window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เทคนิคไม้อ่อนสอนวินัยให้ลูกอนุบาล
เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว

#เทคนิคไม้อ่อนสอนวินัยให้ลูกอนุบาล บทความโดย #แม่มิ่ง

.

วัยอนุบาลเป็นวัยเจ้าหนูจำไม อยากลอง อยากเรียนรู้ แม้เจ้าหนูจะชอบเล่นซุกซนมากแค่ไหน แต่คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมคะว่า วัยอนุบาล (3 – 6 ปี) นี่แหละที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับการสอนและปลูกฝังวินัยให้ลูกตั้งแต่วัยเยาว์ บทความนี้มีเทคนิคดี ๆมาบอกค่ะ

 

เทคนิคที่ 1 #สร้างสัมพันธ์ที่ดีแบบไม้อ่อนดัดง่าย

หากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกร่วมมือทำตาม โดยไม่ต้องปากเปียกปากแฉะกับพฤติกรรมแสบซน ลองเปลี่ยนความตั้งใจของเรามาเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี จุดเริ่มต้นสอนวินัยแทนที่จะใช้คำสั่งให้ลูกทำนั่น โน่น นี่ ลองเปลี่ยนมาเป็นชวนลูก Challenge ท้าทายให้ลูกลองทำ เช่น ชวนกันกรอกน้ำเข้าตู้เย็นให้เสร็จภายในเวลา 15 นาที แข่งกันใส่รองเท้าให้ตัวเอง เป็นต้น ทำให้งานที่แสนน่าเบื่อเป็นเรื่องสนุกสนาน ได้ยิ้ม หัวเราะกันดีกว่า ที่สำคัญเมื่อลูกทำได้อย่าลืม “คำชม” ที่พฤติกรรมและบอกด้วยว่า พ่อแม่ภูมิใจที่หนูดูแลตนเองได้ พ่อแม่ภูมิใจที่หนูมีน้ำใจช่วยแม่กรอกน้ำด้วยนะคะ

 

เทคนิคที่ 2 #ปล่อยวาง สร้าง กำลังใจ

ปกติแล้วคุณแม่มักจะเป็นผู้ที่เลือกเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายให้ลูกใช่ไหมคะ รวมไปถึงตักข้าว บางบ้านป้อนข้าวด้วยเลย เราอาจจะต้องการความรวดเร็ว เรียบร้อย แต่ในความเป็นจริงคุณพ่อคุณแม่ไม่มั่นใจในความสามารถของลูกเพราะคิดว่าลูกยังเด็ก ดังนั้น หากมีโอกาสเมื่อไร ลองปล่อยวางจิตใจตนเอง โดยปล่อยให้ลูกทำสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้สำเร็จด้วยตนเองจะดีกว่า ต่อให้อยากยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือลูกขนาดไหน อดทนไว้ค่ะ เพราะเรากำลังฝึกให้ลูกมีวินัยและความรับผิดชอบตนเอง และจะดียิ่งขึ้นอีกหากปล่อยให้ลูกลงมือแก้ปัญหาเอง โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยให้กำลังใจและแนะนำเมื่อลูกต้องการ

 

เทคนิคที่ 3 #ใจเย็นแล้วจะเย็นใจ

วัยเด็กเล็กโดยเฉพาะในช่วงวัยทอง 2 ขวบ (Terrible Two) ไปจนถึงวัยอนุบาล วัยแห่งการพูด “ไม่ ไม่ ไม่” ก็หนูอยากทำอย่างนี้ อยากทำอย่างนั้น เรียกว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพ่อแม่ จริง ๆ แล้วลูกไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบนั้นนะคะ เพียงแต่ลูกกำลังเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวด้วยตัวลูกเอง แน่นอนว่า การสู้กับลูกโดยใช้อำนาจของพ่อแม่บังคับนับว่าเป็นเรื่องยากที่เจ้าหนูจะยอมทำตามง่าย ๆ มิหนำซ้ำทั้งลูกและคุณพ่อคุณแม่เองกลับยิ่งอารมณ์เสียด้วยกันทั้งคู่ กุญแจสำคัญของการแก้ไขปัญหา คือ พ่อแม่ต้องควบคุมอารมณ์ตนเองให้ได้ก่อน เย็นไว้ เย็นไว้ (ท่องในใจวนไป) แทนที่เราจะแสดงอารมณ์หงุดหงิดให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่างพฤติกรรมไม่น่ารักที่ลูกสัมผัสได้ ยิ่งลูกอยู่ในอารมณ์เช่นเดียวกับเราเด็กจะไม่เกิดการเรียนรู้การควบคุมอารมณ์ตนเองได้เลย หากพ่อแม่ยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้

 

วิธีง่าย ๆ คือ #สอนลูกให้เรียนรู้อารมณ์ ด้วยการบอกให้ลูกรู้ถึงอารมณ์รุนแรงของตัวเองโดยไม่ตัดสินว่าลูกเป็นฝ่ายผิด เช่น “แม่ว่าตอนนี้ลูกกำลังโกรธมาก” จากนั้นบอกพฤติกรรมที่ไม่ควรทำ เช่น “ปาของเล่นแบบนี้ไม่ดีนะจ๊ะ” "หนูบอกแม่ได้ว่า หนูโมโหแล้วนะโดยที่หนูไม่ต้องปาพี่ของเล่นก็ได้นะลูกแม่ว่าพี่ของเล่นคงเจ็บน่าดู" สำหรับลูกวัยอนุบาล เริ่มมีเหตุผลเยอะขึ้น หรือเรียกว่า เถียงเป็นแล้ว

.

ให้แม่ยกตัวอย่างเหตุการณ์ขึ้นมา เช่น “มันก็จริงของลูก ดูการ์ตูนสนุกกว่าทำการบ้านอยู่แล้ว แต่แม่ว่ายังไงลูกก็ต้องทำการบ้านอยู่ดี ทำการบ้านเสร็จเรียบร้อยสบายใจ เราค่อยมาดูการ์ตูนกันใหม่ก็ได้นะ” เราไม่จำเป็นต้องดุว่าทุก ๆ พฤติกรรมของลูก เพียงแต่เราให้เหตุผลและควบคุมสติอารมณ์ของตนเองให้เย็นไว้ นิ่งไว้ การไม่ชักเย่อกับลูก แต่รู้จักผ่อนปรน ทำให้ลูกเชื่อฟังและยอมทำตามง่ายกว่าการบังคับ ออกคำสั่ง

เทคนิคที่ 4 #ลดความคาดหวัง อนุญาตให้ลูกผิดพลาดได้

พ่อแม่ทุกคนอยากเห็นลูกเป็นคนเก่งทำอะไรได้ด้วยตนเอง และจะภูมิใจทุกครั้งที่ลูกทำได้ แต่บางทีความคิดและการกระทำของพ่อแม่กลับสวนทาง โดยการทำแทนลูกไปทุกอย่างเพราะคิดว่า กลัวลูกทำไม่เรียบร้อย ลูกยังเด็กเดี๋ยวเกิดอันตราย ลูกทำไม่ได้หรอก ดังนั้น การที่พ่อแม่อยากห็นลูกเป็นคนเก่งทำอะไรได้ด้วยตนเองจึงกลายเป็นความคาดหวังว่าลูกต้องทำได้ แต่ลืมไปว่าเราไม่ได้สอนหรือปลูกฝังกันมา ทางที่ดี เริ่มต้นที่สอนลูกด้วยการทำไปด้วยกัน

 

แม้แรก ๆ ลูกอาจจะบ่นกระปอดกระแปด ไม่อยากเอา ไม่อยากทำ ลดความคาดหวังว่าลูกต้องทำได้ดีในทุก ๆ เรื่องที่สอน อย่าลืมว่า การฝึกวินัย คือ ทักษะ และคำว่า ทักษะคือการฝึกฝนประจำสม่ำเสมอ ให้เวลา และให้กำลังใจ ความคาดหวังกลับทำให้พ่อแม่และลูกเองต้องเครียด เพราะไม่ได้ดั่งใจ ทุกคนผิดพลาดได้ และควาผิดพลาดนั้นเองที่จะสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะระมัดระวัง เรียนรู้ที่จะแก้ไขปัญหา และเรียนรู้ที่จะไม่ทำผิดซ้ำอีก

 

เทคนิคที่ 5 #กฎกติกาของบ้าน

การดุว่าลูกด้วยถ้อยคำรุนแรง ถ้วยคำที่ทำร้ายจิตใจ “อย่าให้แม่เห็นว่าลูกตีน้องอีกนะ” จะยิ่งกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านมากกว่าเตือนกันอย่างตรงไปตรงมา เช่น “ถึงลูกจะโมโหน้องยังไง ลูกอย่าตีน้องนะแต่ลูกบอกน้องไปเลยว่า อย่าแย่งของพี่ ต่อไปน้องจะได้ไม่ทำอีกนะ”

 

การพูดคุยกับลูกด้วยวิธีชี้แนะ ตั้งข้อสังเกต และไม่จับผิดการกระทำของลูก จะทำให้ลูกยอมทำตามคำพูดของพ่อแม่ง่ายขึ้น เช่น “ห้องของลูกรกมากๆ เลย” เปลี่ยนเป็น “มีของเล่นอยู่บนพื้นเต็มเลย เรามาเก้บของเล่นเข้าที่กันดีกว่า”

 

จะเห็นว่า #การฝึกวินัยโดยใช้ไม้อ่อน อันดับแรกคุณพ่อคุณแม่ต้องควบคุมอารมณ์ การสอนวินัยให้แก่เด็กเล็ก จริงๆ แล้วทำได้ง่ายกว่าตอนโตมากนัก ที่สำคัญการฝึกวินัยต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ จนเกิดความเคยชิน ลูกเคยถอดรองเท้าไว้ตรงไหน ฝึกแรก ๆ อาจจะยากแต่ต่อไปเชื่อได้เลยว่า รองเท้าของลูกจะถูกวางอย่างเป็นระเบียบในที่เดิมเสมอ ขอพียงคุณพ่อคุณแม่ใช้ความอดทน ใจเย็น ให้กำลังใจ ชื่นชมเมื่อลูกสามารถทำได้ เพื่อเสิรมสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกในการทำสิ่งนี้ต่อไป ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่ทุกท่านนะคะ

.

ถ้าบ้านไหนอยากฝึกวินัยลูกในเชิงบวก อยากให้ลองมาเรียนรู้ด้วยกันฟรีๆที่ www.netpama.com นะคะ บอกเลยว่าเรามีเทคนิคดีๆให้พ่อแม่ลองใช้กันได้จริง มาลองกันนะ ❤️

NET PaMa