window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
สอนการบ้านลูกอย่างไรให้พ่อแม่ไม่ต้องแปลงร่าง พ่อแม่ไม่โมโห ลูกไม่มีน้ำตา
เมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว

มีบ้านไหนเป็นแบบนี้กันบ้างมั้ยคะ #สอนการบ้านลูกทีไรทะเลาะกันทุกที

ลูกบ่ายเบี่ยงไม่ยอมทำ บางทีก็ต่อรอง ผลัดวันประกันพรุ่ง หาข้ออ้างร้อยแปด

จนพ่อแม่ต้องดุ บ่น หรือถือไม้เรียวไว้ในมือเพื่อขู่ ลูกถึงจะยอมทำการบ้านแต่โดยดี

แต่ถึงจะยอมทำ ก็ทำงานไม่เรียบร้อย ไม่เข้าใจบทเรียน ทำผิด ๆ ถูก ๆ ไม่ตั้งใจ รีบทำให้เสร็จไว ๆ เพื่อจะได้ไปเล่น

.

เจอแบบนี้บ่อยครั้งเข้า พ่อแม่ก็หงุดหงิดจนปรี๊ดแตก ต้องระเบิดอารมณ์ใส่ ลูกถึงจะยอมตั้งใจทำการบ้านพร้อมกับน้ำตาที่อาบแก้ม

สุดท้ายลูกมีการบ้านส่งครู แต่#ความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกกลับแย่ลง #บรรยากาศในบ้านก็คุกรุ่นจนร้อนเป็นไฟ

.

ลูกมีการบ้านทุกวัน พ่อแม่ก็ต้องอารมณ์เสียจนต้องแปลงร่างทุกวัน

ช่วงเวลาของการทำการบ้านนั้นก็จะเป็นอะไรที่น่าทรมานมากสำหรับลูก

บวกกับน้ำเสียงโมโห สายตาพิฆาตของพ่อแม่

ลูกจะยิ่งกลัวทั้งการทำการบ้าน กลัวทั้งพ่อแม่ มองว่าพ่อแม่ใจร้าย จับผิด

ต่อไปลูกจะยิ่งต่อต้าน ไม่เชื่อฟัง โกหกว่าทำการบ้านเสร็จแล้ว เพื่อหลีกหนีช่วงเวลาแห่งความน่ากลัวนี้

.

ในความเป็นจริงคงไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากดุลูกหรือทำให้ลูกร้องไห้ใช่ไหมคะ

แต่การบ้านก็เป็นสิ่งที่ลูกจำเป็นต้องทำ เพราะมันช่วยให้ลูกได้ทบทวนบทเรียน มีงานส่งคุณครู ไม่โดนหักคะแนน แถมยังเป็นการฝึกวินัยและความรับผิดชอบของลูกด้วย 

พ่อแม่จึงต้องทำทุกวิถีทางให้ลูกทำการบ้านให้เสร็จตามที่ครูมอบหมายให้ได้

.

เข้าใจเลยว่าการสอนการบ้านลูกไม่ใช่เรื่องง่าย และท้าทายมากสำหรับคนเป็นพ่อเป็นแม่

แต่จะดีแค่ไหนถ้าการสอนการบ้านลูกนั้นผ่านไปได้อย่างราบรื่น แฮปปี้ ไม่มีดราม่า

ลูกไม่เสียน้ำตา พ่อแม่ไม่ต้องกลายร่างเป็นยักษ์

ทำให้ลูกไม่เกลียดกลัวการบ้าน ไม่ต้องโดนดุจนสูญเสียคุณค่าในตัวเองไป รู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่ดีในสายตาพ่อแม่

ที่สำคัญยังช่วยสร้างนิสัยรับผิดชอบ ปลูกฝังความมีวินัย และยังได้กระชับความสัมพันธ์ในครอบครัว

.

.

วันนี้เรามาดูกันดีกว่าค่ะว่า เทคนิคเปลี่ยนช่วงเวลาสอนการบ้านให้กลายเป็นเวลาคุณภาพ ทำได้อย่างไรบ้าง?

.

.

1.#เริ่มต้นจากหาสาเหตุที่ลูกไม่ชอบทำการบ้าน

ก่อนที่จะตัดสินว่าลูกไม่ยอมทำการบ้านเพราะขี้เกียจ เราควรพิจารณาสาเหตุอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อความไม่อยากทำการบ้านของลูกก่อน เช่น โจทย์ยากเกินไป หรือการบ้านเยอะจนท้อใจ

พ่อแม่อาจย่อยงานให้สั้นลง ให้เวลาลูกพักระหว่างทำการบ้านบ้าง เช่น ทำการบ้าน 30 นาที พัก 5 นาทีแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ หรือทำครบ 5 ข้อแล้วจึงพักได้ 3 นาที เพื่อให้ลูกได้ผ่อนคลายสมอง

การบ้านที่ใช้เวลาทำนาน เยอะ หรือยาก อาจทำให้สมองล้า 

ที่สำคัญคือ #เด็กก็สามารถเครียดและท้อแท้ได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

สาเหตุของความเครียดอาจมาจากปริมาณการบ้านที่มากเกินไป การบ้านยากเกินกว่าพัฒนาการของเขา เรียนที่โรงเรียนไม่เข้าใจ หรือกลัวถูกตำหนิหากทำผิด

สิ่งเหล่านี้สามารถทำให้ลูกขาดความสุขในการเรียนและไม่อยากทำการบ้านตามไปด้วย

พ่อแม่จึงต้องหมั่นคอยสังเกต ถามไถ่ และรับฟังความรู้สึกลูก

เมื่อทราบสาเหตุจะทำให้เราเข้าใจและเห็นใจเขามากขึ้น  ใจเย็นในการพูดหรือสอนลูกมากขึ้น ทำให้ลูกรู้สึกกดดันน้อยลง

.

2.#ชื่นชมความพยายาม

แม้ลูกจะทำการบ้านผิดซ้ำ ๆ ทำไม่ถูกสักที หรือทำยังไม่ทันเสร็จก็ขอหยุด ขอพัก พ่อแม่อย่าเพิ่งบ่นหรือดุ ด้วยประโยคเหล่านี้

“การบ้านง่าย ๆ แค่นี้ ทำไมทำไม่ได้”

“หนูมัวแต่บ่น แล้วเมื่อไหร่การบ้านมันจะเสร็จ”

ทำแบบนี้ลูกมีแต่จะเบื่อ ไม่อยากทำ ทำให้หงุดหงิดทั้งพ่อแม่และลูก

ลองเปลี่ยนมาเป็นการชื่นชมในความพยายามที่ผ่านมาของลูก จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ลูกอยากทำการบ้านต่อไปโดยไม่ย่อท้อ 

“พ่อปลื้มใจมากนะเนี่ย ที่หนูทำการบ้านมาได้ตั้ง 7 ข้อแล้ว พ่อเห็นเลยว่าหนูตั้งใจมาก เหลืออีก 3 ข้อใช่มั้ยคะ เดี๋ยวเรามาช่วยกันอีกนิดนะ”

“ลูกแก้โจทย์ข้อนี้มาหลายรอบแล้ว แม่ชื่นชมมากเลยนะ ที่หนูพยายามทำจนกว่าจะมันจะสำเร็จ”

และถ้าพ่อแม่ฝึกชมลูกได้ครบ 3 องค์ประกอบ  รับรองว่าลูกจะได้ทั้งแรงใจ ฮึดสู้อยากทำการบ้าน และได้ทั้งความรู้สึกรับรู้ถึงคุณค่าในตัวเองหรือว่าเกิด self -esteem อย่างแน่นอน 

.

(เทคนิคการชม 3 องค์ประกอบ ได้แก่ “ความรู้สึกพ่อแม่ + พฤติกรรมที่ลูกทำ + คุณลักษณะที่ดีของลูก” สามารถศึกษาเทคนิคการชมอย่างมีประสิทธิภาพได้ฟรี ในคอร์สจัดเต็ม ที่ www.netpama.com)

.

3.#ทำการบ้านให้เป็นเรื่องสนุก

พ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าเด็กแต่ละวัยมีความสามารถในการจดจ่อได้ไม่เท่ากัน

โดยเฉพาะในเด็กอนุบาลที่อาจจะจดจ่อกับใบงานหรือการบ้านได้ไม่นาน จึงไม่แปลกที่เด็กจะหมดสมาธิและบ่ายเบี่ยงต่อรอง

การทำให้การบ้านเป็นเหมือนการเล่น ด้วยการใส่เสียงสูงต่ำขึ้นลงให้ดูสนุกน่าสนใจเหมือนตอนเล่านิทานให้ลูกฟัง จะช่วยให้ลูกอยากทำมากขึ้น

และอีกเทคนิคที่ใช้ได้ผลดีกับทั้งเด็กเล็กและเด็กโต คือ #การทำตารางสะสมคะแนน

โดยพ่อแม่กำหนดเป้าหมายในการทำการบ้านแต่ละวัน ว่าลูกต้องทำกี่ข้อ กี่หน้า หรือกำหนดเวลาว่าต้องทำการบ้านกี่โมง-กี่โมง แล้วจะได้คะแนนหรือได้สติกเกอร์ตามจำนวนที่ตกลงกันไว้

และคะแนนที่สะสมได้สามารถเอามาแลกเป็นของรางวัลที่ลูกอยากได้ เช่น 50 คะแนน ได้กล่องดินสอ, 100 คะแนนได้ของเล่น, 300 คะแนนได้ไปสวนสัตว์ ฯลฯ ตามแต่จะตกลงกัน

เมื่อมีคะแนนและรางวัลมาจูงใจ การทำการบ้านก็จะเหมือนเกมที่สนุกและท้าทาย

ลูกจะต้องทำ mission ให้ผ่านเพื่อไปถึงรางวัลที่ต้องการ และจะมองว่าการบ้านก็จะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป

.

(เทคนิคการทำตารางสะสมคะแนน มีให้ศึกษาเพิ่มเติมในคอร์สจัดเต็ม ที่ www.netpama.com ในบทเรียนจะมีทั้งขั้นตอนการสร้างข้อตกลงกับลูก การกำหนดคะแนนและของรางวัล รวมทั้งตัวอย่างตารางคะแนนให้ดาวน์โหลดไปใช้ได้ฟรี ๆ)

.

4.#สร้างกติกาให้ชัด #ทำตามกติกาให้เป๊ะ

การจัดเวลาทำการบ้าน นอน เล่น หรือกิจวัตรที่เขาต้องทำเป็นประจำให้ชัดเจนคงเดิมทุกวัน จะช่วยให้เด็ก ๆ เกิดความเคยชินและทำสิ่งนั้นจนเป็นนิสัย เช่น กลับจากโรงเรียนต้องทำการบ้านให้เสร็จก่อน 6 โมงเย็น ถึงจะไปเล่นได้ , 2 ทุ่มต้องอาบน้ำเสร็จ และเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม ฯลฯ

พ่อแม่ควรกำหนดกิจวัตรให้เหมาะกับวัยของลูก บอกเวลาให้ชัด ลูกจะได้ปฏิบัติตามได้ง่าย

อาจมีการยืดหยุ่นได้บ้าง เช่น วันหยุดศุกร์สามารถนอนดึกได้แต่ต้องไม่เกินเที่ยงคืน ลูกจะได้ไม่รู้สึกตึงเครียดจนเกินไป 

ในสัปดาห์แรก ๆ ของการปฏิบัติตามกติการอาจมีการต่อรองหรือมีน้ำตากันบ้าง พ่อแม่ใจแข็งไว้ค่ะ

ใช้วิธีการย้ำกติกาที่ตกลงกันไว้กับลูกด้วยท่าทีที่เป็นปกติ #ใจดีแต่ไม่ใจอ่อน เพื่อให้ลูกรู้ว่าพ่อแม่จริงจังกับกติกานี้ สุดท้ายลูกจะเข้าใจหน้าที่ความรับผิดชอบของตัวเอง

หากลูกทำตามกติกาได้ พ่อแม่อย่าลืมชื่นชมในความพยายามของเขานะคะ ลูกจะได้มีกำลังใจทำต่อไปอีกเรื่อย ๆ 

.

5.#รู้ทันอารมณ์ตัวเอง

หากลูกบ่ายเบี่ยงต่อรองจนทำให้เราเริ่มอารมณ์คุกรุ่น ให้รีบเดินออกมาจากตรงนั้นก่อนที่จะปรี๊ดแตกใส่ลูก

เพราะการโมโหระเบิดอารมณ์อาจทำให้ทุกอย่างแย่ลง และเป็นพ่อแม่เองที่ต้องมารู้สึกเสียใจภายหลัง

ที่สำคัญคือพ่อแม่เป็นแบบอย่างในการจัดการกับอารมณ์ของลูก อย่าลืมว่าลูกมองดูเราอยู่นะคะ

พ่อแม่จัดการความโกรธแบบไหน ลูกก็ทำแบบนั้น

มื่อไหร่ก็ตามที่เขาโมโหหรือรู้สึกโกรธ เขาก็จะใช้วิธีเดียวกันกับที่พ่อแม่ทำ เพื่อจัดการความโกรธของตัวเอง

ดังนั้นเมื่อรู้สึกหงุดหงิดจากการสอนการบ้านลูกเมื่อไหร่ ให้พักออกจากห้องและไปหาวิธีผ่อนคลาย เช่น หายใจเข้าออกลึก ๆ ให้อารมณ์สงบก่อน แล้วค่อยกลับมาสอนลูกใหม่ #ไม่ไหวก็ไม่ต้องฝืนตัวเอง 

.

6.#เข้าใจข้อจำกัดของลูก

เด็กบางคนอาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้การทำการบ้านเป็นเรื่องที่ยากมากจนต้องงอแงหรือบ่ายเบี่ยงไม่ยอมทำ เช่น สายตาสั้นจนทำให้มองข้อความบนกระดาษไม่ชัดเป็นสาเหตุที่จดจ่อไม่ค่อยได้

เด็กบางคนอาจมีปัญหาที่กล้ามเนื้อมือ จับดินสอไม่ถูก ส่งผลให้การขีดเขียนหรือทำการบ้าน เป็นไปอย่างยากลำบาก เมื่อยมือได้ง่ายจนรู้สึกไม่อยากทำการบ้านอีก 

เด็กบางกลุ่มอาจมีปัญหาทางการเรียนรู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น มีความบกพร่องทางการเรียน (Learning disorder) เป็นโรคสมาธิสั้น (ADHD)

หากสงสัยว่าลูกอาจมีปัญหาด้านการเรียนรู้หรือข้อจำกัดทางกายภาพ ควรขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อรับการประเมินและคำแนะนำในการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความต้องการพิเศษของลูกนะคะ

.

.

.

การสอนการบ้านให้ลูกไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างทักษะการเรียนรู้ ฝึกความรับผิดชอบ และฝึกวินัย แต่ช่วงเวลานี้ยังเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันในครอบครัวที่พ่อแม่ไม่ควรปล่อยให้หลุดมือ

เมื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี พร้อมทั้งมีกฎกติกาที่ชัดเจนสมเหตุสมผล การสอนการบ้านลูกก็จะไม่ใช่สนามรบอีกต่อไป

.

หากพ่อแม่ท่านไหนต้องการเรียนรู้วิธีฝึกวินัยให้ลูกไปพร้อมกับการสร้างสัมพันธภาพที่ดี #การบ้านเสร็จ #พ่อแม่แฮปปี้ #ลูกไม่มีคราบน้ำตา #บรรยากาศในบ้านก็ดีกว่าเดิม สามารถเข้ามาศึกษาเทคนิควินัยเชิงบวกได้ที่ www.netpama.com นะคะ เป็นคอร์สออนไลน์ที่จัดทำขึ้นโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา เรียนฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ

หมวดหมู่ทั้งหมด

NET PaMa