window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
เพราะการเล่น คืองานของเด็ก
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“การเล่นคืองานของเด็ก” 


การเล่นเป็นสิ่งสำคัญหลักๆในชีวิตของเด็ก เด็กใช้การเล่นเพื่อพัฒนาทักษะและค้นพบโลก ดังนั้นการที่เด็กจะเติบโตและเรียนรู้ ได้ดี จึงต้องอาศัยการ “เล่น” นั่นเองค่ะ


แต่เมื่อพูดถึงเรื่องการเล่น คุณพ่อคุณแม่หลายคนก็อาจยังไม่เข้าใจว่าการเล่นคืออะไรกันแน่ สำคัญอย่างไร และเล่นอย่างไรจึงจะเหมาะสมกับเด็ก


เนื่องในวันเด็กแห่งชาติ เสาร์ที่ 8 มค. ที่ผ่านมา เน็ตป๊าม้าได้มีโอกาสเชิญผู้เชี่ยวชาญสองท่าน ได้แก่ ผศ.ดร.เทอดพงศ์ ทองศรีราช

(กุมารแพทย์พัฒนาการและพฤติกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) 

และครูปู ประพิมพ์ อิงคนานุวัฒน์

(ครูการศึกษาพิเศษ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคุณแม่ของลูกสาวอายุ 7 ปี) 

มาพูดคุยและให้คำแนะนำ รวมทั้งตอบคำถามคุณพ่อคุณแม่เกี่ยวกับ ‘การเล่น’ ของเด็ก


(สามารถรับชมไลฟ์ย้อนหลังได้ที่นี่ค่ะ  https://fb.watch/armrAQxFYz/)


วันนี้ ทางเน็ตป๊าม้าจึงรวบรวมคำแนะนำจากวิทยากรทั้งสองท่านมาฝากกันค่ะ


“กิจกรรมที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย”


คุณพ่อคุณแม่หลายอ่านอาจจะเคยอ่านหรือเคยเห็นตารางคำแนะนำกิจกรรมที่เหมาะสมกับลูกๆแต่ละช่วงวัยผ่านตากันมาบ้าง แต่ก็อาจจะยังไม่แน่ใจว่าจะเลือกของเล่นให้ลูกอย่างไรดี 


อ.เทอดพงศ์ได้ให้คำตอบที่น่าสนใจไว้ว่า “กิจกรรมที่เหมาะกับเด็กแต่ละช่วงวัย ไม่ตายตัว”


แล้วแบบนี้จะเลือกของเล่นให้ลูกอย่างไรดี ?

การจะตอบคำถามนี้ได้ มีสามสิ่งที่จะค้องคำนึงถึง ดังนี้ค่ะ


#พัฒนาการแต่ละด้านของลูก


ของเล่นแต่ละประเภทสามารถช่วยพัฒนาทักษะแต่ละด้านแตกต่างกัน ได้แก่ พัฒนาทักษะทางกาย ทางสังคม และทางการสื่อสาร


คุณพ่อคุณแม่ต้องพิจารณาว่าจะเลือกของเล่นที่ช่วยพัฒนาทักษะด้านใด ได้จากการดูว่า 1. วัยของลูกควรพัฒนาด้านใด และ 2. พัฒนาการของลูกมีจุดไหนที่ต้องกระตุ้นบ้าง 

ตัวอย่างการเลือก เช่น

 ????เด็กเล็กก่อน 1 ปี : แนะนำของเล่นที่ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ ที่จะช่วยให้เด็กฝึกยืนและเดินได้คล่อง

????เด็กวัยเตาะแตะ : ยังคงต้องการเล่นของเล่นที่พัฒนากล้ามเนื้อมัดใหญ่ แต่เป็นของเล่นที่สามารถเดินแล้วลากเล่นด้วยได้ เช่น รถลาก

????เด็ก 2 ปีขึ้นไป : อาจเลือกของเล่นที่ส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก เช่น บล็อกไม้ ตัวต่อ ดินสอสีและกระดาษ


????นอกจากนี้ การเล่นสมมติก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สำคัญจะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารและด้านสังคมแก่เด็ก โดยหัวใจสำคัญของการเล่นสมมติ คือการที่ผู้ใหญ่เข้าไปอยู่ใน ‘โลกของเด็ก’ ในช่วงเวลานั้น ให้เด็กได้เป็นผู้นำในการเล่น


#เด็กเล่นแล้วชอบ


หัวใจสำคัญของการเลือกของเล่น คือ เป็นสิ่งที่เด็กเล่นแล้วชอบ สนุก

ไม่จำเป็นจะต้องเป็นของเล่นราคาแพง อาจเป็นสิ่งของเครื่องใช้ภายในบ้าน หรือสิ่งที่เด็กๆประดิษฐ์ขึ้นมาเอง 


เพราะอะไรก็ตามที่เด็กจับมาเล่นแล้วสนุก ของนั้นจะกลายเป็นของเล่นทันที


เด็กบางคนอาจชอบเล่นรถมาก พ่อแม่ไม่ได้ซื้อรถของเล่นจริงๆ ที่มีราคาแพงให้ แต่เด็กเอาดินน้ำมัน กล่องกระดาษมาจินตนาการว่าเป็นรถ และสนุกกับการเล่น เท่านี้ก็สามารถเป็นของเล่นที่ดีมากๆแล้วค่ะ


ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการเลือกของเล่นอีกข้อ ก็คือ ‘ลูกชอบเล่นอะไร’ นั่นเองค่ะ


#ความปลอดภัย


อีกข้อที่ต้องคำนึงถึงในการเลือกกิจกรรมหรือของเล่นสำหรับลูกแต่ละวัย คือความปลอดภัย


ของเล่นที่ปลอดภัยควรเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมาตรฐานบังคับของมอก.(มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม) ซึ่งรับรองได้ในระดับหนึ่งว่าไม่มีวัสดุหรือสารเคมีโดยเฉพาะโลหะหนัก ที่เป็นอันตรายต่อเด็ก


คุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าของเล่นชิ้นไหนปลอดภัยหรือไม่ ได้ง่ายๆ โดยดูที่สัญลักษณ์ มอก. ค่ะ


ทั้งนี้ ยังต้องคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ของเด็กด้วย เช่น เด็กวัยที่ชอบคว้าของเข้าปาก อาจต้องเลี่ยงของเล่นชิ้นเล็กที่สามารถเข้าไปติดคอได้ หรือเด็กวัยที่ยังอาจไม่เข้าใจเรื่องอันตรายจากการจมน้ำ ก็ไม่ควรปล่อยเด็กเล่นใกล้แหล่งน้ำตามลำพังค่ะ


จะเห็นได้ว่า การเล่นมีความสำคัญต่อทั้งพัฒนาการของเด็กและความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและผู้ปกครอง จึงคุ้มค่าเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ปกครองควรศึกษาและให้เวลาในการเล่นกับลูก


เพราะหาก ‘เล่นเก่ง’ ลูกก็จะเก่งค่ะ

.

เขียนและเรียบเรียง : รินรดา คงพิบูลย์กิจ

ภาพประกอบ : พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์

NET PaMa