window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ทำไงดีลูกรบเร้าจนเราของขึ้น
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

"ขออีกครั้งเดียวเองนะครับแม่ สัญญาจริงๆ"

"แม่ แม่ แม่คะ หนูขอหน่อยนะคะ"

"แม่ครับ แม่ แม่ แม่ได้ยินผมมั้ย ผมขอนิดเดียวเองนะ"


ลูกอ้อนลูกตื๊อแบบนี้...มีใครเคยเจอบ้างคะ เวลาที่ลูกอยากได้อะไรบางอย่าง ทั้งๆ ที่ตกลงกันซะดิบดีแล้วว่า "ยังนะลูก" แต่ไหงพอถึงเวลากลับกลายเป็นอย่างนี้ไปได้ เจอเเบบนี้ก็เล่นเอาปวดเศียรเวียนเกล้ากันไปเป็นแถบๆ


พ่อแม่ที่มีลูกเล็กหน่อยก็มักถูกโจมตีด้วยพลังความน่ารัก น่าเอ็นดู ไม่ว่าจะเป็นน้ำเสียง แววตาน่าสงสาร จนหลายครั้งก็ทำเอาใจอ่อน ส่วนคนที่มีลูกโตหน่อย เมื่อลูกภาษาดีขึ้น อาจเจอลูกชักแม่น้ำทั้ง 5 มาหว่านล้อม ฟังเพลินๆ ก็ดูมีเหตุมีผล แต่ถ้าเพลินมากไปก็เผลอใจอ่อนยอมรับปากเอาได้เหมือนกันใช่มั้ยคะ 


ถ้ายอมตามใจบ่อยๆ  ลูกก็ดูเหมือนจะเรียนรู้ว่าตื๊ออีกนิด อ้อนอีกหน่อย เดี๋ยวพ่อแม่ก็ใจอ่อน เลยใช้ไม้นี้กับพ่อแม่บ่อยขึ้น ทีนี้เราในฐานะพ่อแม่ยอมครั้งสองครั้งก็ไม่เป็นอะไรหรอก แต่พอต้องยอมหลายครั้งด้วยเรื่องเดิมๆ มันก็หงุดหงิดใจได้เหมือนกัน อย่างเช่นการขอต่อเวลาเล่นเกมหรือดูการ์ตูน ซื้อไอศกรีมรสโปรด ซื้อของเล่นหน้าโรงเรียนที่มันช่างเย้ายวนใจ (แต่ปัจจุบันเรียนออนไลน์ปัญหาในส่วนนี้อาจลดลง)


พ่อแม่หลายคนก็เริ่มมี "เอ๊ะ" เกิดขึ้นในใจ คิดว่าไม่ได้การล่ะ ครั้งหน้าต้องตั้งสติ ไม่ตามใจแล้ว เดี๋ยวเคยตัว เสียนิสัย...จากเดิมที่ขออะไรก็ได้หมด อยู่ๆ ก็อดซะอย่างนั้น ลูกจะสงสัยว่า "ทำไมไม่ได้แล้วล่ะ" เมื่อพ่อแม่พยายามอธิบายเหตุผลร้อยแปดพันเก้าว่าที่ผ่านมาน่ะนะก็เพราะว่า...


บางคนโชคดีหน่อยที่ลูกรับฟังเหตุผล แต่ที่มักจะพบเห็นได้บ่อยๆ คือ


เด็กน้อยในมุมน้ำเงิน--จะเอาให้ได้ ใช้ทุกกลยุทธ์ รบเร้า เร้าหรือ งัดทุกกระบวนท่าออกมาใช้ อย่างการเรียกซ้ำๆ "แม่ แม่ แม่" วนไปมา พลางเดินตามต้อยๆ พร้อมกับดึงเสื้อแม่ น้ำตาก็พรั่งพรู หนักหน่อยก็ลงไปดิ้น กรี๊ดอาละวาด โวยวาย ถ้าที่บ้านไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นข้างนอกบ้านอย่างห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล ตลาด ก็ทำให้เครียดเหมือนกัน


พ่อแม่ในมุมแดง--ที่ตั้งหลักมาแล้วก็ไม่ยอม เริ่มใช้เสียงหนึ่งไปจนถึงเสียงแปด บางทีของขึ้นอารมณ์ไปสุดฉุดไม่อยู่จนเผลอดุและตี แล้วก็แยกย้ายกันไปเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น


แต่ก็หลายครั้งมุมแดงก็ยอมยกธงขาว ตัดรำคาญด้วยการ "ติดสินบน" ยอมตามใจเพื่อให้ปัญหามันจบๆไป พร้อมคำขู่ด้วยว่า ครั้งหน้าไม่ได้แล้วนะ ถ้ามีอีกจะ...


ลูกก็จะเรียนรู้ว่า "อ๋อออ ถ้าใช้ไม้หนึ่งเอาความน่ารักจู่โจมแล้วไม่ได้ผล ต้องใช้ไม้สองเข้าช่วยโดยทำให้พ่อแม่ของขึ้นนี่เอง" อยากเตือนว่าถ้าหากติดสินบนบ่อยๆ ครั้งต่อไปลูกอาจจะทำพฤติกรรมที่รุนแรงขึ้น เด็กบางคนขว้างปาข้าวของ ทำร้ายคนอื่น พยายามล้วงคอให้อาเจียร ถ้าโตเป็นวัยรุ่นวิธีการเรียกร้องก็รุนแรงขึ้น เช่น ถ้าไม่ให่เล่นเกมจะกระโดดตึก จะกรีดข้อมือ ก็มีให้เห็นนะคะ


ดังนั้น ถ้าย้อนกลับไปได้เวลาที่ลูกมารบเร้าแบบนี้ ควรที่จะทวงข้อตกลงกันโดยถามว่า "เอ๊ะ เราตกลงกันว่ายังไงนะ" ซึ่งแน่นอนว่าลูกคงจะยังไม่หยุดตื๊อหรอก แต่อย่างน้อยก็เป็นการสะกิดให้รู้ตัว


ต่อมาก็สูดหายใจลึกๆ ตั้งสติแล้วบอกด้วยความเมตตาว่า "แม่รู้ว่าหนูอยากได้เวลาเพิ่ม/ของเล่นชิ้นนั้น/ขนมร้านนี้" ตบท้ายด้วย "แต่เราตกลงกันแล้วว่าไม่ได้" 


ถ้าลูกยอมทำตาม ก็ชื่นชมในความพยายามอดททนห้ามใจตัวเองได้ ถ้าลูกกระฟัดกระเฟียดแต่สุดท้ายก็ยอม อันนี้ก็ต้องชมนะคะ เพราะลูกยอมทำตามข้อตกลง ขอให้ชมงดบ่นหรือสอนไปก่อน เพราะถ้าทำขึ้นมาสถานการณ์อาจเปลี่ยนไปจากเดิมที่กำลังดีเป็นแย่ลงได้


ถ้าลูกไม่ยอมทำตาม ยังคงรบเร้าต่อไป อันนี้งานยากและท้าทายหน่อย ให้พ่อแม่เพิกเฉยพฤติกรรมเหล่านั้น ไม่ให้ความสนใจ ประหนึ่งปิดหู ปิดตา ถ้าไม่ไหวกลัวใจอ่อนหรือระเบิดก็เดินหนีออกมาก่อน


ช่วงแรกลูกจะแสดงพฤติกรรมแย่ลง เพราะถูกขัดใจ หรืออาจจะตั้งใจทำเพื่อท้าทาย ยั่วยุอารมณ์ ไม่ต้องตกใจ ขอให้นิ่งไว้ สักพักลูกจะค่อยๆ เรียนรู้เองว่าวิธีการเหล่านั้นไม่ได้ผลอีกต่อไป เมื่อเห็นว่าลูกหยุดปุ๊บให้รีบหันไปชมในความอดทน อดใจ ทำตามกติกาทันทีเลยค่ะ


ทั้งหมดนี้อาจจะทำได้ยากในช่วงแรก แต่ขอให้อดทน เเข็งใจ ไม่สนใจเมื่อลูกรบเร้า แล้วจะค่อยๆ ดีขึ้นเองนะคะ 


หลายคนกลัวว่าลูกจะไม่รัก ขอให้ตั้งคำถามกับตัวเองในใจว่าลูกจะไม่รักจริงๆ หรือเปล่า ถ้าคำตอบคือไม่ใช่ เราในฐานะพ่อแม่ก็ควรให้ลูกเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่มี ไม่ได้ดั่งใจบ้างก็ได้ เพราะโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่จะได้ตามความต้องการเสมอไป เราเองก็ไม่สามารถที่จะอยู่ตามใจลูกได้ตลอดไป ดังนั้นควรถือเป็นโอกาสที่ดีในการสอนลูกให้เรียนรู้ชีวิตจริงด้วยเช่นกัน

 

เรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล

ภาพถ่ายโดย Anna Shvets จาก Pexels

 

NET PaMa