window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ข้อดีของความเศร้าและตัวอย่างของการเป็น support system ที่ดี
เมื่อ 8 เดือนที่แล้ว

ข้อดีของความเศร้าและตัวอย่างของการเป็น support system ที่ดี

ข้อคิดที่ได้จากหนังสุดจะจิตวิทยาจากดีสนี่ย์ เรื่อง ‘Inside Out (มหัศจรรย์อารมณ์อลเวง)’

WatchAndLearn


Inside Out (2017) หรือมหัศจรรย์อารมณ์อลเวง ถือว่าเป็นหนังดีสนี่ย์อีกหนึ่งเรื่องที่ #คุณนายข้าวกล่อง ชอบมาก! เพราะเป็นหนังที่สามารถอธิบายพฤติกรรมมนุษย์ตามหลักจิตวิทยาได้อย่างเข้าใจง่าย และทุก ๆ อย่าง ทุก ๆ รายละเอียดในแต่ละฉากที่หนังนำเสนอ ล้วนถูกต้องและตรงตามหลักจิตวิทยา หรือกระบวนการที่เกิดขึ้นในสมองมาก ๆ คือรู้เลยว่าคนทำคิดมาดีมากแล้วจริง ๆ ไม่ว่าจะตั้งแต่การเนรมิตตัวละครอารมณ์ให้มี 5 ตัวหลัก


ได้แก่ ลั้ลลา (Joy) เศร้าซึม (Sadness) กลั๊วกลัว (Fear) ฉุนเฉียว (Anger) และหยะแหยง (Disgust) ที่ตามหลักจิตวิทยาจริง ๆ ก็เป็นความจริงที่ปกติแล้วเราจะมีอารมณ์เหล่านี้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว รวมไปถึงกระบวนการต่าง ๆ ในสมองของเราจากที่หนังเล่า ไม่ว่าการเก็บความจำเข้าไปส่วนสมอง long-term memory หรือการเล่าเรื่องของ subconscious ที่เป็นที่อยู่ของสิ่งน่ากลัวที่สุด (อย่างตัวตลกยักษ์) ล้วนเป็นกระบวนการและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ในมนุษย์ตามทฤษฎีจิตวิทยาทั้งสิ้น (คุณนายข้าวกล่องเป็นอวยและเป็นปลื้มมาก ๆ ! อยากให้มีหนังดี ๆ แบบนี้อีกเยอะ ๆ เลย)

แต่นอกจากหนังจะเล่าประเด็นต่าง ๆ เชิงจิตวิทยาจ๋า ๆ ได้ดีแล้ว #คุณนายข้าวกล่อง มองว่าหนังเรื่องนี้ก็ยังให้ข้อคิดอะไรหลาย ๆ อย่างที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ด้วยเหมือนกัน ซึ่งจะเป็นเรื่องอะไรบ้าง เราลองมาดูกันเลย!


เรื่องย่อของหนัง Inside Out [เนื้อหาส่วนนี้มีการสปอยล์]

ไรลี่ย์อาศัยอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่มินิโซต้า เธอเป็นลูกผู้หญิงคนเดียว เป็นคนตลก รักเพื่อน รักครอบครัว ซื่อสัตย์ และชอบการเล่นฮอคกี้เป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งเธอได้รับแรงบันดาลใจมาจากพ่อของเธอที่เป็นโค้ชฮอกกี้ของโรงเรียน ชีวิตของไรลี่ย์นั้นมีความสุขสนุกมาโดยตลอด จนกระทั่งวันหนึ่งเธอและครอบครัวจำเป็นต้องย้ายบ้านไปอยู่ที่ซานฟรานซิสโก ความยากลำบากในชีวิตจึงได้ถือกำเนิดขึ้น ซึ่งก็รบกวนการใช้ชีวิตของคุณพ่อคุณแม่ และตัวไรลี่ย์เองไม่มากก็น้อย


ไรลี่ย์รู้สึกไม่โอเคกับการต้องมาอยู่ที่ซานฟรานซิสโกอย่างมาก เธอคิดถึงบ้าน คิดถึงเพื่อน แถมบ้านใหม่ที่มินิโซต้าก็ไม่น่าอยู่เอาเสียเลย เธอพยายามคิดบวก พยายามมีความสุข พยายามหาวิธิการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ พยายามไม่เศร้า แต่ก็ดูเหมือนว่ามันจะไม่เป็นผล แม้ว่าเธอจะได้รับคำขอบคุณที่กลายเป็นกำลังใจให้เธอได้คุณจากแม่ที่บอกว่าเธอช่วยทุเลาความกังวลใจของแม่เพราะเธอยังสามารถร่าเริงจากสถานการณ์นี้ได้ก็ตาม และด้วยความทุกข์ระทมนี้ เลยทำให้เธอเปลี่ยนไป และตัดสินใจหนีออกจากบ้านเพื่อเดินทางกลับมินิโซต้า เพราะคิดว่าจะมีความสุขมากกว่าหากอยู่ที่นั่น


แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจขอลงจากรถบัสและตรงกลับบ้านไปหาพ่อแม่ที่ซานฟรานซิสโก ระหว่างที่รถบัสกำลังออกจากสถานีขนส่ง เนื่องจากเธอยอมปล่อยให้ตัวเองรู้สึก ‘เศร้า’ ทำให้เธอกล้าร้องไห้ กล้าบอกความในใจที่เธอมีต่อพ่อแม่ว่าเธอคิดถึงบ้าน เธอไม่โอเคกับการมาอยู่ซานฟรานซิสโก เธอรู้ว่าพ่อแม่อยากให้เธอมีความสุขแต่เธอไม่สามารถมีความสุขได้เลย และนั่นเธอรู้สึกผิดมาก ซึ่งการบอกความในใจครั้งนั้นก็ทำให้พ่อแม่เข้าใจและเข้ามาช่วยเหลือไรลี่ย์ พวกเขาเข้ามาโอบกอดเธอ  และแชร์ความรู้สึกว่าพวกเขาก็คิดถึงบ้านที่มินิโซต้าเหมือนกัน และบอกด้วยว่าเราสามารถกลับไปเยี่ยมที่นั่นได้เสมอ ทำให้ไรลี่ย์กลับมาเป็นไรลี่ย์คนเดิมที่มีความสุขได้อีกครั้ง 


ในฐานะพ่อแม่ เราสามารถทำอะไรได้บ้างกับสิ่งนี้ (ในมุมมองของคุณนายข้าวกล่อง)

ความเศร้าไม่ใช่เรื่องแย่ – จากที่หนังได้นำเสนอ เราจะเห็นว่า ‘ความเศร้า’ หนึ่งในอารมณ์ที่เรามองว่าเป็นสิ่งแง่ลบสุด ๆ แท้จริงแล้วมันมีประโยชน์มหาศาลมากกว่าที่คิด เพราะความเศร้าเกิดขึ้นมาเพื่อช่วยทำให้เราสงบ ช่วยระบายความตึงเครียด ทำให้เราได้เรียนรู้และทบทวนตัวเอง ทำให้เรากล้าซื่อสัตย์ต่อตัวเอง และสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้ ซึ่งสุดท้ายแล้วมันช่วยทำให้เรามีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้นั่นเอง (อ้างอิงจากหน้าที่ของความเศร้าที่เป็นอารมณ์พื้นฐานเพื่อความอยู่รอดตามหลักจิตวิทยา!) เพราะฉะนั้น ‘appreciate ความเศร้าบ้างก็ได้’ 


ซึ่งหากเรามีมุมมองว่าความเศร้าไม่ใช่เรื่องแย่แบบนี้ (เพราะมันมีหน้าที่และประโยชน์ของมัน) มันสามารถช่วยทำให้เรายอมรับความเศร้าได้มากขึ้น และนั่นช่วยทำให้เราสื่อสารกับลูกได้มากขึ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทำให้ลูกกล้ายอมรับและเปิดเผยความเศร้ามากขึ้นด้วย (เราก็จะสามารถเข้าไปอยู่ข้าง ๆ ลูกได้ง่ายขึ้นนั่นเอง!)

‘การมี support system หรือการมีกลุ่มคนที่คอยสนับสนุนในด้านที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ!’ – แม้ว่าสุดท้ายแล้วไรลี่ย์จะรู้สึกแย่มากจนกระทั่งตัดสินใจหนีออกจากบ้าน แต่คำถามที่น่าสนใจคือสุดท้ายไรลี่ย์ ‘กล้าเศร้า’ และตัดสินใจกลับมาเศร้าต่อหน้าครอบครัวที่บ้านได้เพราะอะไร? เราเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่ไรลี่ย์กล้าทำแบบนั้นได้เป็นเพราะข้างในลึก ๆ ไรลี่ย์ยังเชื่อพ่อแม่น่าจะเข้าใจและพร้อมช่วยเหลือเธอเสมอหากเธอพูดความจริงออกไป จากการสัมผัสได้ถึงความรักและความห่วงใยที่พวกเขามีมาให้เธอตลอดสิบปี ผ่านการให้ความสนใจลูกอย่าง active

 

ดังเช่นฉากที่พ่อแม่ไรลี่ย์เข้าไปเชียร์ฮอคกี้ที่ไรลี่ย์แข่งในทุกแมทช์ หรือฉากที่พ่อแม่ไรลี่ย์ (ยัง) เข้าไปร่วมเล่นฮอคกี้ทิพย์ในบ้านใหม่ตามที่ไรลี่ย์ชวนเล่นระหว่างที่ทั้งคู่กำลังเครียดเรื่องการย้ายบ้าน หรือการแสดงความรู้สึกที่แท้จริงออกมาอย่างตรงไปตรงมา ดังเช่นฉากที่พ่อรู้สึกผิดที่โมโหตอนกินข้าว (เลยขึ้นมาขอโทษโดยไม่รู้สึกอาย) หรือฉากที่พ่อแม่กล้าแสดงความเศร้าผ่านการพูดว่าคิดถึงบ้านที่มินิโซต้าเหมือนกับไรลี่ย์ หนังเรื่องนี้จึงทำให้เราเห็นว่าการที่พ่อแม่สามารถเป็น support system ที่ดีให้ลูกได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญมากเลยทีเดียว เพราะมันช่วยส่งเสริมทำให้ลูกกล้าสื่อสารกับเรา ทำให้ลูกได้เรียนรู้ เติบโต และสามารถก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปได้อย่างงดงาม

 

และหากผู้ปกครองท่านใดอยากเรียนรู้ถึงทักษะหรือวิธีการส่งเสริมความเป็น support system ที่ดีต่อลูกเพิ่มเติมตามหลักจิตวิทยาเชิงบวก สามารถเข้ามาศึกษากันก่อนได้ที่ www.netpama.com ตรงนี้เลยนะคะ ของดีและฟรีมีอยู่จริง

NET PaMa