window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
วิธีฝึกลูกให้มีทักษะในการแก้ปัญหาเก่ง
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

การแก้ปัญหาจัดเป็น"ทักษะ"อย่างหนึ่ง

เพื่อให้เข้าใจคำว่า "ทักษะ" มากขึ้น อยากชวนคุณพ่อคุณแม่นึกย้อนไปในวัยเด็ก ตอนที่เราหัดขี่จักรยานใหม่ๆ เป็นอย่างไรบ้างคะ...เชื่อว่าทุกท่านผ่านการล้มลุกคลุกคลานกับจักรยานมาพอสมควร 

หลายท่านคงเคยถูกฝึกให้เริ่มจาก จักรยาน 4 ล้อก่อนใช่มั้ยคะ พอเริ่มปั่นคล่อง ผู้ใหญ่ก็จะเริ่มถอดล้อที่ช่วยพยุงออก ล้อแรกก็อาจจะสบายๆ พอถอดเหลือ 2 ล้อ นี่แหละของจริง ความกลัวเริ่มขึ้นทันที

ผู้ใหญ่ก็จะคอยบอกคอยสอน ให้กำลังใจ ช่วยประคับประคองเรา ฝึกแรกๆ ก็ปั่นไปล้มไป...ฝึกบ่อยๆ ก็เรียนรู้วิธีหักหลบ เลี้ยวซ้ายขวา เตรียมเบรคไม่ให้หน้าทิ่ม จนเชี่ยวชาญปั่นได้เองแบบสบายๆ

ทักษะการแก้ปัญหาก็เหมือนกันยิ่งฝึกมาก ยิ่งพัฒนามาก เพราะเด็กจะเอาสิ่งที่เรียนรู้จากประสบการณ์เดิมมาพัฒนาต่อยอดได้ดีขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหา มีความชำนาญในการรับมือกับปัญหามากขึ้น

เกริ่นมาซะยาวเลย คราวนี้มาดูกันค่ะว่าคุณพ่อคุณแม่จะฝึกลูกได้อย่างไรบ้าง

1. เปิดโอกาสให้ลูกได้คิด และตัดสินใจหาทางแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน 

เวลามีอุปสรรคเล็กๆน้อยๆ อย่าเพิ่งรีบกระโจนเข้าไปช่วยแก้ปัญหาทันที  ตัวอย่างที่หลายบ้านอาจจะเคยเจอ เช่น ถ้าลูกโทรมาบอกว่าลืมเอา การบ้าน/ ของใส่บาตร/ กระติกน้ำ/ ช้อนส้อม ไปโรงเรียน คุณพ่อคุณแม่คงเป็นห่วง แล้วก็กังวลใจไม่น้อย แต่อาจจะถามลูกว่า ถ้าวันนี้แม่ไม่สะดวกเอาไปให้ หนูจะแก้ปัญหาอย่างไรได้บ้าง และครั้งหน้าจะทำอย่างไรได้บ้างที่จะไม่ลืมเอาไป

• หากเราไม่เริ่มฝึกให้เด็กคิดและตัดสินใจตั้งแต่วันนี้แล้ววันหน้าเขาจะคิดเป็นทำเป็นได้อย่างไรจริงมั้ยคะ •

2. เปิดโอกาสให้ลูกได้ทำสิ่งต่างๆด้วยตัวเอง

อาจจะถูกบ้างผิดบ้าง แต่นั่นช่วยให้เขาเรียนรู้หาทางแก้ปัญหาได้หลากหลายมากขึ้น จะช่วยให้เขาเลือกวิธีที่เหมาะสมกับแต่ละสถานการณ์ต่อไปได้ดีขึ้น เหมือนกับการฝึกขี่จักรยาน ที่ล้มบ้างลุกบ้างนั่นแหละค่ะ เพราะทุกครั้งที่ล้มเราจะเรียนรู้ว่าควรทำอย่างไรในครั้งต่อไป ถ้ามีคนคอยประคองตลอดเวลา จะไม่มีวันปั่นจักรยานเองได้อย่างมั่นใจเลยใช่มั้ยคะ

• ดังนั้น หากเรามัวแต่กังวล กลัวว่าจะผิดพลาด ไม่เรียบร้อย เลยคิดให้ ทำให้เสร็จสรรพ จะทำให้เขาจะขาดโอกาสในการฝึกทักษะแก้ปัญหานะคะ •

3. ให้คำชมเป็นกำลังใจ หากผู้ปกครองเห็นถึงความพยายามในการแก้ปัญหา การคิดหาทางแก้ปัญหา การเลือกวิธีที่เหมาะสม ลองคิดถึงตอนที่เราฝึกปั่นจักรยานดู ทั้งๆ ที่เราพยายาม ตั้งใจ ระมัดระวังแล้ว ก็ยังล้มอยู่หลายครั้ง แผลก็เจ็บ ถ้าถูกดุว่าด้วย ใจก็คงแป้ว ร้องห่มร้องไห้เสียใจ กำลังใจที่จะฝึกต่อก็คงลดลง ต้องใช้เวลาบิ้วต์อารมณ์ใหม่อีก

4. กำหนดความคาดหวังของผู้ปกครองให้เหมาะสมกับความสามารถของเด็ก ถ้าหากเราตั้งความคาดหวังไว้สูงกว่าพื้นฐานความสามารถของเด็กมากเกินไป แล้วเด็กทำไม่ได้ตามที่เราคาดหวัง เช่น เราคิดว่าเขาควรจะแก้ปัญหาได้ ควรทำอย่างนี้ อย่างนั้น แล้วทำไมเขาถึงไม่ทำ หรือทำไม่ได้ เราคงจะผิดหวัง และอาจจะเผลอใช้คำพูดทำร้ายจิตใจ ทำให้เขารู้สึกแย่กับตัวเอง ต่อไปเขาอาจจะไม่อยากคิดแก้ปัญหาเอง อาจรอให้ผู้ปกครองมาบอก มาตัดสินใจทุกครั้งแทนก็ได้นะคะ  

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by Soff Garavano Puw on Unsplash

NET PaMa