window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
“ต้นส้มแสนรัก” วรรณกรรมเด็กที่พ่อแม่และครูควรต้องอ่าน
เมื่อ 3 เดือนที่แล้ว

วันนี้ มัมมี่Bชวนเมาท์ มีวรรณกรรมเยาวชนที่ดีมากๆสะท้อนมุมมองในเรื่องนี้มาชวนอ่านกันค่ะ แนะนำว่าเล่มนี้เป็นวรรณกรรมเด็กที่พ่อแม่และครูควรได้อ่านสักครั้งในชีวิตจริงๆ 


“ต้นส้มแสนรัก” เป็นเรื่องของ “เซเซ่” เด็กชายวัย 5 ขวบที่เกิดมาในครอบครัวยากจน พ่อของเขาเป็นคนตกงานที่สิ้นหวัง ส่วนแม่และพี่ๆต้องช่วยกันทำงานเพื่อหาเงินเลี้ยงดูครอบครัว


เซเซ่เป็นเด็กที่ฉลาดมากเกินอายุ แต่ด้วยความดื้อและซน ทำให้เซเซ่เป็นเด็กที่มีปัญหามากที่สุดในบ้าน เขาเป็นเด็กเรียนรู้ได้ไว ชอบพูดคำหยาบเลียนแบบสิ่งที่ได้ยินมา และชอบแกล้งคนอื่น


เด็กชายมักจะโดนคนรอบตัวดุด่า ตีตรา เขาเติบโตมาด้วยการทำโทษด้วยความรุนแรงเสมอ โดยเฉพาะจาก “พ่อ” 


อาจเป็นเพราะพ่อเองก็มีความเครียดสะสม ทุกครั้งที่เขาทำผิดหรือทำให้พ่อโกรธ พ่อจะขาดสติ ดุด่า ด้อยค่าเขาด้วยคำหยาบคาย และตีเซเซ่อย่างรุนแรงเสมอ


ในบ้านของเซเซ่ไม่รู้จักการแสดงความรักต่อกัน พ่อแม่และผู้ใหญ่รอบตัวต่างยุ่งกับการทำมาหากินและจมอยู่กับปัญหาของตัวเองเกินกว่าที่จะมีเวลาสั่งสอน รับฟัง หรือทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของลูก


เมื่อโดนทำโทษด้วยความรุนแรง เซเซ่เจ็บปวด โกรธและเสียใจ อารมณ์ลบก่อตัวเป็นความก้าวร้าว เขามักระบายออกมาด้วยการแกล้งคนอื่น ก้าวร้าวและหยาบคายกับพ่อคืนกลับยิ่งกว่า พ่อก็จะดุด่าและตีเขาแรงขึ้นเรื่อยๆ เพื่อให้เขากลัวและหลาบจำ สำหรับเซเซ่ นี่คือ “วงจรอุบาทว์ที่วนไป”


เวลาอาจช่วยรักษาบาดแผลบนร่างกายได้ แต่รอยแผลในใจนับวันยิ่งบาดฝังลึก ยิ่งถูกด่าถูกตี เซเซ่ยิ่งรู้สึกตัวเองไร้ค่า ไม่มีใครรักและต้องการเขาเลย 


“ผมเลวจนไม่น่าเกิดมา ผมมันไม่มีค่าอะไรเลย“

“พี่คิดว่าผมเลวหรือเปล่า เลวอย่างที่ใครๆ เขาพูดกันไหม”

“ทำไมไม่มีใครรักฉันเลย วันนี้ฉันถูกตี3 หนแล้วนะ “


ในฐานะที่เป็นแม่ทำให้เข้าใจว่า จริงๆแล้วพ่อแม่เองก็ไม่ได้อยากตีหรือดุด่าลูก แต่บางทีเราเองก็ไม่รู้วิธีหรือทางเลือกอื่น และในบางครั้งด้วยความเหนื่อย ความกดดันจากปัญหาต่างๆ บวกรวมกับความดื้อของลูกทำให้เราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ เมื่อดุด่าและตีลูกรุนแรงแล้ว พ่อแม่มักจะรู้สึกเสียใจภายหลังเสมอ 


เมื่อถูกดุด่า ตีหรือทำโทษด้วยความรุนแรง เด็กแต่ละคนอาจจะตอบสนองความกลัวที่แตกต่างกัน บางคนเลือกที่จะหนี บางคนอาจเลือกที่จะสู้กลับ แต่ที่แน่นอนคือ ในทุกครั้งจะฝากรอยแผลในใจ ลูกจะรู้สึกไร้ค่า ไม่เป็นที่รัก ตัวตนของลูกจะค่อยๆถูกทำลาย


เด็กบางคนสะท้อนความรุนแรงออกมาเป็นความก้าวร้าวคืนกลับ หรือส่งต่อความเจ็บปวดโดยการรังแกผู้อื่น เด็กบางคนภายนอกอาจดูปกติ เพราะเด็กเลือกที่ปกปิดความเจ็บปวดและบาดแผลที่ไม่ได้รับการรักษาเอาไว้ เก็บกดจนกลายเป็น ความซึมเศร้า เปราะบางพร้อมที่จะแตกสลาย


ผลกระทบจากการใช้การลงโทษทางลบ ส่งผลเสียต่อลูกและเรา รวมถึงความสัมพันธ์ในครอบครัวอย่างคาดไม่ถึงจริงๆ


เมื่อพ่อแม่ปรับลูกจะเปลี่ยน  


ลองเปิดใจเรียนรู้เปลี่ยนการทำโทษด้วยการดุด่าและการตีมาใช้ #หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวก ถึงต้องใช้เวลาในการฝึกฝนแต่สามารถนำมาใช้ได้ผลแน่นอน


การเลี้ยงลูกเชิงบวกเป็นการสร้างวินัยกฎกติกาไปพร้อมกับความสัมพันธ์ที่ดีให้กับลูก  เริ่มด้วยจากการทำความเข้าใจปัจจัยในการปรับพฤติกรรมเด็ก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกอีกครั้งโดยใช้ทักษะการสื่อสารของพ่อแม่เพื่อรับฟังและพูดคุยกับลูกอย่างถูกวิธี


ทดแทนการดุด่าหรือการตำหนิตีตรานิสัยลูก สามารถใช้เทคนิคป๊าม๊าแมสเสจเพื่อบอกถึงความรู้สึกและความต้องการของพ่อและแม่ รวมถึงใช้เทคนิคการชมที่พฤติกรรมดีเพื่อเป็นกำลังใจและส่งเสริมพฤติกรรมบวกของลูก


ทดแทนการตีหรือใช้ความรุนแรง ด้วยเทคนิคการลงโทษเชิงบวก เช่น การตัดสิทธิ์ต่างๆ ตามที่เคยตกลงกันไว้ ให้รางวัลในพฤติกรรมที่ดี หรือทำตารางให้คะแนนเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมดีของลูก


หัวข้อเหล่านี้ทั้งหมดถูกรวบรวมเป็นบทเรียนในคอร์สจัดเต็มซึ่งจัดทำโดยทีมจิตแพทย์เด็กและนักจิตวิทยา พ่อแม่สามารถเข้าเรียนได้ ที่ www.netpama.com มีตัวอย่างที่นำไปใช้ได้จริงทันทีโดยเรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย


“วันหนึ่งเมื่อลูกเป็นพ่อคนแล้ว ลูกจะรู้ว่ามันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตมนุษย์ ดูเหมือนจะไม่มีอะไรที่ถูกต้องเลย ความสิ้นหวังมันเกิดขึ้นโดยไม่มีที่สิ้นสุด ”


ในเรื่องเซเซ่อาจจะไม่โชคดีพอ เพราะพ่อของเขาไม่รู้วิธีที่จะปรับเปลี่ยนเพื่อตัวเองและลูก 


เซเซ่พูดถึงพ่อว่า “ผมจะฆ่าเขา ไม่ได้หมายความว่า ผมจะเอาปืนของ บัค โจนส์ มายิง ผมจะฆ่าเขาในใจ ผมจะเลิกรักเขาและวันหนึ่งเขาก็จะตาย “


แต่ในชีวิตจริงของการเป็นพ่อแม่นั้น ไม่มีคำว่าสิ้นหวังหรือสายเกินไป หากเปิดใจเรียนรู้ แม้อาจจะต้องใช้เวลาและความพยายาม ทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงและแก้ไขได้เสมอ


Net PAMA ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกท่านนะคะ  ♥️



บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์
NET PaMa