window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
แก้ปัญหาลูกพูดโกหก
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
พฤติกรรมการโกหก เป็นการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างหนึ่ง ลองมาดูนะคะ ว่ามีสิ่งใด หรือสถานการณ์ใดที่ทำให้ลูกไม่พูดความจริงกับเราบ้าง

1. พัฒนาการเด็ก 
โดยเฉพาะช่วงปฐมวัย เด็กจะมีจินตนาการ เล่นบทบาทสมมติ ในเด็กผู้หญิงก็อาจจะสมมติว่าเป็นเจ้าหญิง นางฟ้า คุณครู นักเรียน หมอ เป็นต้น ส่วนในเด็กผู้ชาย มักสมมติว่าตัวเองเป็น ตำรวจ ทหาร ซุปเปอร์ฮีโร่ เป็นต้น ดังนั้น เด็กอาจจะพูดเกินจริงไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นพัฒนาการตามวัย

2. ความจริงเป็นสิ่งน่ากลัว 
เมื่อเด็กพูดความจริงแล้วโดนดุ ด่า หรือ ลงโทษอย่างรุนแรงก็มีแนวโน้มที่จะพูดปด เช่น ทำจานแตกครั้งก่อนถูกแม่ตี ครั้งต่อมาทำแตกอีก อาจจะบอกว่าน้อง/พี่ เป็นคนทำ หรืออาจจะปฏิเสธว่า ไม่รู้ ไม่ได้ทำ เดินผ่านแล้วอยู่ๆ มันก็หล่นแตกเอง ก็ได้นะคะ

3. พ่อแม่เล่นใหญ่ 
เวลาที่ลูกเล่าเรื่องเพื่อนๆ ที่โรงเรียนว่าทำอะไรผิดให้ฟัง แล้วพ่อแม่ตีโพยตีพาย เด็กจะคิดว่าเรื่องของเพื่อนยังขนาดนี้ ต่อไปหากเขาทำผิดก็อาจจะไม่กล้ามาเล่าให้พ่อแม่ฟัง หรือหากถูกจับได้ ก็ใช้การโกหกเพื่อเอาตัวรอดแทนการพูดความจริง 

4. โกหกเพื่อตัดรำคาญ 
มักเกิดขึ้นเมื่อเด็กรู้สึกว่ากำลังถูกบ่น ถูกจี้ ถูกร่ายยาว เช่น หากยังไม่ทำการบ้าน เวลาพ่อแม่ถามก็บอกว่าทำแล้ว เพื่อที่จะได้ไม่ถูกบ่น พ่อแม่โทรจี้ถามเวลากลับบ้านกับลูกวัยรุ่นบ่อย เขาก็อาจจะบอกว่ากำลังกลับ ทั้งๆ ที่ยังไม่กลับ เป็นต้น 

5. โกหกเพื่อให้ดูดีในสายตาคนอื่น   
อยากได้การยอมรับ ให้คนอื่นเห็นความสำคัญของตัวเอง เกิดขึ้นได้ง่ายในเด็กที่มีความภาคภูมิใจในตัวเองต่ำ เวลาที่เพื่อนบอกว่าไปเที่ยวไหนมา ก็บอกว่าตัวเองเคยไป เพื่อนบอกว่ามีของเล่นอะไร ตัวเองก็บอกว่ามีด้วย อาจจะเกทับไปอีกว่ามีเยอะกว่า เป็นต้น ซึ่งเพื่อนๆ ก็อาจจะรู้ความจริงและไม่อยากคุยด้วย

• วิธีสอนให้ลูกพูดความจริง •

1. ทำให้ความผิดพลาดเป็นเรื่องธรรมดา ผิดก็แก้ไขเท่านั้นเอง งดการลงโทษรุนแรงทั้งทางคำพูดและการกระทำ เช่น ลูกทำน้ำหก ก็ให้ลูกไปเอาผ้ามาเช็ด แทนการบ่น หรือดุ

2. งดการจี้ถามให้จนมุม เพราะจะยิ่งทำให้เด็กคิดหาทางโกหกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคิดว่าหากพ่อแม่จับไม่ได้ก็รอดตัวไป แต่ให้เราบอกกับเด็กเลยว่าเรารู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วเรารู้สึกอย่างไร ชวนแก้ปัญหาด้วยกัน  เช่น แม่รู้ว่าหนูไม่ส่งงานวิชาศิลปะเลย เเม่เป็นห่วง เกิดอะไรขึ้น เป็นต้น 

3. บางครั้งเด็กโกหกเพื่อให้เราสบายใจหรือพอใจในตัวเขา เราก็บอกกับเด็กตรงๆ ว่าอยากฟังความจริง ไม่ต้องพูดเอาใจเรา

4. เป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูก เช่น มีโทรศัพท์มาแต่ไม่อยากคุย เลยให้ลูกรับโทรศัพท์แล้วบอกว่าแม่ไม่อยู่แทน แบบนี้เด็กอาจจะสับสนได้ ว่าทำไมแม่ทำแบบนี้ได้ แต่เขาทำไม่ได้

5. ชื่นชมเวลาลูกพูดความจริง ในเหตุการณ์ที่เขาทำผิดพลาด แล้วมาเล่าให้ฟัง อาจจะมีพูดจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่เราควรชมในส่วนที่เขาพูดความจริง เช่น แม่ดีใจที่หนู "กล้าหาญ" พูดความจริงว่า........

6. งดพูดหรือชื่นชมเวลาที่เด็กโกหกลื่นไหลว่า "เจ้าเล่ห์ดีจริง" หรือตีตราว่าเป็นเด็กขี้โกหก เพราะจะทำให้เขารับรู้และเชื่อว่าตัวเองเป็นแบบนั้น และจะยิ่งทำพฤติกรรมนั้นต่อไป

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
NET PaMa