window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
จับกลุ่มทำงานทีไรเป็นเศษเหลือทุกที
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เวลาครูให้จับกลุ่ม เด็กส่วนใหญ่ก็จะกระตือรือร้น ขอครูจับกลุ่มกันเอง เพราะจะได้อยู่กับเพื่อนที่ชอบ หรือสนิท ได้ทำงานงานด้วยกันอย่างสนุกสนาน

แต่ขณะเดียวกัน...เด็กบางคนกลับอยากจะให้ครูช่วยจับกลุ่มให้หรือจับฉลากแทนการจับกันเอง เพราะสำหรับเขาแล้วการทำงานกลุ่มก็เหมือนกับ การดื่มยาขม รู้สึกทุกข์ใจ เศร้า คอตก รู้ตัวว่าจะเป็น "เศษเหลือ" อีกแล้ว พ่อแม่คงทุกข์ใจเช่นกันที่รู้ว่าลูกไม่มีเพื่อนๆ ชวนอยู่กลุ่มด้วย

สาเหตุของการไม่มีกลุ่ม ในที่นี้ขอแบ่งเป็น 4 ข้อ

1. ไม่กล้าเข้าหาเพื่อน นั่งเฉยๆ รอเพื่อนเรียก เนื่องจากเด็กบางคนมีความวิตกกังวลสูงเมื่อต้องพูดคุยกับคนอื่น ทำให้ไม่กล้าเข้าหาเพื่อน หรือไปขอเพื่อนอยู่ด้วย เพื่อนจึงไม่เข้าใจความรู้สึก ความต้องการ ดังนั้นเพื่อนก็อาจจะไม่ได้ชวนให้มาอยู่ด้วย แต่ลูกอาจจะตีความว่าเพื่อนๆ ไม่ชอบตัวเองได้ 
ส่งผลให้มองตัวเองในเชิงลบ มองว่าตัวเองเป็นเศษเหลือ ทั้งๆ ที่จริงแล้วไม่ใช่อย่างที่คิด

• วิธีช่วยเหลือ ควรฝึกให้ลูกจัดการกับความวิตกกังวล ของตัวเอง ค่อยๆ เผชิญความกังวล ฝึกทักทาย ฝึกพูดคุยกับเพื่อนสั้นๆ ก่อน เพื่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเองมากขึ้น

ในกรณีที่ต้องจับกลุ่มทำงานแต่ไม่กล้าไปขอเพื่อน ให้ฝึกซ้อมบทพูดสั้นๆ กับคนในบ้านก่อนไปพูดจริง ใช้การพิมพ์ไลน์ถามแทนการพูดก็พอช่วยได้เช่นกัน หรือผู้ปกครองอาจให้ครูช่วยจับกลุ่มให้

2. เข้าหาเพื่อนไม่เป็น ไม่มีความวิตกกังวล แต่ไม่รู้วิธีการเข้าหาเพื่อน ว่าควรใช้คำพูด หรือท่าที อย่างไรในการขอเพื่อนอยู่ด้วย จึงนั่งเฉยๆ ดังนั้นเพื่อนๆ อาจจะไม่ได้สนใจหรือชักชวน เมื่อครูให้จับกลุ่มจึงกลายเป็นว่าตัวเองไม่มีกลุ่มอยู่ ต้องอยู่คนเดียวหรือไปอยู่กับเพื่อนที่ไม่มีกลุ่มเช่นกัน

• วิธีช่วยเหลือ ควรฝึกทักษะการสื่อสาร ทักษะสังคม เพิ่มเติม เบื้องต้นผู้ปกครองอาจจะช่วยสอนลูกโดยฝึกสังเกตสีหน้าท่าทางของเพื่อนว่าเพื่อนน่าจะรู้สึกอย่างไร เพื่อนชอบ ไม่ชอบอะไรบ้าง ฝึกพูดคุยในเรื่องที่เพื่อนและตัวเองชอบตรงกัน จะช่วยให้ต่อบทสนทนาได้ดีขึ้น 
.
ในการทำงานกลุ่มควรฝึกให้ไปถามเพื่อน โดยอาจจะบอกประโยคที่เหมาะสมแก่ลูก และให้เสนอตัวช่วยทำงานกลุ่มที่ตัวเองถนัด เช่น วาดรูป ระบายสี พับกระดาษตกแต่งชิ้นงาน พิมพ์งาน ตรวจความถูกต้อง อาจให้แสดงบทบาทสมมติที่บ้าน เพื่อซักซ้อมก่อนไปขอเพื่อนอยู่กลุ่มด้วย ส่วนใหญ่แล้วหากเพื่อนเห็นความสามารถ และลูกรับผิดชอบหน้าที่ได้ดี เพื่อนๆ ก็จะชวนทำงานด้วยอีก

3. เกิดจากปัญหาพฤติกรรม เช่น ป่วนเพื่อน แกล้งเพื่อน เดินไปมาไม่ทำงานของตัวเอง ทำงานไม่เสร็จ หรือไม่เรียบร้อย ลืมเอาสิ่งที่เพื่อนหรือครูสั่งมาโรงเรียน ทำให้มีผลกระทบต่อกลุ่ม เพื่อนๆ ก็อาจจะไม่อยากชวนเข้ากลุ่ม ทำให้ลูกมองว่าตัวเองไม่เป็นที่ต้องการของเพื่อน

• วิธีช่วยเหลือ ควรฝึกวินัยในตัวเองตั้งแต่ที่บ้าน เช่น นั่งทำการบ้านจนเสร็จโดยไม่ลุกเดินไปมาทุกวัน มีสมุดจดบันทึกสิ่งของที่ต้องเตรียมไป-กลับจากโรงเรียน โดยให้เด็กเช็คเองว่าขาไป-กลับ มีของครบหรือไม่ ทั้งนี้พ่อแม่อาจจะต้องช่วยเช็คอีกแรง

4. เกิดจากปัญหาอารมณ์ เช่น น้อยใจง่าย งอนเพื่อนบ่อย หงุดหงิดแล้วจัดการอารมณ์ตัวเองไม่เหมาะสม มีการชักสีหน้า เผลอพูดจาทำร้ายจิตใจเพื่อน ไม่รับฟังความคิดเห็นของเพื่อน ก็อาจจะทำให้เพื่อนรู้สึกไม่ชอบได้ 

เด็กหลายคนอาจมีความตั้งใจ และมีเจตนาที่ดีในการพยายามที่จะช่วยงานกลุ่ม หรือเรียกว่ามีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์สูง พยายามหาความคิดที่ดีที่สุด เพื่อให้กลุ่มได้คะแนนดี ทำให้บางครั้งมองข้ามความรู้สึกของเพื่อนร่วมกลุ่ม เพื่อนๆ เองก็อยากได้คะแนนดี แต่ทุกคนก็อยากมีตัวตนในงานกลุ่มเช่นกันเมื่อไม่รับฟังเพื่อน ใส่อารมณ์กับเพื่อนบ่อย ดังนั้นเวลาจับกลุ่มทำงานเพื่อนๆ อาจจะไม่อยากอยู่ด้วย

• วิธีช่วยเหลือ ควรชื่นชมในความตั้งใจดีของลูกที่พยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อกลุ่ม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความรู้สึกของเพื่อนก็สำคัญไม่แพ้กัน #ควรฝึกจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม จะช่วยให้พูดคุยกับเพื่อนดีขึ้น ลองชวนมองถึงข้อดีของสิ่งที่เพื่อนเสนอมาว่ามีอะไรที่สามารถปรับใช้ในงานกลุ่มได้บ้าง ถ้าลูกยอมยืดหยุ่นรับฟังเพื่อน ยอมรับฟังความคิดเห็นของเพื่อนก็ให้ชื่นชม และให้กำลังใจลูก

• เมื่อลูกมาระบายให้ฟังว่าไม่มีกลุ่มอยู่ ควรทำดังนี้

1. ตั้งสติ ให้ระวังคำพูดทำร้ายจิตใจ หรือซ้ำเติมลูก

2. ให้เรารับฟังลูกโดยไม่ตัดสิน หรือรีบสอนจนเกินไป ให้ใช้การสะท้อนความรู้สึกแทนว่า "ลูกคงเสียใจที่เพื่อนไม่ชวนอยู่ด้วย"

3. หลังจากที่ลูกระบายแล้วสงบลง ค่อยๆ ถามลูกว่า "ลูกคิดว่าอะไรที่จะทำให้เพื่อนชวนลูกเข้ากลุ่มได้บ้าง"

4. หากลูกยอมรับว่าเกิดจากการกระทำของตัวเอง ให้ชื่นชมลูกที่กล้ายอมรับความจริง "แม่ภูมิใจที่ลูกกล้ายอมรับความจริง แม่เชื่อว่าสถานการณ์น่าจะดีขึ้น เรามาช่วยกันนะจ๊ะ"

5. ให้ชวนลูกคิดต่อว่า "ครั้งนี้เราจะแก้ปัญหาอย่างไรดี แล้วต่อไปเราจะแก้ไขอย่างไรได้บ้าง" "อยากให้พ่อหรือแม่ช่วยอย่างไร"

หากพ่อแม่มองว่าลูกมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรม ส่งผลต่อการปรับตัวอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ สามารถพาลูกมาพบจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อรับการประเมินและช่วยเหลือให้ลูกปรับตัวอยู่ร่วมกับเพื่อนๆ อย่างมีความสุขมากขึ้นได้นะคะ

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
NET PaMa