เรื่องเพศเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม
ลูกของเราก็เช่นกัน เมื่อเขาเติบโตถึงวัยหนึ่ง เขาก็อาจจะมีความสนใจในเรื่องเพศแบบผู้ใหญ่
ความอยากรู้อยากเห็นเป็นเรื่องธรรมชาติของเด็ก
เด็กทุกวัยมีคำถาม แต่ละวัยก็อาจจะมีคำถามเรื่องเพศที่ต่างกันออกไป
แต่เมื่อลูกพร้อมที่จะถาม พ่อแม่ก็ต้องพร้อมที่จะตอบ
.
ก่อนพ่อแม่จะตอบคำถามเรื่องเพศ
ขั้นแรกพ่อแม่อย่างเราอาจจะต้องประเมินก่อนว่า ด้วยพัฒนาการและประสบการณ์ของลูก ลูกน่าจะรู้อะไรบ้างแล้วนะ แล้วลองให้โอกาสลูกได้เปิดบทสนทนาด้วยคำถามคาใจของเขา
เด็กวัยรุ่นอาจจะไม่กล้าถามพ่อแม่เรื่องเพศกับพ่อแม่ เพราะเขาโตพอที่จะเข้าใจและรับรู้ได้แล้วว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวและอาจจะน่าอาย แต่ถ้ามีลูกเล็กวัยช่างถามแล้วล่ะก็ เตรียมตัวเตรียมใจไว้ได้เลยค่ะ บางทีลูกก็อาจจะถามเราด้วยความไร้เดียงสา แต่ก็ทำให้พ่อแม่รู้สึกกระอักกระอ่วนใจไม่น้อยที่จะตอบ จนบางทีพ่อแม่ก็เขินจนไปต่อไม่ถูกกับคำถามของลูก ตัวอย่างคำถามก็เช่น
“ แม่คะ หนูเกิดมาได้ยังไง ”
“ หนูเข้าไปอยู่ในท้องแม่ได้ยังไง ”
“ แล้วหนูออกมาจากท้องแม่ได้ยังไง ”
“ ทำไมผู้หญิงถึงไม่มีจู๋? ”
ฯลฯ
.
ทำอย่างไรดีนะ ถ้าลูกเริ่มถามเรื่องเพศ
.
#อย่าเพิ่งหัวเราะ หรือทำให้ลูกรู้สึกว่าเป็นเรื่องตลกขบขันนะคะ ถึงแม้ว่าบางทีคำถามของลูกจะน่ารักไร้เดียงสาเสียจนจนอดขำไม่ได้ แต่เด็กไม่ควรถูกทำให้รู้สึกอับอายเพราะความอยากรู้อยากเห็นของเขา ไม่อย่างนั้นเมื่อเขาโตขึ้น เขาจะไม่กล้าถามอะไรคุณพ่อคุณแม่อีกต่อไป
.
#รักษาท่าที ทำตัวเป็นธรรมชาติแบบที่คุณพ่อคุณแม่เป็นอยู่ทุกวัน แสดงท่าทีที่สงบ ใจเย็นเหมือนเวลาที่คุยกับลูกเรื่องอื่นทั่วไป พยายามไม่แสดงออกว่ากำลังรู้สึกอาย เพราะถ้าพ่อแม่มีท่าทีที่เขินอาย ลูกก็จะรู้สึกว่าการพูดเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าอับอายด้วย เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ทำตัวสบาย ๆ ได้เลยค่ะ เรื่องเพศเป็นเรื่องธรรมชาติ
.
#อธิบายด้วยภาษาที่เหมาะกับวัยลูก ให้ลูกเข้าใจง่าย คำถามที่ลูกมักจะถามเราก็แตกต่างกันไปตามวัย คำตอบของพ่อแม่ก็ควรจะคำนึงถึงความสามารถในการเข้าใจของลูกด้วยนะคะ โดยเฉพาะถ้าลูกยังเล็ก คุณพ่อคุณแม่ไม่จำเป็นต้องให้ข้อมูลที่ละเอียดลึกซึ้ง คุณพ่อคุณแม่สามารถตอบลูกไปได้เลยว่า
“ เพราะพ่อแม่รักกัน หนูเลยเข้ามาอยู่ในท้องแม่ ”
“ พอหนูตัวโตขึ้น แม่ต้องไปคลอดหนูที่โรงพยาบาล คุณหมอเป็นคนช่วยให้หนูออกมาจากท้องแม่ ”
แต่ถ้าลูกอยู่ในวัยเรียนประถมก็จะมีความสงสัยที่ซับซ้อนขึ้นมาหน่อย และมีความสงสัยเกี่ยวกับร่างกายตัวเองมากขึ้น สิ่งที่ลูกอาจจะสงสัย อาทิเช่น
“ประจำเดือนคืออะไร”
“อายุเท่าไหร่ถึงจะมีลูกได้”
“ทำไมอวัยวะเพศผู้ชายถึงแข็งตัวได้ด้วยล่ะ”
คุณพ่อคุณแม่สามารถใช้โอกาสนี้ในการสอนให้เขาเตรียมตัวสำหรับการเข้าสู่วัยรุ่นได้ บอกให้เขารู้ว่าเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นร่างกายเขาจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร และมีอะไรที่เขาควรระวัง เช่น
“ผู้ชายเมื่อโตขึ้น ร่างกายจะมีอสุจิ แล้วก็จะทำให้ผู้หญิงตั้งท้องได้ถ้ามีเพศสัมพันธ์กัน”
“พอโตขึ้นผู้หญิงจะมีประจำเดือน พอมีประจำเดือนแล้วมีเพศสัมพันธ์ ก็จะตั้งท้อง”
“ถ้ามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน จะทำให้ตั้งท้องและติดโรคได้”
ถ้าลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น คุณพ่อคุณแม่ควรจะสอนให้ลูกรักและเคารพร่างกายของตัวเอง รู้จักการปฏิเสธ รู้จักวิธีหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ รวมถึงสอนให้ลูกรู้วิธีป้องกันตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น สอนวิธีใช้ถุงยางอนามัย การรับประทานยาคุมกำเนิด ฯลฯ
.
#ตอบคำถามลูกตามความเป็นจริง ไม่โกหก ไม่แต่งเรื่องเพื่อบ่ายเบี่ยงที่จะต้องเล่าอย่างตรงไปตรงมา เช่น “ลูกตกมาจากบนฟ้า” “แม่เก็บลูกมาจากถังขยะ” “ลูกเกิดจากกระบอกไม้ไผ่” เพราะนอกจจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจผิด ๆ ให้กับลูกแล้วนั้นยังส่งผลถึงการรับรู้คุณค่าในตัวเองของลูกด้วย ลูกอาจจะรู้สึกสับสน เสียใจและน้อยใจที่เพราะเข้าใจว่าตัวเองไม่ใช่ลูกแท้ ๆ ของพ่อแม่
.
#เปิดโอกาสให้ลูกถาม เผื่อบางทีลูกก็อาจจะยังไม่หายสงสัย ยังไม่เคลียร์ใจ พ่อแม่อาจจะถามกับเขาว่า “ที่แม่ตอบไป หนูยังสงสัยตรงไหนถามแม่อีกได้นะ” พยายามทำให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่พร้อมที่จะตอบคำถามของเขาเสมอ พ่อแม่ไม่ได้เพิกเฉยหรือมองว่าสิ่งที่เขาสงสัยเป็นเรื่องน่าขบขัน สุดท้ายถ้าพ่อแม่คิดว่าเรื่องแบบนี้เด็กไม่จำเป็นต้องรู้ ลูกเราก็จะไปถามจากเพื่อนหรือเสิร์ชหาคำตอบจากอินเทอร์เน็ตอยู่ดี
.
แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่รู้สึกไม่สบายที่จะพูดคุยเรื่องเพศกับลูกก็ไม่เป็นไรนะคะ #ไม่ไหวไม่ฝืน อาจจะขอความช่วยเหลือจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัวให้ช่วยพูดคุยกับลูกแทนได้ หรือจะพาลูกมาพบจิตแพทย์เด็กเพื่อพูดคุยกับลูกก็ทำได้เช่นเดียวกันค่ะ
สามารถตรวจสอบรายชื่อสถานพยาบาลที่มีจิตแพทย์เด็กได้ที่ https://psychiatryhospital.my.canva.site/
.
คุณพ่อคุณแม่ท่านไหนเคยมีประสบการณ์โดนลูกถามเรื่องเพศกันบ้างคะ
แล้วตอบลูกกันว่าอย่างไร มาแชร์เพื่อเป็นไอเดียให้กับพ่อแม่ท่านอื่นกันค่ะ
.
.
.
หากคุณพ่อคุณแม่ท่านใดต้องการศึกษาเรื่องการเลี้ยงลูกเชิงบวก หรือศึกษาทักษะพื้นฐานในการสื่อสารเพื่อความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกคนในครอบครัว สามารถเข้ามาศึกษาได้ในคอร์สจัดเต็ม ซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา ที่ www.netpama.com เรียนฟรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย รับรองว่านำไปใช้จริงได้แน่นอนค่ะ
.
.
บทความโดย ซันเดย์