window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เมื่อลูกกังวล พ่อแม่จะช่วยยังไง
เมื่อ 1 ปีที่แล้ว

ความกังวลสามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงวัย แม้แต่ในเด็กเล็ก ๆ ก็มีเรื่องให้กังวลได้ไม่ต่างจากผู้ใหญ่ โดยความกังวลของเด็กอาจจะเรียกว่าเป็นความกลัวก็ได้ ซึ่งเกิดขึ้นได้ตามพัฒนาการปกติ มีลักษณะแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงอายุ เช่น เด็กเล็กๆ กลัวเสียงฟ้าร้อง กลัวความมืด กลัวการแยกจาก ส่วนเด็กในวัยเรียนความกลัวอาจเป็นนามธรรมมากขึ้น เช่น กลัวความผิดพลาด กลัวการถูกตำหนิ เป็นต้น

จะสอนลูกให้รู้จักรับมือกับความกังวลได้อย่างไรบ้าง

พ่อแม่สามารถช่วยสอนให้ลูกเรียนรู้วิธีรับมือกับความกังวลได้ ดังนี้

1. ทำความเข้าใจความกังวล

ความกังวลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการคิดเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่ยังไม่เกิดขึ้น โดยประเมินว่าจะมีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น โดยที่ตัวเองไม่สามารถรับมือได้ ซึ่งในความเป็นจริงอาจจะไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป เช่น ทะเลาะกับเพื่อนสนิทเพราะตัวเองเผลอพูดจาไม่ดี จึงกังวลว่าเพื่อนจะไม่กลับมาคุยด้วยอีกต่อไป โดยลืมไปว่าที่ผ่านมาเคยมีเหตุการณ์ทะเลาะกับเพื่อนคนดังกล่าวมาก่อน และตัวเองสามารถทำให้เพื่อนกลับมาคืนดีได้ ด้วยการพูดขอโทษเพื่อนก่อน แต่ต้องยอมรับว่าเพื่อนอาจจะโกรธหลายวันกว่าเดิม ดังนั้นต้องให้เวลาเพื่อนหายโกรธด้วย

 

2. แสดงความเข้าใจ

เคารพในความรู้สึกของลูกว่าสิ่งที่ลูกกังวลนั้นเป็นสิ่งที่ลูกรู้สึกอยู่จริงๆ โดยไม่ตำหนิที่ลูกรู้สึกเช่นนั้น ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรไปตัดสินว่าการที่ลูกกังวลเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ ถูกต้องหรือสมควรแล้วหรือไม่ รวมถึงไม่ควรบอกกับลูกว่าสิ่งที่กังวลอยู่จะไม่เกิดขึ้น แต่ควรให้กำลังใจและเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกว่าทุกอย่างจะเรียบร้อย สามารถสื่อสารเพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจและอยู่เคียงข้างได้ เช่น พ่อรู้ว่าลูกกังวลว่าพรุ่งนี้จะทำข้อสอบได้คะแนนน้อย มีอะไรที่อยากให้พ่อช่วยมั้ย แม่รู้ว่าลูกกังวลว่าจะทำการบ้านส่งไม่ทันเวลาที่ครูกำหนด เป็นต้น

 

3. ระดมความคิด สร้างความมั่นใจ

พ่อแม่สามารถบอกเล่าถึงประสบการณ์ของตนเองที่เคยได้เผชิญกับความกังวลมาก่อน และร่วมกันแสดงความคิดเห็นว่าจากประสบการณ์ดังกล่าวพ่อแม่ผู้เป็นเจ้าของประสบการณ์รวมถึงตัวลูกเองได้เรียนรู้ว่าอย่างไรบ้าง และพูดคุยถึงสถานการณ์ของลูกในแง่มุมที่ว่า หากสิ่งที่ลูกกังวลนั้นเกิดขึ้นจริงลูกจะทำอย่างไร 

 

4. เผชิญกับความกลัวและความกังวล

การหลีกเลี่ยงความกังวลจะยิ่งส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้ว่าความกังวลนั้นสมเหตุสมผลแล้ว บางครั้งแม้จะทำใจได้ยากสำหรับพ่อแม่ แต่การให้ลูกเผชิญกับความกังวลก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เขาสามารถข้ามผ่านความยากลำบากนี้ไปได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องเป็นผู้ที่ให้แรงสนับสนุนแก่ลูก ไม่บังคับหรือผลักให้ลูกต้องเผชิญกับสิ่งที่เขากังวลในขณะที่เขายังไม่พร้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือลูกมากจนเกินไป เพราะลูกต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับปัญหาของตนเองด้วยตนเอง

 

5. ให้รางวัลผู้กล้า

หากลูกสามารถเผชิญกับความกังวลได้ พ่อแม่ควรมีรางวัลให้โดยการชื่นชมในความกล้าหาญและความพยายามของเขาโดยไม่ต้องรอให้เขาเอาชนะความกังวลของเขาได้จนหมด และไม่ใช่เรื่องแปลกหากลูกจะสามารถรวบรวมความกล้าและไปเผชิญกับความกังวลได้ในวันนี้ แต่ยังคงรู้สึกกังวลอยู่ในวันถัดไป เพียงแค่พ่อแม่คอยให้กำลังใจและคอยสนับสนุน ไม่ช้าพฤติกรรมหรือความกล้าที่เกิดขึ้นมานั้นจะคงอยู่กับลูกตลอดไป

 

References

  1. https://raisingchildren.net.au/toddlers/health-daily-care/mental-health/anxiety-in-children#anxiety-worries-and-fear-a-normal-part-of-childhood-nav-title
  2. https://www.npr.org/2019/10/23/772789491/how-to-help-a-child-struggling-with-anxiety
  3. https://stressfreekids.com/10805/high-anxiety-child-tips/
  4. https://www.webmd.com/parenting/features/10-tips-parenting-anxious-children
  5. https://pathways.org/tips-comforting-fearful-nervous-child/

 

เขียน นลินภัสร์ ศูนย์จันทร์

เรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล

NET PaMa