window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
‘Sharenting’ เมื่อการโพสต์รูปลูกในโลกออนไลน์ อาจเป็นการทำร้ายลูกโดยไม่รู้ตัว
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

    ภาพเด็กเล็กๆ เป็นสิ่งน่ารักน่าเอ็นดู โดยเฉพาะต่อคุณพ่อคุณแม่ หลายท่านจึงอดไม่ได้ที่จะถ่ายรูปและแชร์ภาพลูกตัวน้อยลงในสื่อออนไลน์ เหตุผลหนึ่งอาจเพราะช่วงเวลาน่ารักๆ เหล่านี้เป็นหนึ่งในช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตลูก และไม่อาจย้อนกลับมาอีก จึงอยากบันทึกเก็บไว้ในความทรงจำ 

    ไม่เพียงเท่านั้น ยังต้องการแชร์เผยแพร่ให้เพื่อนบ้านผู้ติดตามได้เห็นการเติบโตอันแสนน่าเอ็นดูของลูกไปด้วยกัน

   

    ฟังผิวเผินก็ดูเป็นเรื่องที่น่ารักน่าเอ็นดู ปราศจากอันตราย คุณพ่อคุณแม่มีความสุขกับการบันทึกความทรงจำภาพลูกและแชร์เรื่องราวออกไป ญาติที่ติดตามอยู่ก็ได้รับรู้ความเปลี่ยนไปของหลานๆ ผู้ติดตามคนอื่นก็ได้ความสุขจากการดูภาพหรือคลิปที่แสนบริสุทธิ์ของเด็กๆ 

    ดูแล้วก็เป็นสิ่งที่ทำให้มีความสุขกันทุกฝ่าย

    จริงหรือ ?


    แต่เราลืมนึกถึงบุคคลที่สำคัญที่สุดในประเด็นนี้กันหรือเปล่า

    นั่นคือ ‘ตัวเด็ก’ นั่นเองค่ะ

    ตั้งแต่เกิดมาบนโลก ก่อนจะเรียนรู้พูดคำว่า “ไม่” ก่อนจะเข้าใจว่าภาพที่ถ่ายไป จะถูกส่งต่อไปอีกหลายต่อหลายต่อ และจะไม่มีวันสูญหายไปจากโลกดิจิตอล  ก่อนที่จะได้รู้ความหมายของ “ความเป็นส่วนตัว” ก็กลับถูกล่วงละเมิดสิทธิพื้นฐานโดยบุคคลที่ใกล้ตัวที่สุดไปแล้ว

    บทความนี้จะพาคุณพ่อคุณแม่ไปรู้จักกับคำว่า Sharenting และขอบเขตของสิทธิส่วนบุคคลของเด็กกันค่ะ

    Sharenting : เป็นศัพท์ที่นิยามขึ้นในปี 2016 เกิดจากการนำ Share (แบ่งปัน) + parenting (พ่อแม่) มารวมคำกัน เป็นคำแสลงใหม่ ที่มีความหมายถึงพฤติกรรมของพ่อแม่ที่ชอบโพสต์,แชร์ภาพ, วิดีโอของลูกมากเกินไป ซึ่งอาจนำไปสู่การเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวจนส่งผลกระทบสู่อนาคตได้

    แต่อย่างที่กล่าวไปข้างนอก มองเผินๆ การ Sharenting ก็ไม่น่าจะมีผลเสียอะไร พ่อแม่ได้แชร์ภาพที่น่าเอ็นดูของลูกๆ ญาติๆและบรรดาผู้ติดตามได้มาเห็นเด็กๆน่ารัก

    อย่างไรก็ดี มีอันตรายหลายประการที่ซ่อนอยู่หลังฉากหน้าที่ดูน่ารักน่าเอ็นดูนี้ ซึ่งผลกระทบนั้นเป็นได้ทั้งจากภายนอก และภายในตัวของเด็กเอง 

    เรื่องแรกคือเรื่องของ Digital footprint ภาพที่โพสต์ลงไปในโลกออนไลน์ ย่อมจะคงอยู่ออนไลน์ตลอดไป เมื่อลูกเติบโตขึ้นแล้วกลับมาพบภาพของตัวเองตอนเด็กที่ไม่ชอบ ถูกแชร์ต่อไปมากมายในโลกออนไลน์ ก็อาจรู้สึกไม่ดีได้

    นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของการกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ (Cybercullying) โดยเฉพาะในโพสต์ที่แบ่งปันสาธารณะ ก็อาจมีผู้ไม่หวังดีเข้ามาแสดงความคิดเห็นในแง่ลบต่อตัวเด็ก เด็กบางคนก็อาจถูกเพื่อนกลั่นแกล้งล้อเลียน จากรูปที่ถูกพ่อแม่ลงในโซเชียล

    และที่อันตรายที่สุดคือมิพฉาชีพสามารถนำรูปและข้อมูลส่วนตัวของลูกไปใช้ได้ ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบที่ร้ายแรงตามมา

    ในแง่ของตัวเด็กเอง เด็กที่เติบโตมาโดยการถูกพ่อแม่แชร์ภาพโพสต์วิดีโอตลอดเวลา ย่อมได้รับผลกระทบต่อบุคลิกภาพและพัฒนาการ ขณะเดียวกัน เด็กที่เติบโตมาโดยเข้าใจเรื่องความเป็นส่วนตัว ได้รับความเคารพในสิทธิส่วนบุคคลจากพ่อแม่ จะมีความมั่นคงทางอารมณ์มากกว่า    

แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถลงรูปลูกในโลกออนไลน์ได้เลยนะคะ แต่ก่อนโพสต์รูปใดลงไป มีอยู่สองสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรนึกถึง ได้แก่


1. Consent is the key

    ก่อนจะลงรูปของลูก พ่อแม่ควรถามก่อนว่าลูกสมัครใจจะให้ลงรูปนี้ไหม 

เด็กที่โตพอจะรู้ความ สามารถบอกได้ว่าเขาพอใจหรือไม่พอใจอะไร การถามความสมัครใจของลูกจึงสำคัญมาก 

แต่หากเป็นเด็กทารก ก็เป็นความรับผิดชอบของพ่อแม่ที่จะรักษาสิทธิ์ให้กับลูก โดยการไม่ลงเผยแพร่ภาพ

 

2. Think before post

    แม้ว่าลูกจะยินยอมให้ลงรูปแล้ว แต่ก่อนจะลงรูป คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพิจารณาความเหมาะสมของรูปที่จะลงด้วย ระมัดระวังไม่ลงภาพที่ไม่เหมาะสมหรือเปิดเผยข้อมูลมากเกินไป


    พ่อแม่หลายท่านอาจมองว่าการแชร์รูปลูกเป็นการแสดงความรักในรูปแบบหนึ่ง แต่ผลเสียด้านสิทธิส่วนบุคคลและความปลอดภัยของลูก ก็เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ 

    คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมว่าอีกหน้าที่หนึ่งของพ่อแม่ คือการปกป้องสิทธิส่วนตัวของลูก โดยเฉพาะลูกๆในวัยที่ปกป้องสิทธิตัวเองไม่ได้ ดังนั้น การแสดงความรักของพ่อแม่ที่ถูกต้องของพ่อแม่ จึงไม่ควรเป็นการละเมิดสิทธิ์ของลูก แต่ให้นำความรักนั้น มาใช้ปกป้องสิทธิ์ของลูกกันเถอะค่ะ


เขียนและเรียบเรียง : รินรดา คงพิบูลย์กิจ

 

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa