window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
“เรียนออนไลน์” มากกว่าเสี่ยงโรคคือเสี่ยงกระทบพัฒนาการเด็ก ?
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

เรียนออนไลน์” มากกว่าเสี่ยงโรคคือเสี่ยงกระทบพัฒนาการเด็ก ?

 

จากสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันคงปฏิเสธได้ยากว่าการเรียนออนไลน์แทบจะกลายเป็นมาตรการเดียวในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาของเด็ก ๆ ให้เดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งหากพิจารณาจากเสียงโอดครวญของบรรดานักเรียนนักศึกษาถึงความไม่มีประสิทธิภาพของระบบการศึกษาภาคจำยอมนี้ ก็จะพบว่าถึงแม้การเรียนออนไลน์จะช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องโรคระบาดลง แต่ความเสี่ยงใหม่ที่หลีกเลี่ยงได้ยากคือพัฒนาการด้านสังคมของเด็กในยุคโควิดที่อาจขาดหายไป และคงปฏิเสธได้ยากว่าความเสี่ยงในครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของเด็กทั้ง generation อย่างแน่นอน

 

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วที่ระบบการเรียนออนไลน์ถูกนำเข้ามาใช้ทดแทนการศึกษาในห้องเรียนของนักเรียนนักศึกษาไทย ซึ่งในระยะแรกนั้นเรียกได้ว่าทุกฝ่ายตัองใช้ความพยายามอย่างมากเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเรียนในยุคปัจจุบัน เทคโนโลยีต่าง ๆ ถูกนำเข้ามาทดแทนกิจกรรมภาคสนามที่หายไป ผลกระทบขั้นแรกที่เกิดขึ้นคือ “เรียนไม่ได้ เรียนไม่รู้เรื่อง” จากทั้งปัญหาด้านการขาดแคลนอุปกรณ์ ปัญหาทางเทคนิคระหว่างเรียน และการย่อยเนื้อหาที่ได้จากการเรียนทางไกลนั้นมีประสิทธิภาพด้อยกว่าการเรียนร่วมกันในห้องเรียน

 

ในระยะต่อมาการเรียนออนไลน์เริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น บุคคลในระบบการศึกษาบางส่วนรับมือกับการเรียนการสอนออนไลน์ได้ดีขึ้น (และบางส่วนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนได้ก็ถูกผลักออกจากระบบการศึกษาไป) สิ่งที่เกิดขึ้นคือทักษะที่ได้รับจากการเรียนออนไลน์นั้น ต่างจากการเรียนแบบออนไซต์อย่างชัดเจน ซึ่งจะเห็นได้ชัดในวิชาที่มีภาคปฏิบัติ ซึ่งผู้เรียนในระบบออนไลน์จะขาดทักษะประสบการณ์ในส่วนนี้ไปเลย นักเรียนนักศึกษาจำนวนมากเกิดความกังวลว่าตนเองนั้นกำลังถูกบังคับให้เรียนจบด้วยหลักสูตรที่ไม่ให้ประสบการณ์เพียงพอที่จะนำไปประกอบอาชีพ

 

จนกระทั่งมาถึงระยะหลังสุด เมื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ กลายเป็น “New normal” ซึ่งทำให้ทุกคนในระบบการศึกษารู้สึก “ชิน” กับการเรียนในรูปแบบนี้ ปัญหาสำคัญที่ตามมาแน่นอนคือการขาดทักษะ Social Skill ด้วยเวลากว่า 2 ปีที่การเรียน การทำงาน และการใช้ชีวิตถูกจำกัดให้เกิดขึ้นเป็นวงจรซ้ำ ๆ ในพื้นที่เล็กลงเหลือแค่ในบ้าน ผู้เรียนส่วนมากพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวในระยะหลังนั้นลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเข้าสังคมของผู้เรียน โดยเฉพาะในเด็กอนุบาลวัย 3-5 ปีซึ่งเป็นวัยที่ต้องเริ่มเรียนรู้สังคมผ่านการเรียนและการเล่น แต่เมื่อกิจกรรมเหล่านั้นหายไป ทักษะในการเข้ากับคนนอกบ้าน และพัฒนาการต่าง ๆ ในช่วงปฐมวัยนั้นย่อมได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน วิธีการแก้ปัญหาหลังจากนั้นก็เรียกได้ว่าเป็นไปตามฐานะและกำลังความพร้อมของแต่ละบ้าน บ้านที่มีกำลังเพียงพอก็สามารถหากิจกรรมมาส่งเสริมพัฒนาการให้ลูกได้อย่างเต็มที่ ส่วนบ้านที่ไม่มีความพร้อมก็ต้องจำใจยอมรับพัฒนาการที่อาจจะขาดตกบกพร่องไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบทั้งหมดนี้ทำให้ผู้เรียน ผู้สอน และผู้ปกครองที่เป็นผู้รับผิดชอบร่วมกันต่อระบบการศึกษานี้เกิดคำถามแน่นอนว่าในระยะยาว 15 - 20 ปี จะเกิดอะไรขึ้นกับเด็กที่จบการศึกษามาด้วยระบบการเรียนการสอนรูปแบบนี้ เราอาจจะพบว่าบุคลากรของเราในอนาคตข้างหน้านั้นขาดทักษะในด้านการเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม สมาธิและการควบคุมอารมณ์ ไปจนถึงขาดประสบการณ์และทักษะเชิงปฏิบัติที่จำเป็นอีกมากมาย ซึ่งย่อมกระทบต่อตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างแน่นอน ก่อนที่เราจะไปถึงจุดนั้น เชื่อว่าปัญหาทั้งหมดที่กล่าวมาคงทำให้หลาย ๆ ท่านได้ตระหนักถึงความเสี่ยงอื่น ๆ ที่ร้ายแรงไม่แพ้โรคระบาด อนาคตของเด็กในวันหน้าจะเป็นอย่างไรนั้น ย่อมมีรากฐานมาจากระบบการศึกษาในวันนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นเราจึงคาดหวังว่าบุคลากรทุกภาคส่วนจะให้ความสำคัญในการหาทางออก และนำการศึกษาแบบออนไซต์กลับมาให้กับผู้เรียนได้ในเร็ววัน เพราะทักษะที่สำคัญเหล่านี้ต้องการโอกาสและเวลาในการเรียนรู้ และจะเป็นส่วนสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาอนาคตของเด็ก ๆ ใน generation นี้อย่างไม่มีอะไรทดแทนได้

เขียนและเรียบเรียง : สิรวิชญ์ ไทยทวีไพศาล
ภาพประกอบ : ศิรภัสสร เย็นจิตต์ 

NET PaMa