window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
วิธีสังเกตว่าลูกเสพติดอินเทอร์เน็ตหรือไม่
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

73A3EA09-13FA-4E44-AFB2-2E2CA0FBC1FA

เมื่อต้องเรียนออนไลน์ แน่นอนว่าย่อมมีปัญหาหลายอย่างตามมา ก่อนหน้านี้เราได้พูดถึงวิธีที่จะช่วยลูกเรียนออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพไปแล้ว ในบทความนี้จะพูดถึงปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่อาจเป็นผลจากการเรียนออนไลน์ นั่นคือ
.
“การเสพติดอินเทอร์เน็ต (internet use disorder)” ในสถานการณ์ปกติก็เป็นเรื่องน่ากังวลในเด็กไทยอยู่แล้ว ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันทำให้เด็กๆ เสี่ยงต่อภาวะนี้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการต้องนั่งอยู่หน้าจอตลอดเวลาเพราะต้องเรียนออนไลน์ และการต้องอยู่บ้านออกไปไหนไม่ได้ เด็กๆ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ต้องการกิจกรรม การปฏิสัมพันธ์ การได้พบเพื่อนฝูง เมื่อเขาหาจากโลกจริงไม่ได้ ก็จะหันมาหาทางออนไลน์แทน ไม่ว่าจะเป็นเกม สื่อสังคมออนไลน์ หรือเว็บไซต์ต่างๆ
.
แล้วพ่อแม่จะสังเกตได้อย่างไร ว่าลูกเริ่มมีภาวะเสพติดอินเทอร์เน็ตแล้ว การรู้ถึงสัญญาณเตือนเบื้องต้นเป็นสิ่งสำคัญมากในการป้องกันภาวะนี้ เพื่อที่พ่อแม่จะได้เข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ซึ่งสัญญาณต่างๆอาจมีได้ดังนี้
.
อินเทอร์เน็ตเป็นทางเดียวในการแก้เบื่อระบายความเครียด 
.
โดยทั่วไป เมื่อเด็กๆ เผชิญกับความเครียด มักจะหาทางระบายด้วยวิธีการต่างๆ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน ทำให้ตัวเลือกกิจกรรมมีข้อจำกัด เด็กๆ ไม่สามารถออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับเพื่อน/เล่นกีฬาได้ กิจกรรมที่ทำได้จึงเป็นกิจกรรมในบ้าน เช่น การเล่นดนตรี วาดภาพ ทำสิ่งที่ชอบ รวมถึงการเล่นอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่พบได้
แต่หากเด็กใช้การจัดการความเครียดเป็นการเล่นอินเทอร์เน็ตอย่างเดียว ไม่ทำกิจกรรมอื่น เด็กอาจมีภาวะเสพติดอินเทอร์เน็ตได้ พ่อแม่จึงควรเข้าไปพูดคุยและชักชวนให้หากิจกรรมอื่นๆทำแทน
.
.
ไม่สามารถควบคุมระยะเวลาการใชอินเทอร์เน็ตตามที่กำหนด
.
ไม่สามารถหยุดตัวเองได้ แม้ว่าจะใช้อินเทอร์เน็ตมาแล้วเป็นเวลานาน หรือหมกมุ่นอยู่แต่กับอินเทอร์เน็ต คิดแต่จะหยิบมือถือขึ้นมาเล่นตลอดเวลา เล่นอินเทอร์เน็ตทุกที่ทุกเวลา ทั้งในเวลาที่ว่างและไม่ว่าง เล่นเวลาทานข้าว เข้าห้องน้ำ จนไม่สามารถหยุดได้
ใช้อินเทอร์เน็ตนานขึ้นเรื่อยๆ
.
เด็กเริ่มใช้เวลาอยู่กับอินเทอร์เน็ตนานขึ้น ขอต่อรองเวลาให้ได้เล่นนานขึ้น หรืออาจไม่สามารถรักษาเวลาที่ตกลงกันไว้ได้ รวมถึงหมกมุ่นกับเว็บไซต์ใหม่ๆ ต้องการเพิ่มความเร็วของอินเทอร์เน็ตให้เร็วขึ้น
.

มีอารมณ์ก้าวร้าวเมื่อถูกสั่งให้เลิกใช้อินเทอร์เน็ต
.
เด็กทั่วไปก็อาจมีอาการหงุดหงิดได้บ้างเมื่อถูกสั่งให้เลิกทำสิ่งที่กำลังสนุก แต่หากพ่อแม่พูดจาดีๆ ด้วยเหตุผล เด็กส่วนใหญ่ก็จะเข้าใจได้ 
แต่ถ้าแม้พูดจาตักเตือนด้วยดีแล้ว แต่เด็กยังมีอาการก้าวร้าวโวยวาย เสียงดัง ร้องงอแง จนถึงทำร้ายตนเองและผู้อื่น หรือเมื่อไม่ได้เล่นอินเทอร์เน็ตแล้ว เด็กมีอาการหงุดหงิดโมโห กระสับกระส่ายไม่มีสมาธิ บางคนอาจถึงขั้นซึมเศร้า นี่เป็นสัญญาณสำคัญว่าเด็กมีภาวะติดอินเทอร์เน็ตแล้ว
.
.
ไม่สามารถรับผิดชอบชีวิตตนเองได้ดีเท่าที่ควร
.
เด็กที่ติดอินเทอร์เน็ตจะไม่ตระหนักว่าตนเองเล่นมากเกินไป จะยังคงเล่นต่อไปโดยไม่พยายามควบคุมการเล่น แม้ว่าจะเกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการขาดความรับผิดชอบด้านการเรียน การทำงาน นอนดึกตื่นสาย หรือนอนไม่หลับ กินข้าวไม่เป็นเวลา มีปัญหาสุขภาพ มีปัญหาด้านสัมพันธภาพกับคนอื่น
 .       
ภาวะเสพติดอินเทอร์เน็ตเป็นอีกภาวะที่ต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงนี้ ที่เด็กมีความเสี่ยงจะติดอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งความเครียดที่มากขึ้นและการที่ต้องอยู่แต่บ้าน พ่อแม่เป็นคนสำคัญที่จะช่วยสอดส่องป้องกันภาวะนี้ได้
.
เขียนและเรียบเรียง นศพ.รินรดา คงพิบูลย์กิจ
ภาพประกอบ พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์

NET PaMa