window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
รู้จักยอมรับลูกอย่างไม่มีเงื่อนไข
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

#PositivePsyTalks 

 

รู้จักการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข (Unconditional Positive Regard) – การสื่อสารให้ลูกรู้สึกว่า ‘ยังคงได้รับความรักและการยอมรับตัวตน’ ไม่ว่าเขาจะเป็นอย่างไรก็ตาม 

 

เชื่อว่าผู้ปกครองหลายคนอาจจะเคยได้ยินวิธีการสอนลูกด้วยคำว่า ‘อย่าด่วนตัดสินลูก’ กันมาบ้าง วันนี้เราเลยอยากจะมาขยายความถึงคำนี้กันผ่านคำศัพท์ที่ทรงพลังมากอย่างยิ่งในวงการจิตวิทยาเชิงบวก อย่างคำว่า Unconditional Positive Regard หรือแปลเป็นไทยได้ว่า ‘การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข’ 

 

คาร์ล โรเจอร์ส (Carl Rogers) นักจิตวิทยาสายมนุษยนิยม (Humanistic Psychology) เจ้าของคำศัพท์นี้ได้กล่าวว่า การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข คือการที่เรายอมรับและรักในตัวบุคคลนั้นอย่าง 100% ปราศจากข้อกังขาหรือเงื่อนไขใด ๆ คือไม่จำเป็นว่าเขาต้องเป็นอย่างนี้ หรือต้องทำสิ่งนี้ก่อนถึงจะได้รับการยอมรับหรือความรักนั้น 

 

แต่การยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ก็ไม่ได้หมายความให้เรา ‘ยอมรับในทุกการกระทำของบุคคลนั้นทุกอย่าง’ เหมือนกัน เรายังคงสามารถแสดงความคิดเห็น แสดงจุดยืน หรือไม่เห็นด้วยกับการกระทำของบุคคลนั้น ๆ ได้ด้วยเหตุผลของเรา แต่การยอมรับในที่นี่มีลักษณะเชิงลึกไปกว่านั้น มันหมายถึงการยังคงยอมรับในตัวตน การตัดสินใจ หรือความเป็นตัวเขา และยังคงรักเขา อยู่ข้าง ๆ เขาเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน แม้ว่าเขาจะกระทำสิ่งนั้น (ที่เราอาจจะไม่เห็นด้วย) ไปแล้วก็ตามต่างหาก 

 

‘คล้าย ๆ กับอารมณ์เวลาเพื่อนเรากลับไปคบกับแฟนเก่า (ที่เราเชียร์ให้เลิก) แต่เราก็ยังยอมรับและอยู่เคียงข้างเพื่อนคนนั้นเสมอแม้ว่าเพื่อนจะกลับมาร้องไห้กับเราเพราะเขาอีกก็ตาม’ 

 

คาร์ลเชื่อว่าทุกคนมีความอยากพัฒนาตนเองอยู่ในตัว (Actualizing Tendency) โดยคนเราจะสามารถเติบโตได้จากการที่ตัวเรา (self) สอดคล้องกับประสบการณ์จริงที่มาจากการรับรู้ของเรา (Organism) ซึ่งการที่บุคคลได้รับการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขจะช่วยทำให้ไปถึงจุดนั้นได้เพราะมันช่วยส่งเสริมการมองเห็นคุณค่าที่ดีในตนเอง ความมั่นใจ รวมถึงทำให้บุคคลรู้สึกว่าเป็นที่ยอมรับในสังคมมากขึ้น ทำให้มุมมองเรื่อง self ในตนเองถูกปรับขยาย มีความยืดหยุ่น และสามารถทับซ้อนกับประสบการณ์จริงจากการรับรู้ได้มากขึ้น แตกต่างจากบุคคลที่ได้รับการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข (conditional positive regard) เพราะถูกเรียนรู้ที่จะเติบโตได้จากการยอมรับของคนอื่น ถูกเรียนรู้ให้เอาคุณค่าของตนเองไปขึ้นอยู่กับคนอื่น ทำให้ self ถูกจำกัด ไม่มีความยืดหยุ่นหรือไม่สามารถปรับขยายได้ ทำให้ทับซ้อนกับประสบการณ์จากการรับรู้ความเป็นจริงได้ยาก และขัดขวางการพัฒนาตนเอง 

 

เด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยด้วยการยอมรับอย่างมีเงื่อนไข จึงเกิดการเรียนรู้ที่จะ ‘เอาใจคนอื่น’ เป็นอย่างเดียว แต่ไม่ได้ช่วยให้เกิดการพัฒนาการมองเห็นคุณค่าในตนเอง (self-worth) หรือการนับถือในตนเอง (self-esteem) แม้แต่น้อย เพราะเอาคุณค่าของตนเองไปผูกกับการทำให้คนอื่น (หรือผู้ปกครอง) พึงพอใจในตนเอง แตกต่างกับเด็กที่ถูกเลี้ยงด้วยการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไข ที่ช่วยส่งเสริมคุณค่าและการมองเห็นคุณค่าและความมั่นใจในตัวเอง ทำให้มีลักษณะกล้าลองผิดลองถูก ลองทำสิ่งใหม่ ๆ และมีความเป็นธรรมชาติอยู่ในตัว ซึ่งส่งเสริมทำให้เกิดการพัฒนาตนเองและทำให้เด็กเติบโต แถมยังช่วยสร้างสัมพันธภาพระหว่างเด็กและผู้ปกครองให้แข็งแกร่งขึ้นอีกด้วย 

 

จริง ๆ แล้วเราเชื่อว่าความรักและการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขเป็นสิ่งที่อยู่ในพ่อแม่หลายคนอยู่แล้ว เพราะส่วนใหญ่คงไม่มีพ่อแม่คนไหนไม่รักลูกของตนเอง แต่บางที ‘การสื่อสารของเรา’ อาจแสดงให้เห็นถึงการยอมรับอย่างมีเงื่อนไขแบบไม่ตั้งใจ ทำให้กลายเป็นการเลี้ยงลูกด้วยการยอมรับอย่างมีเงื่อนไขไปโดยปริยาย 

 

ยกตัวอย่างเช่น เวลาที่ลูกทำผิด เราอาจจะโฟกัสไปที่การสั่งสอน หรือพูดถึงผลกระทบจากการทำผิดของลูกมากเกินไป จนลืมยืนยันถึงความรักและการยอมรับของเราที่ยังคงเหมือนเดิมแม้จะมีเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้น ลูกเลยเข้าใจไปว่า ‘ฉันจะได้รับความรักและการยอมรับจากผู้ปกครองก็ต่อเมื่อฉันทำสิ่งที่ถูกต้อง’ แทน 

 

เพราะฉะนั้น เราอาจจะเริ่มต้นแก้ไขที่การปรับคำพูดก่อน เพื่อแยกแยะการกระทำ และการได้รับความรักและการยอมรับออกจากกัน ยกตัวอย่างเช่น ‘แม่ยังรักลูกเสมอนะ แต่แม่ไม่ค่อยโอเคกับการกระทำนี้เท่าไหร่เลย (aka ไม่ใช่ไม่โอเคกับลูก แต่ไม่โอเคกับการกระทำของลูก)’ 

 

และถ้าจะให้ดีไปกว่านั้น หากเสริมด้วยการเข้าไปทำความเข้าใจถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น ด้วยทัศนคติที่เราได้จากคุณคาร์ลว่าทุกคนล้วนเกิดมาด้วยความอยากพัฒนาตัวเอง (aka ลูกคงไม่ได้มีเจตนาจะทำผิดหรอก เขาล้วนอย่างเติบโตเป็นคนดีอยู่แล้ว!) และเริ่มรับฟังเขาอย่างจริงใจ ก็จะยิ่งช่วยทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ผิดนั้นอย่างมีประสิทธิภาพต่อตัวเด็ก แถมเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างครอบครัวให้แข็งแรงขึ้นด้วย 

 

และหากผู้ปกครองอยากได้เทคนิคเสริมสร้างการแสดงออกถึงการยอมรับอย่างไม่มีเงื่อนไขมากขึ้น สามารถเข้ามาเรียนรู้เพิ่มเติมกันได้ที่ www.netpama ได้เลยค่า 

 

บทความโดย: คุณนายข้าวกล่อง 

 

ที่มา 

https://positivepsychology.com/unconditional-positive-regard/#what-unconditional-positive-regard 

 
 

NET PaMa