window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
วิธีดูแลใจตัวเองฉบับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว
เมื่อ 1 เดือนที่แล้ว

การแยกจากหรือการสูญเสียบุคคลในครอบครัว นับได้ว่าเป็นวิกฤตชีวิตของใครหลาย ๆ คน ครอบครัวที่คู่สามีภรรยาประสบปัญหาทำให้ต้องแยกกันอยู่ เกิดการเลิกราหย่าร้าง หรือมีใครคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตจากไปนั้น ทำให้ใครอีกคนต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตอย่างคาดไม่ถึง

.

เมื่อต้องแยกจากกัน ความรู้สึกทางลบก็อาจจถาโถมเข้ามาในใจอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ทั้งความเศร้า เสียใจ ผิดหวัง สิ้นหวัง หรือความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องให้เวลาเป็นตัวช่วย ค่อย ๆ ปรับตัวและก้าวผ่านมันไป แต่การต้องรับหน้าที่ในการดูแลลูกในขณะที่ต้องปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงในชีวิตที่เกิดขึ้นไปพร้อมกันนั้น นับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งขึ้นไปอีก 

.

จริง ๆ แล้วพ่อแม่ทุกคนก็มีความกังวลเกี่ยวกับลูกคล้าย ๆ กัน เช่น..


“ลูกจะมีเพื่อนที่โรงเรียนไหมนะ ?”

“ลูกจะกินอิ่มนอนหลับไหมนะ ?”

“ลูกเล่นเกมเยอะเกินไปรึเปล่านะ ?”

“เกรดเทอมนี้จะเป็นยังไงนะ ?”

.


พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็ไม่ต่างกัน แต่สิ่งที่อาจทำให้พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวมีความเครียดสูงกว่าพ่อแม่คนอื่น คือการต้องรับบทบาทหน้าที่หลายอย่างที่ยากลำบากด้วยตัวคนเดียว พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวอาจต้องแบกรับภาระในการเลี้ยงดูลูกหรือต้องตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับลูกด้วยตัวเอง พร้อมกับที่ต้องจัดการปัญหาชีวิตอื่น ๆ ไปด้วย ยิ่งถ้าอยู่ในช่วงของการตัดสินใจแยกทาง การตัดสินใจเกี่ยวกับลูกก็เป็นสิ่งที่ทำให้คิดหนัก ทั้งการจัดการสิทธิ์ในการดูแลลูก การหาตกลงในการรับผิดชอบเพื่อดูแลลูก การหารายได้เลี้ยงดูครอบครัว ฯลฯ 

.

และยิ่งถ้าหากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่หมดไปกับการดูแลลูกและจัดการปัญหาชีวิตตัวเอง จนขาดการเชื่อมต่อกับโลกภายนอก ไม่มีเวลาไม่มีโอกาสให้ได้พูดคุยพบปะกับคนที่ใกล้ชิดหรือเพื่อนสนิท นอกจากความเครียด สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยว


หากไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อขจัดความเครียด ความเครียดอาจพอกพูนและส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย สุขภาพจิตและคุณภาพชีวิต

.

มีการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Affective Disorders บอกว่าภาวะซึมเศร้าของแม่ที่เกิดจากความเครียดในการเลี้ยงลูกนั้นส่งผลให้ลูกมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการวิตกกังวลและซึมเศร้าเพิ่มมากขึ้น หมายความว่าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวที่กำลังเผชิญกับการเลี้ยงลูกคนเดียวจนเกิดความรู้สึกเหนื่อยหน่าย ท้อแท้หรือ burnout จากการต้องดูแลครอบครัวและยังต้องต่อสู้กับความเหงาหรือปัญหาความสัมพันธ์ ความรู้สึกนั้นแน่นอนว่าจะถูกส่งต่อไปถึงลูกด้วย

.

แต่ถ้าพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวสามารถจัดการความรู้สึกตัวเองได้อย่างเหมาะสม ลูกก็จะมีสุขภาพจิตที่ดีด้วย มาดูกันว่าจะมีวิธีไหนบ้างที่จะเอาชนะความรู้สึกเครียด ท้อแท้ เหนื่อยหน่ายในการเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว 

.

#วิธีดูแลใจตัวเองฉบับพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว


#ยอมรับการเปลี่ยนแปลง ยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวต่อจากนี้จะเปลี่ยนจากคำว่า “เรา” มาเป็นคำว่า “ฉัน” และตัวฉันคนนี้คือคนที่จะรับผิดชอบดูแลตัวเองและลูก ๆ นับจากนี้ การแยกทางไม่ใช่จุดสิ้นสุดของชีวิตแต่เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่  จับมือลูกให้แน่น ๆ แล้วเริ่มต้นใหม่ไปด้วยกัน 

.

#รับรู้และฟื้นฟูคุณค่าในตัวเอง ลองนึกถึงสิ่งที่เคยทำ สิ่งที่เคยพยายามเพื่อครอบครัว แล้วชื่นชมตัวเองในเรื่องที่ผ่านมา ขอบคุณตัวเองที่อดทน ในชีวิตตอนนี้แม้จะมีบางอย่างขาดหายไปแต่เราก็ยังเป็นคนเดิม เป็นคนที่มีคุณค่าเช่นเดิม เรายังเป็นคนที่สำคัญสำหรับลูก สำคัญสำหรับครอบครัวของเรา ยังมีคนอีกมากมายที่พร้อมหยิบยื่นความรักความหวังดีให้กับเรา

.

#ให้อภัยตัวเอง ไม่โทษตัวเองว่าเป็นเพราะตัวเราที่ทำให้ลูกต้องขาดพ่อหรือแม่ ไม่ยึดติดตัวเองไว้กับเรื่องราวในอดีต เพราะการเอาใจไปจดจ่อกับสิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดเปรียบเสมือนการแบกความทุกข์ก้อนใหญ่ไว้ในใจ ถ้าวางมันลงได้ ใจก็จะเบา


อดีตเป็นสิ่งที่เราย้อนกลับไปแก้ไขไม่ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือเราจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในปัจจุบันและจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไรในอนาคตให้ตัวเรามีความสุข

.

#เลิกเปรียบเทียบ ทั้งการเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นหรือเปรียบเทียบครอบครัวตัวเองกับครอบครัวคนอื่น เพราะครอบครัวไม่ว่าจะเป็นแบบไหนจะมีสมาชิกเท่าไหร่ก็คือครอบครัว ในโลกใบนี้มีครอบครัวอยู่หลากหลายรูปแบบ แต่ละครอบครัวเพียงแค่แตกต่างกัน ครอบครัวเราไม่เหมือนครอบครัวคนอื่นนั่นก็เป็นเพราะเราต่างกัน #พยายามชื่นชมในสิ่งที่มีอยู่ให้มากกว่าการครุ่นคิดถึงแต่สิ่งที่ขาดหายไป 

.

#สร้างเวลาคุณภาพกับลูก เชื่อว่าลูกคือพลังใจอย่างหนึ่งของพ่อแม่  ในวันที่รู้สึกท้อแท้ เหนื่อยหน่าย อาจจะลองชวนลูก ๆ มาทำงานอดิเรกที่ชอบและสนุกไปด้วยกัน เช่น เล่นบอร์ดเกม ออกกำลังกาย ไปเที่ยวสวนสัตว์ หรือจะพาลูก ๆ มาช่วยกันทำงานบ้าน กวาดขยะ รดน้ำต้นไม้ ก็ถืออีกหนึ่งวิธีที่ดีในการใช้เวลาคุณภาพร่วมกัน


การให้ลูก ๆ รับผิดชอบช่วยเหลืองานบ้านตามสมควร ยังเป็นการฝึกให้ลูกมีความรับผิดชอบ รู้จักหน้าที่และมีทักษะในการช่วยเหลือตัวเอง เพราะในความเป็นจริงแล้ว เด็ก ๆ ที่อยู่ในครอบครัวพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวก็สามารถเรียนรู้ทักษะและพัฒนาคุณลักษณะนิสัยที่ดีได้ไม่ต่างไปจากเด็กในครอบครัวประเภทอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความรับผิดชอบ ความมีระเบียบ หรือความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ก็สามารถฝึกให้ลูกเรียนรู้เอาไว้ได้ 

.

#หาเวลาให้ตัวเอง เข้าใจดีว่าการหาเวลาให้กับตัวเองเมื่อต้องเลี้ยงลูกตามลำพังนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวควรพยายามจัดสรรเวลาให้ตัวเองบ้าง ถึงแม้จะเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ตามที เพื่อให้โอกาสตัวเองได้พักใจพักกาย ผ่อนคลายความเครียด อาจจะใช้เวลาหลังลูกเข้านอนเป็นเวลาสำหรับตัวเอง เช่น อ่านหนังสือ ดูซีรีส์ ทำอะไรที่ชอบ หรือจะใช้เวลาช่วงสุดสัปดาห์ออกไปเที่ยวนอกบ้าน พาลูกไปเจอสมาชิกคนอื่นในครอบครัว ให้คุณปู่ คุณย่า คุณตา คุณยาย หรือญาติ ๆ ช่วยเลี้ยงสักวันหรือครึ่งวันก็ทำให้เหนื่อยน้อยลง มีเวลามากขึ้น เด็ก ๆ เองก็จะได้มีเวลาคุณภาพกับสมาชิกคนอื่นในครอบครัวด้วย

.

เมื่อการเลี้ยงลูกคนเดียวทำให้รู้สึกกดดัน สิ่งสำคัญคือต้องขอความช่วยเหลือ..

หากไม่สามารถจัดการความรู้สึกที่ท่วมท้นในใจได้ #อย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือ จากผู้เชี่ยวชาญ การเข้ารับการปรึกษากับนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องน่าอาย

.

พ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวคนไหนที่กำลังดิ้นรนให้ตัวเองพ้นจากความทุกข์ใจ การทำอะไรสักอย่างเพื่อเติมเต็มความสุขของตัวเองนั้นเป็นสิ่งที่เหมาะสมและไม่จำเป็นต้องกังวล ไม่เป็นไรเลยหากบางครั้งเราจำเป็นต้องปลีกตัวจากการดูแลลูกไปดูแลใจตัวเองบ้าง เพราะ #สุขภาพจิตที่ดีของเราเท่ากับสุขภาพจิตที่ดีของลูกด้วย

.

Net PAMA ขอเป็นกำลังใจให้คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวทุกท่าน :-)

.

หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก สามารถเข้ามาศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย

.

ที่มา  : https://www.verywellmind.com/single-parenting-stress-how-to-beat-burnout-5216180 และคู่มือสำหรับกุมารแพทย์เพื่อช่วยเหลือเด็กและครอบครัว ตอน children with divorce

 

บทความโดย ซันเดย์

NET PaMa