window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
“พูดดีก็แล้ว ขู่ก็แล้ว ไม่เคยจำ ต้องตีถึงจะจำ”
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
“พูดดีก็แล้ว ขู่ก็แล้ว ไม่เคยจำ ต้องตีถึงจะจำ” มักจะเป็นคำพูดที่พ่อแม่นำมาเล่าให้ฟังเมื่อลูกทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมบ่อยครั้งจนพ่อแม่เอือมระอา หรือที่มักจะใช้คำว่า “เป็นประจำ” เช่น ดื้อ เถียง ทำข้าวของเสียหาย รังแกคนอื่น โกหก ลักขโมย เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่ลูกทำนั้นสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้เป็นอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่ช่วยลดพฤติกรรมไม่ดีลงคือ “การลงโทษ” เชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากลงโทษลูกอย่างรุนแรงหรอกถ้าไม่เหลืออดจริงๆ

เคยมีคุณพ่อท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่าไม่ได้อยากจะตีหรอก แต่อยากให้กลัวจะได้หลาบจำ เพื่อให้รู้ว่าไปทำร้ายเพื่อนแบบนั้นไม่ได้ กลัวว่าต่อไปลูกจะไม่มีเพื่อน กลัวว่าจะทำผิดร้ายแรงกว่านี้ พอตีเสร็จเห็นลูกร้องไห้จนหลับไป ก็แอบเอายาไปทาให้ลูกเพราะความสงสาร แล้วมานั่งร้องไห้รู้สึกผิด เข้าตำราที่ว่าลูกเจ็บพ่อแม่เจ็บยิ่งกว่า

แต่เมื่อได้พูดคุยกับเด็กแล้ว พบว่าสิ่งที่เด็กจำได้อย่างฝังใจกลับเป็นอารมณ์ของพ่อที่รุนแรง ภาพที่พ่อเงื้อเข็มขัดฟาดลงมาที่หลัง รู้แค่ว่าตอนนั้นกลัวมาก เจ็บมาก คิดว่าพ่อไม่รัก เพราะพ่อทำร้ายเขา แต่ไม่รู้เลยว่าสิ่งที่พ่อทำไปนั้น เพราะรักและหวังดีทั้งนั้น

นอกจากลูกจะไม่รับรู้เจตนาที่ดีของพ่อแล้ว ลูก"เกิดความชินชา"ต่อความรุนแรง ตีบ่อยๆ เข้าก็ไม่สะทกสะท้านอะไร แถมท้าให้ตีอีก คิดว่าการใช้กำลังจัดการปัญหาเป็น "เรื่องธรรมดา" จึง"เลียนแบบ"พฤติกรรมที่เห็นเป็นประจำคือโกรธแล้วระเบิดออกด้วยคำพูดหรือการกระทำที่รุนแรงกับคนใกล้ตัว เขาทนได้เพื่อนก็คงทนได้เหมือนกัน จนหลายครั้งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดตามมา และนอกจากนี้ยังมีเด็กที่เอาวิธีรุนแรงนั้นมาทำกับตัวเองเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่อันตรายมาก

ดังนั้น การลงโทษด้วยวิธีรุนแรงเพราะอยากให้ลูกกลัวแบบนี้ จึงไม่ได้ช่วยให้ลูกเรียนรู้ผลการกระทำของตัวเอง แต่กลับเป็นการส่งเสริมให้ลูกใช้ความรุนแรงมากขึ้นทั้งกับคนอื่นและตัวเอง ส่งผลเสียต่อสัมพันธภาพระหว่างพ่อแม่และลูก และที่สำคัญ...หากลูกไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นที่รักแล้ว เขาก็ย่อมรักคนอื่นไม่เป็นเหมือนกัน

| ตีเพราะรัก..อาจจะไม่ใช่วิธีสอนลูกที่ดีนัก |

เขียนและเรียบเรียง ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
ภาพประกอบ พรรษมนต์ ศุภจารีรักษ์
NET PaMa