เสริมทักษะสมอง EF สู่ความสำเร็จ ด้วยการสอนลูกทำงานบ้าน
เสริมสร้างทักษะ EF สู่ความสำเร็จด้วยการสอนให้ลูกทำงานบ้าน
ปัจจุบันนอกจาก IQ EQ คำว่า ทักษะ EF ถูกหยิบยกนำมาพูดถึงกันมาก แต่ความเข้าใจและการปฏิบัติเพื่อนำไปสู่ทักษะ EF ที่ถูกต้องนั้น อาจยังคลุมเครืออยู่ แท้ที่จริงแล้วทักษะ EF มีความสำคัญกับลูกจริง ๆ หรือ “เพราะ EF เป็นจุดเริ่มต้นของการใช้ชีวิตในสังคมนี้ เขาต้องดูแลตัวเองได้ สามารถเอาตัวรอดได้ และมีอนาคตที่ดี” - นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ได้กล่าวไว้ในหนังสือ “เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF”
ทำความเข้าใจให้ชัดเจน ทักษะ EF คืออะไร
ทักษะ EF (Executive Functions) เป็นทักษะทางสมองและจิตใจ เกี่ยวข้องกับตัวตนของลูก เป็นความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ควบคุมความอยากของตนเองได้ และปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลไงได้อย่างมีสติ แบ่งออกเป็น 3 องค์ประกอบ ได้แก่
1. ความสามารถในการควบคุมและยับยั้งตนเอง (Inhibitory Control) สามารถเพิกเฉยหรืออดทนต่อสิ่งยั่วยุต่าง ๆ ไม่ใช้อารมณ์แบบหุนหันพลันแล่น แต่กลับมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ทำ และมีมานะอดทนจนทำสำเร็จ
2. ความสามารถในการจดจำ (Working Memory) คือ ความสามารถของคนแต่ละคนที่จะจำข้อมูลต่างๆ ที่ได้รับเข้ามาสู่สมอง และสามารถนำข้อมูลเหล่านี้ออกมาใช้ในเวลาต่อมาได้ ความจำที่พร้อมใช้งานและใช้ทำงานได้จริง ๆ เรียกว่า เข้าใจได้ ใช้งานได้ด้วย ไม่ใช่ความจำระยะสั้นที่เกิดจากการท่องจำแต่ไม่สามารถนำไปใช้ได้จริง
3. ความยืดหยุ่นทางความคิด (Cognitive Flexibility) ความสามารถที่ทำให้คนเราคิดเรื่องหนึ่งเรื่องได้ในหลายๆ มุมมองหรือวิธีการ ความคิดยืดหยุ่นทำให้เราเห็นโอกาส ไม่ยึดติดเพียงวิธีการเดียวเพียงเท่านั้น ผู้ที่สามารถคิดยืดหยุ่นได้มักจะเห็นโอกาสในวิกฤติและหาทางออกได้
จะเห็นได้ว่า หากเราสามารถเลี้ยงลูกให้พวกเขามีลักษณะได้ตามนี้คงจะดีไม่น้อย เพราะสังคมทุกวันนี้คนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่ความเก่งเท่านั้น แต่ต้องมีทักษะด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการควบคุมอารมณ์ตนเอง การปรับตัวเข้าหาผู้อื่น การคิดวิเคราะห์ และความมานุอดทนไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เพื่อนำพาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้ได้สำเร็จ
ทักษะ EF พัฒนาได้ดีที่สุดในช่วงวัยใด
ในวัยเด็กจะเป็นช่วงที่สมองพัฒนา EF มากสุด โดยเฉพาะช่วงอายุ 3-5 ปี หรือในช่วงวัยอนุบาล เพราะสมองส่วนหน้าทำงานได้ดีที่สุดในช่วงวัยนี้ การส่งสเริมให้ลูกพัฒนาทักษะ EF ที่สำคัญ คือ พ่อแม่เปิดโอกาสให้ลูกได้ลงมือทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการเล่นอย่างอิสระ หรือแม้แต่การช่วยเหลืองานบ้านให้เหมาะสมตามช่วงวัย เมื่อเด็กได้ลงมือทำกิจกรรมด้วยตนเองเด็กจะได้เรียนรู้ที่จะตั้งใจและอดทนทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้าให้สำเร็จ รวมถึงเรียนรู้ที่จะเผชิญปัญหาหรือสถานการณ์ที่ท้าทาย การคิด กล้าตัดสินใจแม้เกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าก็ตาม ซึ่งทักษะ EF และจะพัฒนาไปเรื่อยๆ จนเข้าสู่ช่วงผู้ใหญ่ตอนต้นจึงหยุดการเติบโต
เสริมสร้างทักษะ EF สู่ความสำเร็จด้วยการสอนให้ลูกทำงานบ้าน
มีข้อมูลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมิเนโซตา (the University of Minnesota) เป็นงานวิจัยที่ตามติดชีวิตเด็ก ๆ จำนวน 84 คน เรียกว่าเป็นงานวิจัยระยะยาว และทำการวัดผล 4 ช่วงของชีวิต ได้แก่ ช่วงวัยอนุบาล ช่วงอายุ 10 ปี 15 ปี และ ช่วง 20 ต้น ๆ ถึง 20 กลาง ๆ มีการเก็บข้อมูลทั้งวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ เพศ ประเภทของงานบ้านที่ทำ และระยะเวลาที่ใช้ในการทำงานบ้าน
ผลงานวิจัยยืนยันว่า บุคคลวัยผู้ใหญ่ ที่เริ่มทำงานบ้านตั้งแต่เล็ก ๆ (3-4 ขวบ) มีแนวโน้มที่จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในครอบครัวและเพื่อนมากกว่า และมีความสำเร็จในการเรียนและอาชีพมากกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ตอนต้นที่ไม่เคยทำงานบ้าน หรือเริ่มทำงานบ้านเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นแล้ว ถึงขนาดมีงานวิจัยออกมายืนยัน ว่า “งานบ้าน” ช่วยพัฒนาลูกได้จริง
ฝึกวินัยและความรับผิดชอบ
เพราะงานบ้านบางอย่าง เช่น กรอกน้ำเข้าตู้เย็น ทิ้งขยะ รดน้ำต้นไม้ ให้อาหารสัตว์เลี้ยง หากละเลยไม่ทำจะส่งผลต่อสมาชิกคนอื่น ๆ ในบ้านได้ เป็นการช่วยฝึกวินัยและความรับผิดชอบทางอ้อมและเป็นธรรมชาติ
สร้างความเชื่อมั่นในตนเอง
การทำงานบ้านเป็นประจำสม่ำเสมอจนเด็ก ๆ เคยชิน เขาจะรู้ว่าอะไรวางไว้ตรงไหน หรือหากรองเท้าที่เขาเคยวางประจำตรงตำแหน่งนี้ แต่วันนี้ตรงนี้ไม่ว่าง ลูกจะต้องคิดต่อแล้วว่าควรวางตรงไหน แม้จะเป็นจุดเล็ก ๆ แต่ฝึกทักษะกระบวนการคิดและการแก้ไขปัญหา
การวางแผนคิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ การทำงานบ้านแต่ละงาน สังเกตว่า ทุกงานจะมีขั้นตอน เช่น ตากผ้า เมื่อคุณแม่ชวนลูกมาตากผ้า ต้องหยิบเสื้อจากตะกร้าผ้า สะบัดเสื้อ หยิบไม้แขวนเสื้อมาใส่ไม้แขวน ทุกอย่างต้องมีกระบวนการควบคุมจึงจะสำเร็จ ตัวนี้ตากยังไง คอเสื้ออยู่ตรงไหน แขนเสื้อ ต้องใช้ไม้หนีบ หรือใส่ไม้แขวน เพราะเสื้อบางตัวก็ไม่เหมาะจะใส่ไม้แชวนเสื้อ เป็นต้น นอกจากนี้ยังฝึกความคิดยืดหยุ่นและการแก้ปัญหา หาทางออก ฝึกแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ปรับเปลี่ยนวิธีการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เจอ
การกำหนดเป้าหมาย
งานบ้านทุกอย่างย่อมต้องมีเป้าหมายในการทำงานให้สำเร็จ รู้ว่าล้างจานมีขั้นตอนอย่างไร เมื่อทำตามขั้นตอนครบถ้วนงานก็จะสำเร็จตามเป้าหมาย เริ่มจากงานง่าย ๆ ให้รับผิดชอบตามช่วงวัย ฝึกการทำตามเป้าหมายทีละเล็กทีละน้อย สะสมจนเป็นนิสัยของคนสำเร็จ ลูกจะมีความมุมานะ พยายาม อย่างเป็นธรรมชาติเพราะเคยชินกับการทำงานตามเป้าหมายจากการฝึกฝนงานบ้าน นอกจากนี้การใช้มือหยิบจับยังช่วยกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อมัดเล็ก กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งมีผลดีต่อพัฒนาของลูกอีกด้วย
เริ่มต้นอย่างไรให้ลูกยอมทำงานบ้าน
คงเกิดคำถามในใจพ่อแม่หลาย ๆ ท่านจริงไหมคะว่าจะเริ่มต้นอย่างไรให้ลูกยอมช่วยงานบ้าน เริ่มแบบนี้ค่ะ
1. พ่อแม่ทำให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง แล้วลองให้ลูกทำตาม “พับเสื้อแบบนี้นะจ๊ะ ลูกลองพับตามแม่นะ” การสอนให้เด็กทำ เด็กจะไม่รู้สึกว่าเรื่องนั้นยาก และอบอุ่นใจที่มีพ่อแม่คอยบอกคอยสอน
2. จุดเริ่มต้นที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ด้วยการจับมือลูกทำไปด้วยกัน สอนลูกล้างจาน แม่จับมือลูกถู ๆ จาน หรือแม้กระทั่งให้ช่วยเด็ดผักตำลึงสำหรับทำแกงจืดเย็นนี้ เริ่มจากสิ่งง่าย ๆ ทำให้เป็นเรื่องสนุก
3. บอกลูกให้ลงมือทำเอง ได้เรียนรู้กันมาสักพัก เมื่อเริ่มมีความมั่นใจ ลองให้ลูกทดลองลงมือทำด้วยตนเอง ตัดสินใจเอง แก้ปัญหาเอง โดยมีพ่อแม่คอยให้กำลังใจ ที่สำคัญหากลูกทำสำเร็จอย่าลืม “คำชม” เพราะจะสร้างความภาคภูมิใจ ดีใจ และมั่นใจในสิ่งที่ตนเองทำมากขึ้น
การทำงานบ้าน ควรฝึกฝนและให้ลูกลงมือทำสม่ำเสมอ จนเกิดเป็นวินัยและความรับผิดชอบ อย่ามองว่าลูกยังเป็นเด็กเล็ก พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกลำบากหรือไม่อยากรอคอยเพราะกว่าลูกจะทำเสร็จ เท่ากับเราปิดกั้นความความสามารถ ความคิดที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับลูก เมื่อลูกทำงานบ้านแต่เล็ก ลูกจะเคยชินและไม่รู้สึกว่าเป็นภาระแต่กลับคิดว่า งานบ้านรวมถึงการดูแลตนเอง คือ หน้าที่ความรับผิดชอบที่ต่อไปพ่อแม่ไม่ต้องคอยบอกสอน เพราะสิ่งนี้ได้ฝังเข้าไปในจิตใจและความคิดของลูกแล้ว
#ทักษะEF #งานบ้าน #NetPAMA