window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
คำพูดกดดันไม่ได้ทำให้ลูกฮึดสู้เสมอไป
เมื่อ 4 สัปดาห์ที่แล้ว

ในเวลาที่เราโดนใครตำหนิมา หลายคนมักปลอบเราด้วยประโยคคุ้นหูที่ว่า…

“ให้เก็บเอาคำตำหนิมาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเอง”


การพูดจาแรง ๆ คือหนึ่งในวิธีที่ช่วยเตือนสติให้คนฟังมีไฟ มีแรงฮึดสู้


ในการตำหนิแต่ละครั้ง หากมองลึกลงไป คนพูดอาจมีเจตนาที่ดี

ที่คาดหวังให้คนฟังมีแรงจูงใจ มีความพยายามให้มากขึ้นอีกสักหน่อย 


แต่ทว่า…

ในเมื่อเราปรารถนาดีต่อกัน แล้วทำไมต้องใช้คำพูดแรง ๆ ให้อีกฝ่ายฟังแล้วรู้สึกเจ็บปวด

ในเมื่อหวังดีต่อกัน แล้วทำไมเราไม่พูดกันดี ๆ


.


ในความสัมพันธ์ของครอบครัว พ่อแม่ก็หวังดีต่อลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมาก

เราเลี้ยงลูกมา ก็ย่อมอยากให้ลูกเป็นเด็กน่ารัก เชื่อฟัง มารยาทดี เรียนหนังสือเก่ง ๆ เป็นคนที่สมบูรณ์แบบ

พ่อแม่ทุกคนปรารถนาดีกับลูก อยากให้ลูกได้ดี ประสบความสำเร็จ เป็นที่ยอมรับของสังคม


แต่บางทีลูกก็ไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ในใจ

บางเวลาลูกเราก็ดื้อ ไม่น่ารัก ไม่เชื่อฟัง ขี้เกียจ ไม่มีวินัย

พ่อแม่จึงต้องสรรหาวิธีต่าง ๆ นานา เพื่อกระตุ้นให้ลูกกลับมาอยู่ในร่องในรอย


ยิ่งรู้สึกว่าลูกไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่เราวางไว้ ก็ต้องยิ่งหาทางผลักดันให้ลูกพยายามมากขึ้น


อาจจะด้วยการชี้ให้เขาเห็นในสิ่งที่ตัวเองบกพร่อง

“มัวแต่ขี้เกียจแบบนี้ไง ถึงสอบไม่ผ่าน”


บางทีก็ต้องสอนให้ลูกเอาอย่างคนอื่นที่ปฏิบัติตัวดี

“ทำไมเกเรแบบนี้นะ ดูลูกบ้านอื่นสิ เขาเชื่อฟังพ่อแม่ทุกอย่าง”


หรือยกตัวอย่างผลลัพธ์ที่ไม่ดีมาขู่ให้เขารู้สึกกลัว

“เลิกทำตัวแย่ ๆ แบบนี้ได้ไหม จะโดนไล่ออกอยู่แล้วรู้ตัวหรือเปล่า”

(ขอยกประโยคที่คุณย่าพูดกับเอกใน THE BROKEN BOND เด็กดีมีปัญหา EP 2 มา เพราะฟังแล้วรู้สึกอินมาก เข้าใจในความอัดอั้น เป็นห่วงและกังวลของย่า)


เมื่อพูดดี ๆ แล้วยังไม่ฟัง บางครั้งก็ต้องพูดแรง ๆ เพื่อเรียกสติกันบ้าง

พูดออกไปแล้วก็ได้แต่หวังว่าเขาจะคิดได้ หวังว่าเขาจะรู้ว่าอะไรควรทำไม่ควรทำ หวังว่าเขาจะปรับปรุงตัวเอง


หากลูกสามารถเปลี่ยนคำพูดลบ ๆ มาเป็นแรงฮึดให้ตัวเองได้ ก็ต้องนับถือในหัวใจอันแข็งแกร่ง


แต่ความเป็นจริงที่ทุกคนต้องยอมรับนั่นก็คือ

#ไม่มีเด็กคนไหนโดนผลักดันด้วยคำตำหนิแล้วจะรู้สึกดี


ยิ่งถ้าคำพูดในเชิงตำหนิ กดดัน เปรียบเทียบมาจากปากของคนที่รักอย่างพ่อแม่และคนในครอบครัว คำพูดเหล่านั้นจะติดค้างอยู่ในใจลูก ลูกจะค่อย ๆ เริ่มสงสัยในคุณค่าของตัวเอง

และถ้าหากลูกได้ยินคำพูดตำหนิซ้ำ ๆ ทุกวัน สุดท้ายเขาจะเชื่ออย่างสนิทใจว่าตัวเองไร้ความสามารถ ไม่มีอะไรดี


ทั้งใจจริงแล้วที่พ่อแม่ต้องดุ ต้องคอยตำหนิ ต้องพูดกดดัน ก็เพราะความเป็นห่วง อยากผลักดันให้เขาเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี


#แต่เรากำลังสื่อสารเจตนาที่ดีด้วยคำพูดที่สร้างความเจ็บปวดและก่อบาดแผลให้ลูกอยู่หรือเปล่า?

 

หากพ่อแม่ตำหนิมากกว่าชื่นชม กดดันมากกว่าให้กำลังใจ ตอกย้ำความผิดมากกว่าปลอบโยน ลูกจะไม่มีวันมองเห็นคุณค่าในตัวเอง กลายเป็นคนที่กลัวความผิดพลาด และไม่สามารถก้าวผ่านความล้มเหลวได้

#คำตำหนิต่อว่าคืออาวุธร้ายที่คอยบั่นทอนกำลังใจของลูก

เด็กที่ไม่เคยได้รับคำชื่นชมจากพ่อแม่ก็จะชื่นชมใครไม่เป็น แม้กระทั่งตัวของเขาเอง


#หยุดสร้างแผลใจให้ลูก #หยุดทำลายความสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูก #คำตำหนิดูถูกไม่ใช่แรงผลักดัน


ลูกไม่สามารถสัมผัสความหวังดีหรือความห่วงใยได้จากคำพูดร้าย ๆ ของพ่อแม่

สิ่งที่ลูกรับรู้ได้มีเพียงแต่ความโกรธ ความผิดหวังที่พ่อแม่มีต่อตัวเขา

นานวันเข้าเขาก็จะหมดหวังกับตัวเอง เขาจะรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่าสำหรับพ่อแม่ ไม่มีคุณค่าสำหรับโลกใบนี้ ไม่มีคุณค่าสำหรับใครเลย


สิ่งที่จะช่วยเด็กมีความหวัง มีแรงใจที่จะพยายามต่อสู้กับอุปสรรคต่าง ๆ คือคำชมและกำลังใจ

โดยเฉพาะถ้ามาจากคนที่เขารัก ไม่ว่าเด็กคนไหนได้รับก็เหมือนได้อาหารใจ


หากไม่รู้จะชมอะไร ก็ขอให้ชมในความพยายาม

“สอบไม่ผ่านก็ไม่เป็นไรนะลูก แม่เห็นหนูตั้งใจอ่านหนังสือทุกวันแบบนี้ แม่ภูมิใจมากแล้ว”

หรือถ้าลูกทำความผิดมา ก็ยังชื่นชมในความกล้าทำกล้ารับของลูกได้

“พ่อดีใจนะที่ลูกกล้ายอมรับผิด ขอบคุณที่เป็นเด็กซื่อสัตย์นะครับ”


ถ้าพ่อแม่คอยมองหาข้อดีของลูกและหมั่นชื่นชมลูกบ่อย ๆ ลูกจะรับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่า และภูมิใจในตัวเอง

ยิ่งพ่อแม่ชมในพฤติกรรมที่ดี ลูกก็จะอยากทำสิ่งดีนั้นต่อไป ยิ่งชมในความพยายาม ลูกก็ยิ่งอยากพยายามขึ้นไปอีก 


ไม่ว่าลูกจะเจอเรื่องท้าทายหรือเจอเหตุการณ์เลวร้ายสักกี่ครั้ง ขอเพียงแค่พ่อแม่ยังอยู่ข้าง ๆ คอยให้กำลังใจ ไม่ซ้ำเติมกดดัน เท่านี้ลูกก็มีแรงใจฝ่าฟันทุกอย่างที่เข้ามา ไม่ว่าจะต้องล้มเหลวอีกกี่ครั้ง ลูกก็จะยังลุกขึ้นมาใหม่ได้โดยไม่สูญเสียคุณค่าในตัวเองไป เพราะพ่อแม่ยังเห็นคุณค่าในตัวเขาเสมอ 


#คำชมจากพ่อแม่คือกำลังใจที่ดีที่สุดสำหรับลูก


พ่อแม่คนไหนอยากฝึกชื่นชมลูกให้ถูกวิธี ชมอย่างไรให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตนเอง ชมอย่างไรให้ลูกไม่เหลิง สามารถเรียนรู้เทคนิคการชมได้ที่ https://www.netpama.com/ รับรองว่าใช้ได้ผลกับลูกทุกวัย เริ่มชมตอนไหนก็ไม่มีคำว่าสายเกินไปค่ะ มาชมลูกกันเยอะ ๆ นะคะ




บทความโดย ซันเดย์
NET PaMa