window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
“ทำไมวัยรุ่นจึงไม่ควรลองกัญชา ?”
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว
“ ประตูฟุตบอลที่ไม่มีผู้รักษาประตู”

“ทำไมวัยรุ่นจึงไม่ควรลองกัญชา ?”

  คำตอบคือ คุณเคยเห็นประตูฟุตบอลที่ไม่มีผู้รักษาประตูไหมครับ ???

 หมอขอพูดถึงสมองของวัยรุ่นก่อนนะครับ เราพบว่าวัยรุ่นเป็นวันที่เริ่มมีความคิดเป็นตรรกะ เริ่มใช้เหตุผลที่ซับซ้อนและสามารถคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่ซับซ้อนได้ เป็นวัยที่เริ่มมีความสนใจปรัชญา ศาสนา หลาย ๆ คนหันมาสนใจการเมือง และถ้าหากจำกันได้ วัยรุ่นเป็นช่วงชีวิตที่เราเริ่มฟังเพลงหลากหลาย จนหาสไตล์และความเป็นตัวเราเองได้ในที่สุดครับ

 ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะ

สมองของวัยรุ่นเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก มีการเชื่อมโยงเครือข่ายประสาทใหม่ๆ (synaptic) เพื่อพัฒนาระบบความคิดให้ซับซ้อน ในขณะเดียวกันก็ตัดเส้นทางเชื่อมโยงประสาทที่ไม่จำเป็นออก (pruning) เพราะฉะนั้นความคิดแฟนตาซีแบบเด็กๆและเพื่อนในจินตนาการควรจะหายไปเมื่อเราเข้าสู่วัยรุ่นครับ จึงอาจเรียกได้ว่า สมองของวัยรุ่นเป็นช่วงที่กำลังมีการก่อสร้างต่อเติม (under construction) ในกระบวนการนี้ มีส่วนหนึ่งที่สำคัญมากก็คือ "ผู้รักษาประตูฟุตบอล" ของเรา ซึ่งก็คือสมองส่วนหน้า...เอาเข้าจริงๆสมองส่วนหน้าจะพัฒนาจนสมบูรณ์ก็เมื่ออายุ 25 ปีเลยทีเดียว
.
หน้าที่ที่สำคัญของสมองส่วนหน้าคือการทำให้เรารู้จักควบคุมอารมณ์จัดการความหุนหันพลันแล่น (impulse controll) หรือที่สมัยนี้มักเรียกว่า "หัวร้อน" ครับ  ช่วยในการคิดที่ซับซ้อน จนสามารถวางแผนเชิงกลยุทธ์ได้ (strategic planing) และช่วยพัฒนาปรับปรุงความสามารถทางสังคม มารยาททางสังคม และการเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น (social behavior) 
.
หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของผู้รักษาประตูก็คือการจัดการความยับยั้งชั่งใจนี่เองครับ
เป็นคาเร็คเตอร์หลักที่วัยรุ่นแตกต่างจากผู้ใหญ่ นั่นคือการเรียนรู้ที่จะยับยั้งชั่งใจ ควบคุมอารมณ์ ไม่ทำอะไรตามใจตัวเอง อันเป็นสัญญาณว่าคนคนหนึ่งได้ก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว....
.
ในการบวนการพัฒนาผู้รักษาประตูนี้ สารตัวหนึ่งที่มีส่วนเกี่ยวข้องคือ สารประเภทกัญชาที่มีอยู่ตามธรรมชาติในสมอง (endocanabinoid) ขอเกริ่นก่อนครับว่าในสมองของเรามีสารที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกัญชาอยู่ตามธรรมชาติเหมือนกันครับ และมีตัวรับสัญญาณของสารนี้ด้วย นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมเมื่อเสพกัญชาเข้าไปจึงออกฤทธิ์ต่อสมองได้ ก็เพราะสมองมีตัวรับสัญญาณของมันอยู่เดิมนั่นเอง แต่ขนาดของมันก็น้อยมากเมื่อเทียบกับกัญชาที่เสพเข้าไปในหนึ่งครั้ง มันทำหน้าที่ในกระบวนการสร้างความจำ โดยกระตุ้นโครงสร้างที่ชื่อ hippocampus ซึ่งเป็นตัวเขียนความจำโดยตรง แล้วความทรงจำต่างๆนี้ก็จะถูกจัดเก็บ ประมวลผลไปยังสมองส่วนหน้าเพื่อเรียนรู้และเติบโต สร้างบุคลิกภาพต่อไป  แต่เมื่อมีการเสพกัญชาเข้าไป การมีสารกัญชาจับกับตัวรับ endocannabinoid ในสมองที่มากเกินไปไม่ได้ช่วยให้ความจำดีขึ้น แต่กลับกลายว่ามันเป็นพิษ (toxicity) ทำให้ขั้นแรก ตัว hippocampus ที่เขียนความจำฝ่อลง ทำให้จำอะไรไม่ค่อยได้ ไม่ว่าจะเป็นความจำระยะสั้นหรือระยะยาว เมื่อตัวป้อนความจำใส่สมองไม่ค่อยทำงานเช่นนี้แล้ว สมองส่วนหน้าผู้ทำหน้าที่รักษาประตูของเราก็จะเริ่มงง ว่าสิ่งไหนที่ควรจะคัดเก็บไว้ สิ่งไหนควรจะตัดออกดี ทำให้สมองส่วนหน้าไม่สามารถพัฒนาตัวเองได้
.
การศึกษาพบว่าผู้ที่ใช้กัญชาตั้งแต่เมื่อยังเป็นวัยรุ่น จะมีบุคลิกภาพแช่แข็งไว้เสมือนเป็นวัยรุ่นตลอดไป (psycho-emotional arrest at puberty-like state) นั่นคือขาดความยั้งใจและมีอาการ "หัวร้อน" แม้ว่าจะเข้าสู่วัยผู้ใหญ่แล้ว จากการศึกษายังพบอีกว่าผู้ที่ใช้กัญชาเรื้อรังมีการลดลงของอาหารเลี้ยงสมองที่ร่างกายสร้างขึ้น (BDNF / brain derived neurotrophic factors) ทำให้สมองทุกส่วนไม่ได้รับอาหารและไม่เติบโต จากการทำ MRI พบว่าสมองของผู้ที่ใช้กัญชาตั้งแต่วัยรุ่น มีส่วนของสมองสีเทา (grey matter) อันเป็นที่อยู่ของเซลล์สมอง นั้นฝ่อในส่วนที่ไม่ควรจะฝ่อ แต่ก็มีการเจริญเติบโตผิดปกติในส่วนที่ไม่ควรจะเจริญเติบโต โดยสรุปคือกัญชาทำให้สมองของผู้ใช้มีการเจริญไปในทิศทางที่แปลกประหลาด นั่นเป็นสาเหตุว่าทำไมผู้ใช้กัญชาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นอาจมีการใช้ความคิดและการให้เหตุผลที่แปลกประหลาด รวมทั้งยังพบว่าในสมองสีขาว (white matter) อันเป็นที่อยู่ของโครงข่ายเส้นใยประสาท มีการเชื่อมโยงที่แย่ลง นั่นทำให้พวกเขาคิดช้า ทำอะไรช้านั่นเองครับ
.
ถึงกัญชาจะทำให้ความยับยั้งชั่งใจพังพินาศได้ขนาดนี้ แต่คุณสมบัติในการกระตุ้นความสุขและรู้สึกเหมือนได้รับรางวัลของมันยังทำงานได้เต็มที่ผ่านระบบประสาทลิมบิก นั่นยิ่งทำให้ผู้ที่เสพกัญชาไม่ยั้งใจที่จะสัมผัสความสุขอันสุดยอดจากการใช้กัญชา และมีแต่แนวโน้มที่จะใช้มากขึ้นเรื่อยๆครับเพราะเมื่อใช้ขนาดเท่าเดิมจะกระตุ้นความสุขได้ลดลง อันเป็นนิยามหลักของสารเสพติด
.
กัญชายังมีชื่อเสียงในการก่อให้เกิด cannabis amotivational syndrome นั่นคือผู้ที่เสพกัญชาเรื้อรัง สัมผัสกับความสุขสุดยอดจากการใช้กัญชาอยู่ตลอดเวลา ทำให้เขาไม่สามารถมีความสุขกับเรื่องเล็กๆน้อยๆอื่นๆอีกต่อไป ร่วมกับการฝ่อลงของสมองส่วนหน้าด้วยแล้ว เขาจึงไม่สามารถแสดงอารมณ์หรือแสดงความสนอกสนใจสิ่งใดได้เลย (apathy) จากคนปกติ จึงถูกเปลี่ยนแปลงกลายเป็นหุ่นยนต์ไปครับ หมอมีคนไข้จำนวนหนึ่งเหมือนกันที่เริ่มใช้กัญชาตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ปัจจุบันพวกเขาเล่าว่าเขาทุกข์ทรมานจากการไม่สามารถแสดงอารมณ์ได้ มีเรื่องเศร้าน่าเสียใจอยากจะร้องไห้ก็ไม่สามารถร้องไห้ได้ คนรอบตัวมีข่าวดี มีเรื่องน่าดีใจ เขาก็ไม่เข้าใจว่าทำไมไม่สามารถแสดงความยินดีดีใจไปด้วยได้ รู้ว่าเป็นเพราะกัญชา อยากจะเลิกแต่ก็ยังไม่สามารถเลิกได้สักทีครับ และมีจำนวนนึงที่บอกว่าเขารู้สึกเหมือนตัวเองกลายเป็นหุ่นยนต์ไปแล้ว....????
.
ไม่เพียงเท่านั้น จากการศึกาายังพบอีกว่าผู้ที่ใช้กัญชาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น สมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ การประสานการทำงานของกล้ามเนื้อก็แย่ลงด้วย ดังนั้นผู้ที่เล่นกีฬาควรระวังให้มากถึงผลข้างเคียงตรงนี้เพราะอาจสูญเสียความสามารถในการเล่นกีฬาไปครับ
.
โดยรวมทั้งหมดที่กล่าวมานี้ สมองส่วนหน้าที่เป็นผู้รักษาประตูดูจะโดนผลกระทบจากกัญชาหนักที่สุด ทำให้นอกจากเมื่อวัยรุ่นที่ใช้กัญชาเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะมีบุคลิกภาพแช่แข็งไว้เสมือนเป็นวัยรุ่นที่หัวร้อนและเอาแต่ใจตลอดไปแล้ว เขายังมีโอกาสติดสารเสพติดอื่นๆมากขึ้นหลายเท่าอีกด้วย เพราะไม่มีผู้รักษาประตูอยู่เฝ้าประตูฟุตบอล ฝ่ายตรงข้ามจะยิงทำประตูกี่ลูกก็สามารถทำได้โดยง่ายไม่มีใครคอยมาขัดขวางครับ
.
แล้วถ้าหยุดเสพล่ะ มีโอกาสจะฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติไหม ?
.
ข่าวร้ายคือโอกาสมีน้อยมากครับ มีหลายงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าผู้ใช้กัญชาตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น แม้จะหยุดใช้แล้วเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เมื่อเอามาทำแบบทดสอบความคิดความจำ การคำนวณ กลับทำได้แย่กว่าผู้ใหญ่วัยเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ มีงานวิจัยในสวีเดน กลุ่มประชากร 42,240 คน พบว่าผู้ที่ใช้กัญชาตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้วมักว่างงาน ตกงาน และกลายเป็นภาระทางสังคมสงเคราะห์ของประเทศในระยะยาว (จากงานวิจัยดูเหมือนจะตรงข้ามกับนโยบายของบางประเทศที่ใช้กัญชากระตุ้นเศรษฐกิจครับ) นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลใน 1,037 ประชากรตัวอย่าง พบว่าผู้ใช้กัญชาตั้งแต่วัยรุ่นมีสมองเสื่อมและโรคทางจิตเวชเร็วก่อนวัยอันควรอีกด้วย (neuropsychological decline)
.
.
 ....สมองของวัยรุ่นที่ใช้กัญชาเรื้อรังจึงดูเหมือนจะไม่มีโอกาสได้จ้างผู้รักษาประตูใหม่ๆกลับมาอีกเลย.... ดังที่งานวิจัยใช้คำว่า หยุดชะงัก (arrest) 
.
สำหรับหมอเอง คิดว่าการป้องกันไว้ย่อมดีกว่าแก้ไขภายหลัง คือการไม่เปิดโอกาสให้วัยรุ่นลองใช้กัญชาตั้งแต่แรก ในวันที่ผู้รักษาประตูของเขายังพัฒนาไม่เต็มที่ครับ เพราะสมองของวัยรุ่นเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เป็นทรัพยากรสำคัญของคนคนนั้นเอง ของครอบครัวและของประเทศ
นโยบายสถานศึกษาปลอดกัญชาเป็นสิ่งที่ควรทำครับ
.
 แต่ถ้าหากวัยรุ่นที่ใช้กัญชาไปแล้ว และรู้สึกว่าเริ่มมีปัญหาที่ตามมาจากการใช้กัญชาแล้วล่ะก็ การรักษาเร็วย่อมดีกว่าปล่อยไว้ให้เรื้อรังแน่นอนครับ ลองปรึกษาแพทย์หรือจิตแพทย์ใกล้บ้านตามสิทธิ์การรักษาดูครับผม แน่นอนว่ามียาช่วยเลิกและโปรแกรมเลิกสารเสพติดอยู่นะครับ
.
เพิ่มเติม กัญชาทำให้อวัยวะเพศชายไม่แข็งตัวด้วยนะ ????
.
ข้อมูลอ้างอิงจาก
- Different Effects of Cannabis Abuse on
Adolescent and Adult Brain
- Effects of Cannabis on the Adolescent Brain
- Lowinson and Ruiz’s Substance Abuse: A Comprehensive Textbook
.
บทความโดย หมอ Triquetra
ภาพประกอบโดย  ElisaRiva from Pixabay 
.
ติดตามข้อมูลข่าวสาร
FB: Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า
Website: www.netpama.com
E-mail: contact@netpama.com
#NetPAMA #เน็ตป๊าม้า
NET PaMa