window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ศาสตร์ของการเลี้ยงลูกเชิงบวก
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

เรื่องราวของคุณพ่อ Martin Seligman - เจ้าของศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากคำสอนของลูกสาววัย 5 ขวบ 
 

จิตวิทยาเชิงบวก (Postive Psychology) ถือเป็นอีกหนึ่งศาสตร์จิตวิทยาสมัยใหม่ที่ได้รับความสนใจอย่างมากในวงการจิตวิทยา ศาสตร์นี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยมาร์ติน เซลลิกแมน (Martin Seligman) นักจิตวิทยาชื่อดังชาวอเมริกัน เขาเคยเป็นอดีตประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกันปี 1998 ได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับจิตวิทยาเชิงบวกมากว่า 30 เล่ม ซึ่งก็ได้รับความนิยมมากถึงขั้นได้ขึ้นปกนิตยสารไทมส์ และนิตยสารอเมริกันชื่อดังอื่น ๆ อีกมากมาย ปัจจุบันนี้เขายังคงเป็นผู้นำในสาขาจิตวิทยาเชิงบวกและเป็นอาจารย์ประจำสาขาจิตวิทยาอยู่ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pensylvania) ด้วยวัย 80 ปี 

 

แม้ว่าจิตวิทยาเชิงบวกจะถือเป็นศาสตร์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก แต่รู้หรือไม่! ว่าแท้จริงแล้ว มาร์ตินได้รับแรงบันดาลใจการสร้างสรรค์ศาสตร์จิตวิทยานี้มาจากการพูดคุยกับหนูน้อยนิกกี้ (Nikki) ลูกสาวสุดที่รักวัย 5 ขวบ ในระหว่างที่พวกเขาทั้งสองกำลังถอนวัชพืชกันอยู่ในสวน หลังจากที่มาร์ตินได้รับเลือกเป็นประธานสมาคมจิตวิทยาอเมริกันได้เพียงไม่กี่เดือน 

 

มาร์ตินยอมรับว่าเขาไม่ใช่คนที่เข้าใจเด็กสักเท่าไหร่ (แม้ว่าเขาจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับเด็กเยอะมากก็ตาม) เพราะเขาเป็นคนจริงจัง เป็นคนมุ่งมั่นกับการทำภารกิจให้สำเร็จตามเป้าหมายและให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก ในวันนั้นเขาเลยอยากรีบถอนวัชพืชในสวนให้เสร็จโดยเร็ว แต่หนูน้อยนิ๊กกี้ดันกลับไม่ให้ความร่วมมือเท่าไหร่นัก เพราะเธอมัวแต่ร้องเพลง เต้นระบำ โยนเมล็ดหญ้าเล่นอยู่ในสวนอย่างสนุกสนาน 

 

เขาเลยตะโกนบ่นใส่ลูกสาว นิกกี้เลยเดินออกไปสักพัก แต่หลังจากนั้นเธอก็เดินกลับมาพูดกับเขาว่า 

 

“พ่อ พ่อจำหนูสมัยก่อนที่จะอายุครบ 5 ขวบได้มั้ย? ตั้งแต่ช่วงที่หนูอายุ 3 ขวบถึง 5 ขวบ หนูขี้แยมาก หนูร้องไห้ทุกวัน แต่เมื่อถึงวันที่หนูอายุ 5 ขวบ หนูตัดสินใจกับตัวเองว่าหนูจะไม่เป็นเด็กขี้แยอีกแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่ยากที่สุดที่หนูเคยทำมาเลยนะ แต่ถ้าหนูเลิกเป็นเด็กจอมขี้แยได้ พ่อก็สามารถเลิกเป็นพ่อจอมขี้บ่นได้เหมือนกัน!” 

 

คำพูดของหนูน้อยนิกกี้ในวันนั้นทำให้มาร์ตินได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง เขาได้รู้ว่าแท้จริงแล้วสาเหตุที่นิ๊กกี้เลิกขี้แยไม่ได้เป็นผลงานที่มาจากการสั่งสอนของเขา แต่มาจากการที่นิ๊กกี้เลือกตัดสินใจเปลี่ยนแปลงมันด้วยตัวเอง เขาได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วนิ๊กกี้มีศักยภาพมาก เป็นเด็กที่มีความสามารถในการเข้าใจถึงจิตวิญญาณของบุคคล ซึ่งเขามองว่านั่นคือศักยภาพที่ดีที่ควรได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเป็นสกิลติดตัวเพื่อต่อสู้กับมรสุมชีวิตในอนาคตข้างหน้าต่อไป 

 

“การเลี้ยงลูกไม่ใช่การเอาแต่คอยแก้ไขในสิ่งที่ลูกทำ แต่คือการส่งเสริมศักยภาพ จุดแข็ง หรือข้อดีอันแข็งแกร่งที่ลูกมีอยู่แล้วให้เติบโตยิ่งขึ้น”

- นี่คือบทเรียนการเลี้ยงลูกครั้งยิ่งใหญ่ที่เขาได้รับจากนิกกี้ 

 

บทเรียนจากการเลี้ยงลูกในวันนั้นเลยจุดประกายให้มาร์ตินเริ่มตั้งคำถามกับการรักษาสุขภาพจิตในช่วงเวลานั้น ที่มัวแต่มุ่งเน้นรักษาคนไข้ด้วยการ “แก้ไขความผิดปกติทางจิต” จนลืมโฟกัสถึง “การส่งเสริมศักยภาพดี ๆ ของคนไข้ที่มีอยู่แล้วในการรักษาสุขภาพจิต” หรือแม้กระทั่งลืมไปถึง “การสร้างมาตรการป้องกัน (prevention)” ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพ ข้อดี หรือจุดแข็งในแต่ละบุคคล เพื่อป้องกันไม่ให้คนต้องเผชิญกับการเป็นโรคทางสุขภาพจิต และสุดท้ายก็ได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นศาสตร์จิตวิทยาเชิงบวกที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน ที่มุ่งเน้นไปถึง “การหาจุดแข็งและส่งเสริมจุดแข็ง” เพื่อพัฒนาสุขภาพจิตในตัวบุคคลให้ไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

 

ซึ่งนอกจากจิตวิทยาเชิงบวกจะนำมาประยุกต์เพื่อรักษาสุขภาพจิตแล้ว ปัจจุบันจิตวิทยาเชิงบวกยังถูกนำมาประยุกต์ใช้นอกเหนือจากการรักษาสุขภาพจิตด้วยเช่นกัน 

 

และถ้าหากผู้ปกครองท่านใดสนใจว่าจิตวิทยาเชิงบวกสามารถนำมาใช้ประยุกต์ในการเลี้ยงลูกได้อย่างไรสามารถลองเข้ามาหาคำตอบที่ www.netpama.com ก่อนได้เลยนะคะ ;) 

 

บทความโดย คุณนายข้าวกล่อง 

 

ที่มา:  

Seligman, M. E. P., & Csikszentmihalyi, M. (2000). Positive psychology: An introduction. American Psychologist, 55(1), 5–14. https://doi.org/10.1037/0003-066X.55.1.5 

https://ppc.sas.upenn.edu/people/martin-ep-seligman 

https://th.yestherapyhelps.com/martin-seligman-biography-and-theories-in-positive-psychology-13498 

NET PaMa