window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');

“ตามคืนความสุขที่หายไป…ในวันที่มีลูก”

เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว
“ตามคืนความสุขที่หายไป…ในวันที่มีลูก”
#วิธีแก้ปัญหาความขัดแย้งในครอบครัว
.
ในวันที่มีลูกทุกคนย่อมอยากมีครอบครัวที่อบอุ่นรักและเข้าใจกัน แต่ในความเป็นจริงทั้งภาระหน้าที่ ความเครียดจากการทำงานและการเลี้ยงลูก ปัญหาการเงินและปัญหาอื่นๆ รอบตัว ทำให้เวลาของชีวิตคู่และเวลาส่วนตัวลดลง การกระทำของอีกฝ่ายที่กระทบอารมณ์ การถูกละเลยไม่ใส่ใจในความรู้สึก มีแต่คำตำหนิและการแก้ตัวกลายเป็นปัญหาสะสม เหลือเพียงความขัดแย้งที่เข้ามาแทนที่ความรักและความเข้าใจ
.
เป็นเรื่องปกติที่ต่างฝ่ายจะต่างคิดว่าตัวเองถูก อยากให้อีกฝ่ายยอมเปลี่ยน #เพราะทุกคนมักมองจากมุมของตัวเองเสมอ
.
แต่หากปล่อยให้ปัญหาความขัดแย้งของพ่อแม่ยืดเยื้อ นานวันมีแต่จะทำให้ทุกคนเจ็บปวด และคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ”ลูก “
.
เมื่อรับรู้ได้ว่าพ่อแม่ขัดกัน เถียง ทะเลาะกันอยู่ตลอดจะเกิดเป็นอารมณ์ลบสะสม โกรธ เศร้า กลัว กังวล เสียใจ โทษตัวเอง ทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางใจ ซึ่งมีผลต่อตัวตนจิตใจและความสัมพันธ์อื่นของลูกในระยะยาว
.
การเลี้ยงลูกเชิงบวกหากทำถูกวิธีจะให้ผลดีกับทุกคนในบ้าน เป็นการสร้างสมดุลระหว่าง “กฎและวินัยที่ดี” และ “ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน“ ขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้จึงจะเป็นการสร้างความสุขในครอบครัวอย่างแท้จริง
.
วิธีคลายความขัดแย้งเพื่อให้พ่อแม่เป็นทีมเดียวกัน ช่วยกันเลี้ยงลูกให้เป็นเด็กดีมีวินัยมีความสุข มีความมั่นคงทางใจและช่วยซ่อมสมานความสัมพันธ์ในครอบครัวทำได้ดังนี้
.
#สำรวจอารมณ์ความรู้สึกและความต้องการของตัวเอง
ตั้งสติทบทวนให้ดีว่า เรามีความรู้สึกอย่างไรบ้างต่อเหตุการณ์ที่เกิด โมโห โกรธ ร้อนใจ น้อยใจหงุดหงิด กังวล เศร้า ผิดหวัง เสียใจ เป็นต้น
.
ที่ผ่านมาอารมณ์เหล่านี้มีผลอย่างไรกับเราและคนรอบข้างทั้งในด้านบวกและด้านลบ อะไรคือปัญหาที่ต้องการแก้ไข ทบทวนเพื่อให้เข้าใจถึงความรู้สึกและความต้องการที่แท้จริง
.
#เปลี่ยนทัศนคติลดความคาดหวังต่อผู้อื่นลง
คนทุกคนมักอยากให้อีกฝ่ายยอมเปลี่ยน แต่ในความเป็นจริงเราไม่สามารถเปลี่ยนใครได้ หากเขาไม่ได้เห็นปัญหาและอยากที่จะเปลี่ยนตัวเอง
.
หากต้องการที่จะเปลี่ยนสิ่งใด เป็นไปได้ไหมที่จะเริ่มต้นเปลี่ยนที่ตัวเรา ?
.
เพราะ “ตัวเรา” คือสิ่งแรกที่เปลี่ยนง่ายที่สุด เริ่มที่การดูแลใจและจัดการอารมณ์ของตัวเอง ตั้งสติเพื่อแก้ปัญหา
.
สำหรับครอบครัวการแสดงออกถึงความรักทั้งการกระทำและคำพูด แสดงออกว่าห่วงใยถามไถ่ความรู้สึก พูดคุยเรื่องที่อีกฝ่ายสนใจเป็นเรื่องที่ควรทำให้กัน
.
สิ่งนี้ยังมีอยู่ในครอบครัวเราหรือไม่ เราเป็นฝ่ายเริ่มทำได้ไหมหากมันขาดหายไป หากทำได้สม่ำเสมอจะช่วยให้อีกฝ่ายรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลง ยอมเปิดใจทบทวนอยากที่จะเปลี่ยนตัวเองเช่นกัน

#ทำความเข้าใจกันและกัน
อะไรทำให้คู่ชีวิตของเรามีความเชื่อและเป็นคนเช่นนี้ เช่น สิ่งแวดล้อม การเลี้ยงดูจากครอบครัว ปมวัยเด็ก ปัญหาชีวิต นิสัยหรือปัจจัยอื่นๆ หรืออะไรที่ทำให้เขาเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม
.
“ถ้าเราเติบโตมาแบบเขามีทัศนคติแบบเขา เราอยากให้คนอื่นพูดและทำกับเราอย่างไร” เปิดใจมองในมุมของอีกฝ่ายเพื่อที่จะเข้าใจกันมากขึ้น
.
#มองหาข้อดีเพื่อกล่าวชื่นชม
คนทุกคนต้องการการยอมรับ มีคุณค่าและเป็นที่รัก
คนตรงหน้าคือคู่ชีวิตที่เราเลือกมาเป็นพ่อแม่ของลูก เขาต้องมีข้อดีบ้าง พยายามมองให้เห็น
.
ขอบคุณและชื่นชมในสิ่งที่เป็นจริงให้บ่อยเท่าที่ทำได้ เช่น ขอบคุณที่หาเงินเลี้ยงครอบครัว ทำอาหาร ทำงานบ้าน ขับรถรับส่ง เลี้ยงลูก พาไปทานข้าว ชื่นชมและขอบคุณกันแม้ในเรื่องเล็กๆน้อยๆ การชมจะช่วยซ่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันได้มาก
(ศึกษาเทคนิคการชมเพิ่มเติมได้ในบทที่ 3 คอร์สจัดเต็ม ซึ่งใช้ได้กับทุกคนในครอบครัว )
.
#สื่อสารบอกถึงความรู้สึกและความต้องการ
ปัญหาครอบครัวมักลุกลามและเรื้อรังจากการไม่คุยกัน คิดกันไปเอง มักรู้สึกว่าพูดไปก็ไร้ประโยชน์แต่ลึกๆ ก็ยังหวังให้อีกฝ่ายเข้าใจ
.
หากใช้วิธีเงียบ เมินเฉย หรือประชดกดดันให้รู้สึกถึงความไม่พอใจ แต่อีกฝ่ายมักไม่สนใจและทำคืนบ้าง เป็นเช่นนี้ซ้ำๆ นับวันความสัมพันธ์จะยิ่งบั่นทอน
.
การสื่อสารในครอบครัว ไม่ได้หมายถึงแค่ “การพูด” แต่สำคัญคือต้อง“รับฟัง” กันให้มาก
.
ถึงจะโกรธก็ต้องฟังให้จบ พูดสะท้อนความรู้สึกของอีกฝ่ายเพื่อแสดงความเข้าใจเขาก่อน #เพื่อให้เขายอมเปิดใจรับฟังเราบ้าง และสำคัญที่สุด #บอกถึงความรู้สึกและความต้องการของเราให้เขารับรู้ รู้สึกอย่างไร อยากให้เขาทำอะไรให้บอกตรงๆ โดยไม่ต้องตำหนิที่นิสัยหรือโทษกันไปมา (I message)
.
ขอโทษและอภัยให้กันด้วยความจริงใจ หากที่ผ่านมาทำผิดพลาดไป(ศึกษาเทคนิคการสื่อสาร การฟังสะท้อนความรู้สึก และ เทคนิค I message บอกความรู้สึกและความต้องการของตนเอง ได้ในบทที่2 คอร์สจัดเต็ม ซึ่งใช้ได้ดีกับทุกคนในครอบครัว)
.
“ขอโทษนะ พ่อเข้าใจแล้วว่า แม่เสียใจมากที่พ่อเอาแต่ต่อว่าแม่และตามใจลูก ทั้งๆที่แม่อยากสอนให้ลูกของเราเป็นเด็กดี ต่อไปนี้พ่อจะเปิดใจรับฟังให้มาก พ่ออยากให้เราคุยกันดีๆ เราจะได้เข้าใจกัน แม่ว่าดีไหม”
.
“ที่ผ่านมาพ่อคงน้อยใจที่เหนื่อยมายังต้องถูกแม่บ่น แม่ขอโทษนะที่ลืมคิดไปว่า พ่อก็อยากจะพักบ้าง แม่เองดูลูกทั้งวันทำงานบ้านด้วยเหนื่อยและเครียดมากอยากให้มีคนช่วยบ้างจริงๆ ครั้งหน้าแม่จะถามก่อนว่า พ่อพอไหวที่จะแม่ดูลูก แบบนี้พ่อโอเคไหม”
.
#อดทนและสม่ำเสมอ
ความพยายามเล็กๆซ้ำๆจะนำไปสู่ความสำเร็จ การแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยเฉพาะปัญหาที่เรื้อรังมานานไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยเวลาและความอดทนอย่างมาก หากทำได้สม่ำเสมอถึงอาจต้องใช้เวลาแต่ทุกอย่างจะดีขึ้นอย่างแน่นอน
.
#ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหากต้องการความช่วยเหลือ
หากพยายามทุกวิธีแล้วปัญหายังคงยืดเยื้อ การปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือทำครอบครัวบำบัด (family therapy) อาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยในการหาสาเหตุ และทางแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
.
การเริ่มเป็นฝ่ายเปลี่ยนแปลงอาจทำให้รู้สึกว่า กำลังพยายามอยู่ฝ่ายเดียวทำให้ท้อและหมดกำลังใจ ขอให้โอบกอดยอมรับทุกอารมณ์และความรู้สึกที่เกิดขึ้น
.
ทบทวนและถามตัวเองว่า เรากำลังทำอะไรและทำเพื่อใคร อะไรคือสิ่งที่เราต้องการมากที่สุด ครอบครัวที่มีความสุข ความรู้สึกมีคุณค่า ความรักและการยอมรับ ความสัมพันธ์ที่ดีหรือเหตุผลอื่นๆ
.
สิ่งที่กำลังทำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เชื่อว่าคำตอบที่มาจากใจจะช่วยนำทางและเป็นพลังให้เราไปต่อได้อย่างแน่นอน ♥️
.
Net PAMA ขอเป็นกำลังใจและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างครอบครัวสามัคคี เพื่อเป็น “พื้นที่ปลอดภัยของลูกๆ” เป็น “ความสุขของทุกคนในบ้าน” สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ต้องการเรียนรู้ทักษะเชิงบวกที่สำคัญที่ใช้ได้กับทุกคนในครอบครัว สามารถลงทะเบียนเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ https://www.netpama.com โดยคอร์สจัดเต็มของเราถูกรวบรวมและจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อทุกคนในครอบครัวค่ะ

Positive Parenting Anywhere Anytime มาเลี้ยงลูกเชิงบวกกับ 'เน็ตป๊าม้า' หลักสูตรออนไลน์สอนเทคนิคการปรับพฤติกรรมเด็กเชิงบวก

Empower Families, Enrich Societies
เสริมพลังครอบครัว, สร้างพลังสังคม
.
#NetPAMA #เน็ตป๊าม้า #เลี้ยงลูกเชิงบวก
หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PAMA