคำถามเหล่านี้ก่อนนะคะ 


หากพี่ต้องเสียสละเสมอคือความถูกต้อง เลือกได้ เราอยากเกิดเป็นพี่ หรือ น้อง…


ความเสียสละคือหน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง ? หรือควรมาจากความเต็มใจของทุกคนในครอบครัว


มันยุติธรรมจริงๆ หรือ หากเราไม่อยากให้ของสิ่งนี้ แต่ถ้าไม่เสียสละให้น้อง เราจะกลายเป็นพี่ที่ไม่ดีเป็นคนไม่มีน้ำใจในสายตาพ่อแม่…

หากมีสิ่งหนึ่งที่เราไม่อยากให้ แต่พ่อแม่บังคับว่าต้องเสียสละ เราจะรู้สึกอย่างไรกับพ่อแม่และน้องของเรา… 

เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้อง จริงๆแล้ว คือ ความถูกต้องชอบธรรม หรือความลำเอียง …


เมื่อถามใจตัวเอง…เรายังคงเห็นด้วยกับคำว่า “คนเป็นพี่ต้องเสียสละ” หรือไม่คะ


มีพี่น้องหลายคู่ไม่ถูกกัน ไม่รักกัน มีหลายความรู้สึกมากมายที่ระบายในโลกโซเชียล ตัดพ้อความรู้สึกคนเป็นพี่จากคำสอนที่ว่า ‘พี่ต้องเสียสละ’ ทำให้พี่เกิดความรู้สึกไม่ยุติธรรม ถูกลดคุณค่า เมื่อมีน้องและคนที่ทำให้เกิดความรู้สึกนี้คือพ่อแม่ของเขาเอง


และนี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนจากใจของลูกคนพี่ ..

“ทุกข์ อึดอัด พ่อแม่ลำเอียง รักแต่น้อง ทำไมเราต้องเกิดมาเป็นพี่ ทำไมต้องเสียสละให้ทุกอย่างกับน้อง คงจะดีถ้าไม่มีน้อง ร้ายแรงที่สุด คือเกลียดชังที่ถูกบังคับและเอาเปรียบ“ 


“ความรัก” ทำให้คนๆหนึ่งอยากให้ด้วยความเต็มใจ พ่อแม่รักลูกมาก การที่พ่อแม่ทำทุกอย่างให้ลูกนั้นไม่ใช่เพียงเพราะทำตามหน้าที่ แต่มาจากความรักและความเต็มใจ ความเป็นพี่น้องก็เช่นกัน พี่จะพร้อมเสียสละให้น้องหรือน้องพร้อมที่จะให้พี่นั้น ไม่ควรมาจากการบังคับแต่ควรมาจากความเต็มใจเมื่อพี่น้องนั้นรักกัน


แทนที่คำว่า “การเสียสละ” ด้วยคำว่า ให้และแบ่งปันด้วยความเต็มใจ ซึ่งพ่อแม่สามารถเลี้ยงลูกให้รักและแบ่งปันกันได้ดังนี้


การที่ลูกจะรักกันได้นั้นลูกจะต้องรู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นที่รักก่อน หากลูกได้รับความรักจากพ่อแม่เต็มที่โดยไม่มีเงื่อนไข ไม่ลำเอียง ลูกจะสัมผัสได้ว่าน้องมาเพื่อเติมเต็มไม่ได้มาเพื่อแย่งชิง ลูกคนพี่นั้นมักจะพร้อมที่จะส่งต่อความรักให้น้องเองด้วยความเต็มใจ


ความรักนั้นต้องมาจากการสร้างไม่ใช่การสั่ง พี่น้องต้องรักกันคำนี้สามารถพูดได้ง่าย แต่ไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ตามคำสั่ง ความรักระหว่างพี่น้องจะเกิดขึ้นได้ เมื่อลูกใช้ชีวิตใช้เวลาเติบโตไปด้วยกัน เรียนรู้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เมื่อทะเลาะก็ร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน พ่อแม่ไม่ควรตัดสินผิดถูก หรือเลือกข้าง แทรกแซงลูกให้น้อยที่สุด สิ่งเหล่านี้จะทำให้เกิดเป็นสายสัมพันธ์เป็นความผูกพันที่ทำให้พี่น้องรักและเข้าใจกัน 


“ลูกทะเลาะกัน แย่งของกัน แม่เคารพสิทธิให้ลูกตกลงตัดสินใจ แก้ปัญหานี้ด้วยกันเอง แต่กฎบ้านเรา จะไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำร้ายคนอื่น และไม่ทำร้ายของ คุยกันดีๆ นะลูก”


พ่อแม่ควรเคารพสิทธิ์ของสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยเป็นตัวอย่างที่ดี สอนให้ทุกๆคนเคารพสิทธิของกันและกัน ทุกคนมีสิทธิในตัวเองและมีสิทธิ์ในความเป็นเจ้าของ หากน้องต้องการเล่นของพี่จะต้องขอและรอให้พี่อนุญาตก่อน พ่อแม่ไม่ควรบังคับให้ลูกแบ่งเพราะจะทำให้ลูกรู้สึกไม่ยุติธรรม และต่อต้านในการที่จะแบ่งปัน


“แม่รู้ว่าหนูอยากเล่น แต่รถคันนี้เป็นของพี่ ลูกต้องขออนุญาตพี่ก่อนนะคะ“ 


“น้องอยากเล่นรถคันนี้ หนูอยากแบ่งให้น้องเล่นไหมลูก หรือถ้าหนูอยากเล่นก่อนหนูบอกให้น้องรอได้นะ ว่าหนูอยากเล่นอีกกี่นาทีแล้วค่อยให้น้องนะจ๊ะ“


ชื่นชมลูกเมื่อลูกรู้จักการให้และแบ่งปัน สำหรับเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กจะยังคงมองตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง หากลูกรู้จักการให้และแบ่งปันด้วยความเต็มใจ พ่อแม่ควรชมเชยเพื่อเป็นกำลังใจให้กับลูก ลูกจะยิ่งรู้สึกดีกับการแบ่งปันและอยากจะทำซ้ำด้วยความเต็มใจจนกลายเป็นนิสัย


“แม่รู้ว่า หนูรักของเล่นชิ้นนี้มาก แต่หนูก็ยังแบ่งให้น้องเล่น ดูสิน้องดีใจใหญ่เลย หนูมีน้ำใจมากๆ แม่ขอบคุณมากนะลูก“


เพราะการให้ควรจะมาจากใจไม่ใช่การบังคับ เป็นความสุขใจของผู้ให้และความชื่นใจของผู้รับ การที่ได้เห็นลูกของเรารักกัน ดูแลและแบ่งปันกันจากใจจริงของลูกนั้น คือภาพที่สวยงามที่สุดในชีวิตของคนเป็นพ่อแม่อย่างเราใช่ไหมคะ คุณพ่อคุณแม่สามารถเรียนรู้วิธีการปรับพฤติกรรมลูกเพิ่มเติมได้ที่ คัมภีร์การเลี้ยงลูกแบบจัดเต็ม ได้ทุกที่ ทุกเวลา และไม่เสียค่าใช้จ่ายด้วยนะคะ

NET PaMa