window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (school refusal)
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว

“หนูไม่อยากไปโรงเรียน วันนี้ขอหยุดได้มั้ย สัญญาว่าพรุ่งนี้จะไปนะ”....และแล้ว วันรุ่งขึ้นก็ไม่ได้ไปโรงเรียนเหมือนที่ผ่านๆมา
“รีบมารับกลับบ้านก่อนได้มั้ย ไม่อยากอยู่ในโรงเรียนเลย...”
“พูดถึงโรงเรียนทีไร รู้สึกปวดหัว คลื่นไส้ทุกที”
.
บ้านไหนเจอสถานการณ์อย่างนี้บ้างคะ...ให้ไปโรงเรียนทำท่าเหมือนจะไปออกรบ พูดถึงโรงเรียนแล้วห่อเหี่ยว ทำยังไงก็ไม่ยอมไปโรงเรียน อ้อนวอนก็แล้ว ตีก็เเล้ว ยังไม่ยอมไปจนไม่รู้จะทำยังไง ลูกเครียด พ่อแม่เครียดยิ่งกว่า
.
รู้หรือไม่...เด็กและวัยรุ่นบางคนมีความวิตกกังวลกับการไปโรงเรียนอย่างมาก จนเกิดเป็น “ภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน” หรือ "school refusal"

ซึ่งบางครั้งแสดงออกทางกายโดยไม่รู้ตัว เช่น รู้สึกปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ เป็นต้น ผู้ใหญ่อาจมองว่าเด็กแกล้งทำ เพราะพอไม่ได้ไปโรงเรียนอาการเหล่านี้ก็หายไป แต่จริงๆ แล้วเด็กที่มีภาวะนี้ไม่ได้แกล้งทำ นะคะ เมื่อไม่ได้ไปโรงเรียน ความกังวลก็ลดลงไปด้วย ดังนั้นอาการเหล่านี้จึงหายไป แต่จะวนมาใหม่หากจะต้องไปโรงเรียนอีกครั้ง ภาวะนี้จะยิ่งเป็นเรื้อรังมากขึ้นหากเด็กไม่ไปโรงเรียนนานๆ

ผู้ปกครองควร หาสาเหตุ ที่ทำให้เด็กกังวลกับการไปโรงเรียน เช่น เพิ่งย้ายโรงเรียนยังปรับตัวเข้ากับเพื่อนไม่ได้ มีความขัดแย้งกับเพื่อน มีปัญหาการเรียนในบางวิชา กลัวครูบางคนมากๆ  ถูกเพื่อนแกล้ง เป็นต้น รวมถึงลองสำรวจความสัมพันธ์ในครอบครัวของเราดูว่าใกล้ชิดหรือห่างเหินมากไป เราใจอ่อนยอมตามลูกหรือไม่ หรือว่าเราเข้มงวดมากเกินไปรึเปล่า

เด็กที่มีโรคทางจิตเวช เช่น วิตกกังวลต่อการแยกจาก กังวัลทั่วไป ซึมเศร้า ไบโพล่าร์ ความผิดปกติของการปรับตัว ดื้อต่อต้าน เป็นต้น ก็อาจจะมีภาวะนี้ได้

สิ่งที่ผู้ปกครองควรทำเพื่อช่วยให้เด็กไปโรงเรียนได้ต่อเนื่อง คือ การส่งเด็กไปโรงเรียนให้เร็วที่สุดและต่อเนื่อง นั่นเอง

ผู้ปกครองควรจะแสดงอารมณ์มั่นคง และท่าทีหนักแน่นในการบอกให้ลูกไปโรงเรียน งดการใช้อารมณ์และความรุนแรงกับลูกไม่ว่าจะเด็กหรือวัยรุ่นก็ตาม เพราะจะยิ่งต่อต้านมากขึ้น พาไปส่งกับครูที่เด็กสนิทหรือไว้ใจที่สุด เมื่อส่งเสร็จก็รีบกลับทันที 


งดการต่อรอง หรือติดสินบนทุกชนิด และเมื่อโรงเรียนเลิกให้ไปรับตรงเวลาตามที่ตกลงกันไว้ ห้ามโกหก หลอก ไปรับช้า เพราะเด็กจะเกิดความกังวล รู้สึกไม่มั่นคงทันที ทำให้ไปโรงเรียนยากขึ้น 


ทำให้การอยู่บ้านน่าเบื่อมากขึ้น เพราะเด็กติดความสบายจึงยิ่งไม่อยากไปโรงเรียน ดังนั้นให้งดกิจกรรมที่เด็กชอบ เช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ เล่นมือถือ ดูโทรทัศน์ เป็นต้น


ไม่ควรให้เด็กย้ายโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหา เพราะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสม  หรือกานให้เรียนพิเศษที่บ้านแทนการไปโรงเรียน เพราะเด็กจะรู้สึกสบาย เมื่อต้องไปก็จะเกิดความกังวลขึ้นมาอีก


ขอความช่วยเหลือจากครู ในการทะยอยส่งงานและการตามสอบหลังเพื่อน (กรณีที่เพื่อนสอบกันไปแล้ว) ช่วยจับกลุ่มทำงานให้ ขอเรียนเสริมในวิชาที่ไม่เข้าใจ เป็นต้น


นอกจากนี้ควร ฝึกทักษะชีวิต ทักษะสังคม เพิ่มเติมด้วย เช่น การจัดการความวิตกกังวล/ความเครียด การสร้างเพื่อน การสื่อสารพูดคุยกับเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนอย่างเหมาะสม ฝึกความกล้าแสดงออก การทำงานร่วมกับคนอื่น การรู้จักแบ่งปัน มีน้ำใจกับเพื่อน มีทักษะการปฏิเสธ และแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม เป็นต้น

ซึ่งทางสาขาวิชาจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช มีหน่วยฟื้นฟูจิตเวชเด็กและวัยรุ่น ให้บริการกลุ่มเพื่อฝึกทักษะดังกล่าวสำหรับเด็กที่มีภาวะไม่ยอมไปโรงเรียน (school refusal) เพื่อเตรียมความพร้อมในการกลับไปโรงเรียนด้วย 

ข้อมูลจาก: หนังสือจิตเวช ศิริราช DSM-5

เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)

Photo by peter bucks on Unsplash

NET PaMa