window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
สร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้ลูกได้อย่างไร
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

          สุขภาพของคนเราจะดีได้ก็ต่อเมื่อมีทั้งสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสุขภาพจิตที่พร้อมรับมือกับความเครียดและยืดหยุ่นกับสภาวะอารมณ์ต่าง ๆ การส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพจิตที่ดีไปพร้อม ๆ กับการมีร่างกายที่แข็งแรงเป็นหน้าที่สำคัญของพ่อแม่ผู้ปกครอง เช่นเดียวกับการอบรมสั่งสอน เลี้ยงดู ให้ความรัก ความอบอุ่นแก่ลูก วันนี้อยากชวนผู้ปกครองทุกท่านมาเรียนรู้แนวทางในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้แก่ลูก ๆ ของท่าน เพื่อช่วยทำให้เขาเติบโตไปเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างมีสุขภาพจิตที่ดี พร้อมจะรับมือและเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างแข็งแกร่ง โดยสรุปแนวทางการส่งเสริมสุขภาพจิตที่ดีได้ดังนี้

1. เป็นผู้นำที่ดีและเป็นเพื่อนที่ดีของลูก
    สัมพันธภาพในครอบครัวที่ดีและแน่นแฟ้นของพ่อ แม่ และลูกเป็นพื้นฐานที่สำคัญต่อการทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันและมีความมั่นคงทางด้านจิตใจ อารมณ์และความรู้สึก การวางตัวของพ่อแม่นอกจากจะเป็นผู้นำในยามที่ลูกต้องการความช่วยเหลือ ผู้นำในการตัดสินใจ พ่อแม่จะต้องเป็นเพื่อนที่ดีของลูกในการพูดคุยสื่อสาร ปรึกษาเรื่องต่าง ๆ การสื่อสารที่ดีในฐานะผู้นำและเพื่อนของพ่อแม่ จะเป็นแบบอย่างให้ลูกเรียนรู้ที่จะนำไปใช้ปฏิสัมพันธ์เป็นเพื่อนที่ดีและจริงใจกับคนอื่น ๆ ในสังคมต่อไป

2. หลีกเลี่ยงการทะเลาะโต้เถียงต่อหน้าเด็ก

    การทะเลาะกันของพ่อแม่มักแสดงอารมณ์และถ้อยคำที่รุนแรงออกมา ทั้งความก้าวร้าว เสียงดัง ทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพอย่างมาก เพราะเด็กมักจดจำท่าทางและพฤติกรรมรุนแรงไปเป็นแบบอย่างแสดงอารมณ์ต่อผู้อื่นต่อ รวมถึงเป็นการสร้างบาดแผลภายในใจเด็กอีกด้วย

3. เลี่ยงการด่าทอ ประชดประชัน หรือถ้อยคำถากถางเด็กเมื่อเขาทำผิด
    สิ่งที่สำคัญที่สุดก่อนการสอนและตักเตือนให้ลูกรู้ว่าเขาทำผิดคือการจัดการอารมณ์โกรธของพ่อแม่ก่อน ทบทวนความผิดของลูกและหาคำพูดในการตักเตือนเขาอย่างเหมาะสม ซึ่งพ่อแม่สามารถแสดงออกให้รู้ว่าคุณกำลังโกรธหรือไม่พอใจเขาอย่างตรงไปตรงมาได้ จะทำให้เด็กรับรู้ถึงความผิด ความจริงใจและข้อความที่พ่อแม่สื่อสารออกมาและจำไปใช้ แต่ต้องระมัดระวังอารมณ์ที่สื่อสารออกมา โดยเฉพาะการดุด่า ประชดประชัน บางครั้งสร้างความรู้สึกแย่และต่อต้านแทน

4. ควรระมัดระวังในการมีความลับกับลูก
    ความลับภายในบ้านที่พ่อแม่พยายามปกปิดต่อลูกสร้างความสงสัย ความอยากรู้ สับสน และคิดว่าต้องเป็นเรื่องเลวร้าย รวมถึงทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจกันภายในบ้าน สร้างความรู้สึกเป็นคนนอกที่จะนำมาสู่การตีตัวออกห่างจากครอบครัวของเด็ก พ่อแม่ควรจะพูดคุยปัญหากับลูกอย่างอย่างตรงไปตรงมา แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของระดับการสื่อสารและเข้าใจต่อปัญหาในระดับที่เท่ากัน ลดละรายละเอียดตามความเหมาะสมกับช่วงวัยของลูก ลูกจะเกิดความเชื่อใจต่อแม่ แม้ว่าเขาจะช่วยพ่อแม่ไม่ได้แต่รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่กีดกันตนเองออกไปเป็นคนนอก และในภายหลังเด็กเองเรียนรู้ที่จะพูดคุยปัญหาของตัวเองกับพ่อแม่เพราะความไว้ใจด้วย เพราะพ่อแม่เองก็เปิดใจกับเขา ส่งเสริมให้เขาพร้อมเปิดรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบ้านเพื่อที่จะเผชิญกับปัญหาภายนอกในอนาคต

5. หมั่นสอบถามความเป็นไปเรื่องต่าง ๆ ของลูก เคารพพื้นที่ส่วนตัว และหากิจกรรมทำร่วมกันภายในครอบครัว
    การใช้เวลาร่วมกันจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ในบ้านให้แน่นแฟ้นกันยิ่งขึ้น เรียนรู้ความชอบ/ไม่ชอบของกันและกัน ทั้งนี้การสอบถามพูดคุยเรื่องต่าง ๆ ระหว่างกันแสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ความจริงใจ และพร้อมที่จะรับฟังอย่างเข้าใจ ช่วยทำให้ลูกเป็นคนที่เปิดเผยและแสดงความจริงใจต่อผู้อื่นได้

6. สุขภาพที่ดีของคนในครอบครัว การส่งเสริมให้ทุกคนในบ้านมีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก
    เพราะความเจ็บป่วยของคนใดคนหนึ่งในครอบครัว ส่งผลต่อสภาพจิตใจและสุขภาพกายของลูกและคนอื่น ๆ ด้วย เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล เป็นต้น ดังนั้น ควรดูแลสุขภาพกายของทุกคนให้แข็งแรง รับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี และดูแลสุขภาพจิต สนับสนุนความมั่นคงทางอารมณ์ความรู้สึกของกันและกันอยู่เสมอ

    การสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้ลูกเป็นเรื่องจำเป็นและไม่ใช่เรื่องยากเกินความสามารถของพ่อแม่ แม้ในปัจจุบันจะมีการจัดทำการส่งเสริมสุขภาพจิตในระดับนโยบาย โรงเรียนต่าง ๆ แต่พ่อแม่ก็ยังเป็นกลุ่มที่ใกล้ชิดกับเด็กที่สุด เป็นหน่วยทางสังคมหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเสริมสุขภาพจิตที่ดีให้ลูก แนวทางที่เสนอไปข้างต้นเป็นเพียงการแนะนำเพื่อสร้างเสริมสุขภาพจิตให้แก่ลูกโดยทั่วไป พ่อแม่ผู้ปกครองหลายท่านอาจนำไปปรับใช้ให้เหมาะกับบุตรหลานของท่านเพื่อประสิทธิภาพสูงสุด โดยคำนึงพัฒนาการตามช่วงวัยของเด็กเป็นหลัก


อย่าลืมนำแนวทางเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีกับลูก ๆ ของคุณพ่อคุณแม่นะคะ

เขียนและเรียบเรียง: ณัฐญา แท่นทิพย์

ภาพประกอบ:  Ivan Samkov จาก Pexels

ที่มา: 

Valencia LR, Craw ES, D’Amato R, Han R, Mosby P, Romero JR, et al; Attallah College of Educational Studies. A parent’s guide to childhood mental health [Internet]. cited 2022 Mar 25. Available from: https://www.chapman.edu/education/_files/research/mental-wellth/mental-welllth-toolkit-parents.pdf

Millar A. 5 ways to support your child's mental health [Internet]. 2018 [cited 2022 Mar 25]. Available from: https://www.ualberta.ca/folio/2018/01/5-ways-to-support-your-childs-mental-health.html

Healthshots. 5 tips all parents must imbibe to support their child’s mental health [Internet]. 2021 [cited 2022 Mar 25]. Available from: https://www.healthshots.com/preventive-care/family-care/parenting-tips-5-ways-to-support-your-childs-mental-health/

Mental Health Foundation. Make it count: guide for parents and carers [Internet]. cited 2022 Mar 25. Available from: https://www.mentalhealth.org.uk/publications/make-it-count-guide-for-parents-and-carers

 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa