window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
....คนดี คือ อะไร ใครก็ได้บอกผมที....
เมื่อ 3 ปีที่แล้ว
เคยมีโอกาสได้พูดคุยกับเยาวชนที่อยู่ในสถานพินิจแห่งหนึ่ง น้องเล่าเรื่องราวของตัวเองให้ฟังหลายอย่าง แต่มีประโยคหนึ่งที่อยากจะนำมาแชร์ให้ทุกท่านได้เรียนรู้
.
"ทำดีมันยาก ผมไม่รู้ว่าแค่ไหนถึงดีพอในสายตาผู้ใหญ่"
.
เมื่อได้ฟังประโยคนี้แล้ว รู้สึกอย่างไรกันบ้างคะ ตอนนั้นจำได้ว่าทั้งตกใจ สะเทือนใจ สงสาร และมีความคิดว่า...กว่าจะมาอยู่จุดนี้ ระหว่างทางน้องเจออะไรมาบ้างนะ...
.
หลายครั้งด้วยความปรารถนาดีของเรา อาจจะเผลอเตือนเด็กว่า "ทำตัวให้มันดีๆหน่อยสิ" "เป็นคนดีกับเค้าบ้างได้มั้ย".... วันนี้จึงอยากชวนทุกท่านลองทบทวนนิยาม "การทำดี" หรือ "คนดี" ว่าเหมือนหรือแตกต่างจากความเข้าใจของเด็กๆ หรือไม่ อย่างไร
.
การทำดี หรือ คนดี หมายถึง ต้องสอบได้เลขตัวเดียว, เป็นหัวหน้าห้อง, เป็นตัวแทนแข่งขันของโรงเรียน, มีความสามารถโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของครูและเพื่อนๆ, อ่าน-เขียนหนังสือเก่ง เพียงแค่นี้หรือเปล่า
.
หรือ ยังรวมถึง การที่รู้จักสวัสดี ขอโทษ ขอบคุณ, เดินไปโรงเรียนเองได้ เข้าเรียนตรงเวลาทุกวัน, พยายามทำการบ้านเองแม้ว่าจะถูกบ้างผิดบ้าง, ชวนเพื่อนที่ไม่มีกลุ่มมาอยู่ด้วยกัน,เห็นครูถือของหนักแล้วเข้าไปช่วย, เก็บเสื้อผ้าให้แม่ตอนฝนตก อาสาล้างจานให้ในบางคราว เป็นต้น
.
หากการเป็นคนดีหมายถึงแค่ในส่วนแรกแล้ว อาจจะมีเด็กอีกไม่น้อยที่รู้สึกไม่ดีกับตัวเอง มองว่าการทำดีมันยาก เหมือนเยาวชนคนดังกล่าวก็ได้....แต่ในความเป็นจริงแล้วการเป็นคนดีนั้น ยังรวมถึงคุณสมบัติอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบ พูดสุภาพ ร่าเริง มีน้ำใจ เห็นใจผู้อื่น กล้าแสดงออก รับฟังความคิดเห็นคนอื่น มีความตั้งใจ พยายาม มีความคิดสร้างสรรค์ มีสัมมาคารวะ เป็นต้น

ส่วนวิธีการที่จะสื่อสารให้พวกเขารู้ว่าเขาเป็นคนดีอย่างไรนั้น ทำได้ง่ายมาก เพียงแค่ชื่นชมเมื่อเขาทำสิ่งดี โดย บอกความรู้สึกของเรา+พฤติกรรมที่ดี+คุณลักษณะที่ดี

เช่น แม่ดีใจที่เห็นลูกทำการบ้าน ลูกเป็นเด็กที่มีความรับผิดชอบ,แม่ภูมิใจที่ลูกทำคะแนนได้ดีขึ้น หนูเป็นเด็กที่มีความพยายาม, พ่อชอบที่ลูกปิดคอมตามเวลาที่เราตกลงกัน ลูกเป็นเด็กรักษาสัญญา, ครูดีใจที่หนูเป็นเด็กกล้าหาญ พูดความจริงกับครู เป็นต้น 
.
การที่ผู้ใหญ่เห็น ตระหนัก และชื่นชมถึงความดีเล็กๆน้อยๆที่เด็กทำอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้เขารู้จักและเห็นหน้าตาของ "ความดี" จะทำให้เขารู้ว่า...การทำดีไม่ใช่เรื่องยาก... และเป็นการยืนยันว่า เราเห็นคุณค่าความดีที่เขาทำ เพื่อเป็นกำลังใจในการทำดีต่อไป เป็นกำลังใจให้ผู้ปกครองและเด็กๆทุกคนค่ะ
.
เขียนและเรียบเรียง
ปันณ์นภัส ธนอริยาไพศาล (นักจิตวิทยา)
NET PaMa