window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
แก้ปัญหาพ่อแม่ปรี๊ดแตก...ด้วยการขอเวลานอก
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว

“มันเหลืออดแล้วจริงๆ ค่ะ ไม่รู้จะทำอย่างไร เลยเผลอฟาดไปทีสองที”

“ไม่ได้อยากจะตีหรอกค่ะ แต่มันสุดจะทนแล้ว”

“ที่ทำลงไปก็รู้สึกผิดนะคะ แต่ถ้าไม่ตีก็ไม่หยุดโวยวายซะที”


เป็นประโยคที่มักได้ยินบ่อยๆ จากพ่อแม่ที่กำลังปวดหัวกับปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมของลูก สรุปใจความได้ว่าไม่มีใครอยากตีลูก และมีหลายครั้งเลือกที่จะจัดการอารมณ์ตัวเองโดยการขอเวลานอก เดินออกมาให้ใจร่มๆ ก่อน เพราะถ้าอยู่ก็คงต้องมีฟาดกันบ้าง 


แต่ก็มักจะมีคำถามตามมาคือ ลูกจะรู้สึกแย่หรือกลายเป็นเด็กมีปัญหามั้ย ลูกจะคิดว่าเราไม่รักหรือเปล่า
คำตอบคือ ขึ้นอยู่กับวิธีการเดินออกมาค่ะ

  • ก่อนเดินออกมา เป็นขั้นตอนที่สำคัญมากทีเดียว ควรพูดให้ลูกรู้ถึงความรู้สึกและความต้องการของเรา โดยที่ไม่ทำให้ลูกรู้สึกแย่อย่างที่พ่อแม่กังวลข้างต้น

    1. บอกลูกสั้นๆ ว่า “แม่โกรธที่ลูก…” ด้วยความนิ่ง ไม่ใส่อารมณ์  เช่น แม่โกรธที่ลูกตะโกนและพูดคำหยาบกับแม่แบบนี้ 

***ขอให้งดตำหนิที่ตัวตนลูกว่า ดื้อ ก้าวร้าว เอาแต่ใจ เถียง ไม่มีสัมมาคารวะ อกกตัญญู เช่น แม่โกรธที่หนูก้าวร้าวแบบนี้ เพราะเป็นการต่อว่าตัวตนทั้งหมดของลูก ทำให้ลูกสับสนและเข้าใจผิดว่าแม่ไม่รักเขาแล้ว

    2. บอกความต้องการ “แม่ยังไม่พร้อมคุย ขออยู่คนเดียวซัก 15 นาที เดี๋ยวแม่ใจเย็นแล้วจะกลับมาคุยด้วย” เด็กหลายคนมีความกังวลเมื่อเห็นแม่โกรธและไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เเม่จะกลับมาหาเขาอีกครั้ง โดยเฉพาะเด็กเล็กจะยิ่งกังวลกลัวการแยกจาก กลัวแม่ทิ้งไปมากกว่าเด็กโต ดังนั้นการบอกระยะเวลาจะช่วยให้ลูกรู้สึกอุ่นใจ รู้ว่าเดี๋ยวแม่กลับมาหาแน่นอน 

  • เราเดินหนี แต่ลูกเดินตาม เป็นสิ่งที่มักเจอได้บ่อย เพราะลูกเป็นห่วงความรู้สึกของพ่อแม่ อยากให้พ่อแม่หายโกรธแล้วพูดกับเขาดีๆ หรือลูกอยากรบเร้าเอาสิ่งที่ต้องการอยู่ จึงควร

    1. ตั้งสติ และหันไปบอกลูกด้วยท่าทีนิ่งๆ ว่า “แม่ยังไม่พร้อมคุย” และย้ำความต้องการอีกครั้ง

    2. เพิกเฉยพฤติกรรมและคำพูดของลูกในขณะนั้น ข้อนี้เป็นเรื่องยากและท้าทายความอดของคนเป็นพ่อเป็นแม่มาก แต่ขอให้พยายามอดทนต่อไป แล้วลูกจะเรียนรู้ว่าการเรียกร้องความสนใจตอนนี้ไม่ได้ผล

  • กลับมาคุยใหม่ หลังจากที่อารมณ์สงบมากขึ้น ให้กลับไปหาลูกแล้วปรับความเข้าใจกันด้วยสติ และอย่าลืมขอบใจลูกที่ให้พื้นที่แม่ได้จัดการอารมณ์ตัวเองด้วยนะคะ


เขียนและเรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพประกอบ ณัฏฐธิดา สุวรรณโยธิน


NET PaMa