ลูกร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่ทำยังไงดี
ลูกร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียน พ่อแม่ทำยังไงดี บทความโดย #มัมมี่Bชวนเมาท์
ขอเล่าก่อนเลย บ้านนี้ลูกสาว 2 คน เข้าโรงเรียนอนุบาลครั้งแรกตอนอายุ 3 ขวบกว่าๆ ทั้งคู่ คนโตคุณปู่อาสารับส่ง ลูกร้องเป็นเดือนจนคุณปู่ร้อนใจต้องหาเครื่องรางมาให้ลูกพกไปโรงเรียนเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจ คุณครูมารับไป หลานยิ่งร้องยิ่งดิ้น คุณปู่ยิ่งสงสารจะแย่งเอากลับมาโอ๋ ยื้อกันไปกันมาหน้าโรงเรียน ส่วนคนที่สองแม่มีโอกาสได้รับส่งเอง ศึกษาวิธีเตรียมพร้อมรบ เอ๊ย พร้อมรับส่งลูกอย่างดี ลูกคนที่สอง ผลก็คือ ร้องไห้เหมือนกันค่ะ แต่ใช้เวลาประมาณ 1-2 อาทิตย์ในการปรับตัว
ในเด็กเล็กวัยอนุบาล ต้องบอกว่าการร้องไห้ไม่อยากไปโรงเรียนนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ เพราะเด็กเล็กเป็นวัยที่กลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ ซึ่งเด็กแต่ละคนต้องการเวลาในการปรับตัวแตกต่างกันไป ตามอายุ นิสัย และพื้นอารมณ์ติดตัว เด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบ หรือเด็กที่ปรับตัวยากอาจจะร้องไห้นานเป็นอาทิตย์ถึงเป็นเดือน ส่วนเด็กบางคนอาจดูเหมือนยิ้มแย้มแจ่มใสในวันแรกแต่ก็วันถัดไปอาจจะเริ่มร้องไห้ มากไปกว่านั้น ลูกอาจจะมีอาการอื่นๆที่ทำให้พ่อแม่ต้องยิ่งกังวลใจ เช่น นอนไม่หลับ นอนละเมอร้องไห้ งอแง ถดถอย เกาะติดแม่แจ ปัสสาวะรดที่นอน หรือ ปัสสาวะราดที่โรงเรียน ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่นั้นจากความเครียดและความวิตกกังวลของเด็ก
ความวิตกกังวลของเด็กแต่ละช่วงวัยนั้นอาจแตกต่างกัน และสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น เด็กเล็กกลัวการพลัดพรากจากพ่อแม่ (Seperation Anxiety) ทั้งเด็กเล็กและเด็กโตขึ้นมาหน่อยอาจจะกลัวไม่มีเพื่อน ไม่คุ้นเคยกับบรรยากาศที่โรงเรียน เรียนไม่รู้เรื่อง อ่านเขียนไม่ได้ถูกครูดุ ถูกขู่ หรือโดนกลั่นแกล้งเป็นต้น ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยลูกเตรียมพร้อมและแก้ปัญหา สำหรับการไปโรงเรียนได้ดังนี้
#เตรียมความพร้อมให้กับลูก
เมื่อถึงเวลาที่ลูกใกล้จะต้องไปโรงเรียน พ่อแม่สามารถช่วยลูกในการเตรียมตัวทั้งกายและใจโดยการบอกเล่าให้ลูกรู้ล่วงหน้าว่า ที่โรงเรียนลูกจะเจออะไรบ้าง โดยอาจจะพูดคุย เล่าเรื่องผ่านหนังสือนิทานที่เกี่ยวกับการไปโรงเรียน
"ที่โรงเรียนลูกจะมีเพื่อนเยอะมากๆ มาเล่นกับลูก ส่วนคุณครูจะสอนอะไรที่สนุกมากมาย ลูกจะได้ร้องเพลง เล่น เต้น ขีดเขียนระบายสี พอถึงเวลาเลิกเรียนแม่ก็จะไปรับลูกตรงเวลา แล้วเราก็จะได้กลับมาอยู่ด้วยกันเป็นแบบนี้ทุกวันเลยนะจ๊ะ"
#หนักแน่นรู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองและลูก
ในช่วงแรกหากเป็นไปได้พ่อแม่ควรจะไปรับส่งลูกด้วยตัวเองอย่างน้อย 1 สัปดาห์เพื่อเพิ่มความอุ่นใจให้กับลูกเมื่อลูกร้องไห้ ดิ้น หรือโวยวาย ให้แสดงความเข้าใจในความรู้สึกของลูกด้วยท่าทีสงบ ยอมรับความกลัว ความกังวลและอารมณ์ต่างๆของลูก และตอบสนองด้วยการ “การกอด” กอดเพื่อถ่ายทอดความรัก กอดเพื่อส่งผ่านความมั่นคงทางใจของเราให้กับลูก ไม่ต้องสั่งให้ลูกหยุดร้องไห้ แต่ให้ยอมรับความรู้สึกลูกแล้วบอกสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างอ่อนโยนแต่ตรงไปตรงมา
"แม่เข้าใจจริงๆว่าลูกอยากอยู่กับแม่ ตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่ลูกจะต้องไปโรงเรียน ลูกจะเจออะไรใหม่ๆ ที่ทำให้ลูกสนุก"
หากลูกพอรู้จักนาฬิกา สามารถบอกลูกให้ชัดเจนว่า
"เมื่อเข็มสั้นชี้ตรงนี้ เลิกเรียนลูกออกจะเจอแม่มาคอยรับลูกแน่นอน"
เมื่อส่งลูกถึงมือคุณครูแล้วให้โบกมือลาลูกด้วยรอยยิ้ม แล้วเดินกลับออกมาอย่างมั่นคง อย่ายื้อไปมาเพราะจะทำให้จิตใจลูกยิ่งหวั่นไหว
#รักษาสัญญาไปรับลูกให้ตรงเวลา
เมื่อสัญญากับลูกแล้วพ่อแม่ต้องทำให้ได้ เมื่อเลิกเรียน คนแรกที่ลูกจะมองหาคือพ่อแม่ โดยเฉพาะในช่วงเปิดเทอมใหม่ เราไม่ควรปล่อยให้ลูกรอเพราะจะทำให้ลูกยิ่งกลัว รู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ทำให้ยิ่งไม่อยากไปโรงเรียน
#ชวนลูกพูดคุยเรื่องโรงเรียนบ่อยๆ
ในการชวนลูกคุยให้รับฟังในสิ่งที่ลูกอยากเล่าไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่อยากรู้ คำถามที่เรามักจะถามบ่อยๆ คือ ไปโรงเรียนสนุกไหม วันนี้เรียนอะไร กินข้าวกับอะไร ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำถามที่ลูกสามารถบอกความรู้สึกของตัวเองได้มากนัก คำถามที่ดีนั้น ควรเป็นคำถามที่เปิดที่ให้โอกาสลูกได้พูดถึงความรู้สึกของตัวเอง อะไรที่ชอบไม่ชอบ อะไรที่ทำให้ลูกอึดอัด เช่น
"วันนี้ที่โรงเรียนอะไรดีที่สุดจ๊ะ"
"แล้วมีอะไรนะที่ลูกไม่ชอบเลยที่โรงเรียน"
"วันนี้หนูเล่นกับใครบ้าง"
"กิจกรรมอะไรบ้างที่หนูชอบหรือไม่ชอบ"
"หนูรู้สึกว่าคุณครูเป็นอย่างไรบ้าง"
โดยเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความรู้สึก ได้พูดได้ระบาย โดยพ่อแม่รอและรับฟังอย่างตั้งใจ สังเกตสีหน้าและอาการลูก อย่าบีบคั้น อย่าขัด พูดแทรกเพื่อสอน หรือรีบพูดให้กำลังใจลูกขณะลูกเล่า เพราะลูกจะรู้สึกว่าแม่ไม่เข้าใจและไม่อยากจะเล่าต่อ หากทำให้ลูกเปิดใจกล้าเล่าได้แล้ว จะทำให้รู้ว่าอะไรคือสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ลูกไม่อยากไปโรงเรียน
#รับรู้ปัญหาและหาทางแก้ไขเพื่อช่วยเหลือลูก
เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ลูกถึงไม่อยากไปโรงเรียนแล้ว เราควรรับมือแก้ไขปัญหาอย่างมีสติ หากเป็นเรื่องการปรับตัวตามปกติของเด็ก พ่อแม่ควรให้เวลาและกำลังใจ ไม่ดุหรือกดดันลูก หากเป็นปัญหาทางกายภาพ เช่น ง่วง งอแงไม่อยากตื่น ควรให้ลูกนอนแต่หัวค่ำเพื่อเตรียมพร้อมร่างกายและจิตใจ นอนให้เต็มอิ่มเพื่อตื่นเช้าไปโรงเรียนอย่างสดใส แต่หากเป็นปัญหาอื่นๆ เช่น เรียนไม่รู้เรื่อง มีปัญหาการอ่านเขียน ไม่มีเพื่อน โดนกลั่นแกล้ง หรือมีปัญหากับคุณครู พ่อแม่ควรยื่นมือให้ความช่วยเหลือลูกในทันที ทำได้โดย รับฟังพูดคุยปรึกษาหาทางแก้ร่วมกันกับลูก คุณครู โรงเรียน หรือผู้เกี่ยวข้อง
#มั่นคงหนักแน่นและสม่ำเสมอ
เด็กทุกคนมีความสามารถในการปรับตัวแตกต่างกันไป ในเด็กเล็กอาจต้องให้เวลาปรับตัวที่มากขึ้น พ่อแม่ควรทำให้การไปโรงเรียนเป็นเรื่องปกติและสม่ำเสมอ รับและส่งลูกตามเวลาเป็นกิจวัตร เมื่อไปโรงเรียนสักพักลูกจะเริ่มปรับตัวได้ เพราะลูกจะเริ่มเรียนรู้และเข้าใจเวลาจากตารางกิจกรรมของโรงเรียน เช่น หลังจากนอนกลางวัน และทานอาหารว่าง ได้เวลากลับบ้านซึ่ง แม่จะมารับตรงเวลาเสมอ
เพราะ โรงเรียนคือ บ้านหลังที่สองของลูก เป็นที่ที่ลูกต้องใช้เวลาเกือบทั้งวันของเขาเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ มาทำให้โลกแห่งการเรียนรู้ของลูกเต็มไปด้วยความกระตือรือร้น รอยยิ้ม และความสดใสกันนะคะ
ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่และลูกๆทุกบ้าน ❤️บ้านไหนมีประสบการณ์และใช้เทคนิคอย่างไรมาแชร์กันได้เลยนะคะ