window.dataLayer = window.dataLayer || []; function gtag(){dataLayer.push(arguments);} gtag('js', new Date()); gtag('config', 'G-HT69D45H8X');
อย่าปล่อยให้ความกลัวทำลายโอกาสในชีวิตลูก
เมื่อ 4 เดือนที่แล้ว

          เพื่อนมาปรึกษาว่า "คุณครูประจำชั้นลูกเรียกคุย เนื่องด้วยลูกชาย วัย 6 ขวบ เป็นเด็กขี้กังวลมาก ขี้กลัว ไม่ค่อยยอมทำอะไรด้วยตัวเองคนเดียว ไม่กล้าทำอะไรใหม่ ๆ ไม่ค่อยร่วมกิจกรรมกับเพื่อน ส่วนตัวแม่บอกพาไปเรียนอะไรได้สัก 1-2 ครั้ง ลูกก็ขอเลิกแล้ว บอกสั้น ๆ แค่ไม่ชอบ ไปสนามเด็กเล่น สวนสนุกก็จะเกาะติดกับแม่ จะเล่นก็ต่อเมื่อแม่เล่นด้วยเท่านั้น มีเด็กคนอื่นมาขอเล่นด้วยก็เดินหนี" 


...น่าเห็นใจจริงๆ แล้วที่ผ่านมาทำอย่างไร?


"ลูกเกาะแม่แจไม่ยอมทำอะไรตัวคนเดียวเลย แม่เลยต้องช่วย ข้าวถ้าไม่ป้อนก็ไม่กิน ไม่ทำให้ ก็ช้าไปโรงเรียนสายตลอด ส่วนกิจกรรมก็พยายามดันให้ทำนะ แต่ถ้าอันไหนมีความเสี่ยง ก็จะคอยเตือนลูก อย่างเรียนว่ายน้ำเรียนเดี่ยวห้ามห่างครูเด็ดขาด ปีนป่ายก็ให้เค้าลองแต่จะย้ำอย่าไปที่สูงเดี๋ยวจะตกลงมา เรื่องที่ไม่ค่อยร่วมกิจกรรมกับคนอื่นก็คงได้แม่ไปแหละ เพราะที่บ้านก็ไม่ชอบคนเยอะ ๆ เหมือนกัน"



ที่จริงแล้วความกลัวคือ กลไกที่ดีในปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยชนิดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ปกติในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็กวัย 3 - 5 ปี จะมีความกลัวซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัย เช่น กลัวคนแปลกหน้า กลัวอยู่คนเดียว หรือ กลัวความมืด ต่หากความกลัวนั้นมีมากจนเกินไป โดยเฉพาะเมื่อเริ่มเข้าสู่วัยเด็กโตแล้วอาจทำให้เกิดผลเสีย และอาจจะเป็นปัญหาใหญ่ในการเรียนรู้ หรือการใช้ชีวิตของลูกได้ 


ปัจจัยที่ทำให้ลูกของเราเป็นเด็กขี้กลัว หรือ ขี้วิตกกังวลนั้นมีหลายสาเหตุ  อาจจะเกิดจาก...


  • พื้นอารมณ์ที่ติดตัวลูกมาตั้งแต่เกิด พื้นอารมณ์อ่อนไหวง่าย ไม่ชอบเจออะไรใหม่ ๆ ไม่มั่นใจ และกังวล

  • คนใกล้ตัวเป็นคนขี้กังวลและขี้กลัว หรือเผลอเลี้ยงลูกแบบประคบประหงม และห่วงจนเกินไปทำให้ลูกแทนทุกอย่าง โดนดุ โดนห้ามบ่อย ๆ จึงทำให้ลูกขาดความมั่นใจ จนไม่กล้าจะทำอะไรด้วยตัวเอง

 

"โอ๊ย อย่าปีนนะลูก ! เดี๋ยวตกลงมาขาหัก"
"อุ๊ย !! ไม่ๆๆ อย่าขี่จักรยานเร็วแบบนั้น เดี๋ยวล้มเลือดไหลเจ็บมากนะลูก"
"หนูแต่งตัวชักช้า เดี๋ยวไปโรงเรียนสาย โดนครูดุเอานะ มาๆ แม่ช่วยแต่งตัวให้"
"กินช้าจริงๆ แบบนี้ เมื่อไหร่จะหมด มา แม่ป้อน"

 

  • เด็กอาจจะโดนขู่บ่อยๆ จากคนใกล้ตัว จนทำให้เกิดความกลัวและวิตกกังวล

"ออกไปข้างนอกคนเดียว ต้องจับมือแม่ตลอดนะ ไม่งั้นโจรมาจับตัวไป ลูกจะไม่ได้เจอพ่อแม่อีกเลย"
"ถ้าไม่กินข้าว เดี๋ยวไม่สบาย จะต้องไปให้หมอฉีดยาเจ็บๆนะ"
"มืดๆ ไม่นอน ระวังผีมาจับตัวไปไม่รู้ด้วย"

 

  • ลูกอาจเคยมีประสบการณ์ที่ทำให้เกิดความกลัวแบบฝังใจ เช่น พลัดหลงจากพ่อแม่ในที่สาธารณะ ถูกตีหรือดุอย่างรุนแรงตั้งแต่เล็ก ๆ หรือแม้แต่การรักษาที่โรงพยาบาลที่ลูกไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจรับมือทำให้เกิดความกลัวฝังใจ เช่น ฉีดยา ดูดเสมหะ พ่นยา เป็นต้น

 

แล้วพ่อแม่จะทำอย่างไรได้บ้าง...ในการทำให้ลูกคลายกังวลจากความกลัว และ เสริมสร้างให้ลูกเกิดความมั่นใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ยากเลยเราสามารถช่วยลูกได้ ดังนี้

 

  • ยอมรับและเคารพอารมณ์ความรู้สึกกลัวหรือวิตกกังวลของลูก ใช้คำพูดที่เหมาะสมเพื่อสร้างกำลังใจ ไม่แสดงท่าทีโมโหหงุดหงิด หรือ รำคาญ หรือ ดุ เมื่อลูกกลัว ไม่บังคับ บีบคั้น ให้ลูกเผชิญหน้ากับความกลัวโดยทันที

 

"แม่รู้ ว่าหนูกลัวเจ็บเวลาฉีดยา แต่การฉีดยาจะช่วยปกป้องหนูจากการเจ็บป่วย
แม่จะอยู่ข้าง ๆ หนูตลอด ถ้าหนูกลัว หนูจับมือ หรือ กอดแม่ไว้ดีไหมจ๊ะ"
 
"พ่อรู้ว่า วันนี้คือวันแรก ไม่คุ้นกับคุณครูใช่ไหมลูก แบบนี้ดีไหม
พ่อจะรออยู่ตรงนี้นะ เลิกเรียนออกมาลูกจะเจอพ่อแน่นอน พ่อสัญญา"

 

  • ให้ความรักและความอบอุ่น แสดงให้ลูกรู้ว่า ไม่ว่าลูกจะเป็นอย่างไร พ่อแม่เชื่อมั่นในตัวเขาเสมอ 

 

"ยังไม่พร้อมใช่ไหมลูก ไม่เป็นไรอยู่กับแม่ก่อนมานั่งดูด้วยกัน
ถ้าลูกพร้อมเมื่อไหร่ เรามาลองดูอีกทีนะ แม่มั่นใจว่าลูกทำได้"

 

  • ให้โอกาสให้ลูกได้ทำอะไรด้วยตัวเองตั้งแต่เล็กในเรื่องชีวิตประจำวัน เช่น อาบน้ำ แต่งตัว ทานข้าว จัดกระเป๋าด้วยตัวเอง จะทำให้ลูกสะสมความมั่นใจในตัวเองมากขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

 

  • ชื่นชมในความพยายามและให้กำลังใจ เมื่อลูกทำสำเร็จโดยเฉพาะในสิ่งที่ลูกกลัววิตกกังวล

 

"วันนี้หนูทานข้าวด้วยตัวเองจนหมด ไม่ต้องให้แม่ป้อนแล้ว เยี่ยมเลยจ่ะ"
"แม่เห็นเลยว่าหนูกลัวเจ็บ แต่หนูก็อดทนจนฉีดยาเสร็จ แม่ภูมิใจในตัวหนูมากเลยนะ"
"หนูใช้ความกล้าเอาชนะความกลัวจนทำสำเร็จ ดีจังเลยลูก ทำได้ยังไง ไหนลองเล่าให้พ่อฟังหน่อย"
"แม่เห็นเลยว่า หากลูกแม่พยายามมาก แม่ภูมิใจในตัวหนูนะลูก"


  • หาตัวอย่างในการเอาชนะความกลัวให้ลูก โดยอาจจะให้ลูกได้เรียนรู้ผ่านหนังสือนิทาน ชวนลูกคิด ชวนลูกพูดคุยว่า ตัวละครสามารถเอาชนะความกลัวได้อย่างไร และตัวละครรู้สึกอย่างไรเมื่อทำได้สำเร็จ

 

"เอ ถ้าลูกนก ไม่ยอมฝึกบินเลย หนูว่า ต่อไปลูกนกจะเป็นอย่างไรนะ"
"เรามาช่วยกันคิดนะ ว่าจะทำอย่างไรให้ลูกนกเอาชนะความกลัว จนสามารถบินได้"
"เมื่อลูกนกทำสำเร็จ ลูกนกจะรู้สึกอย่างไรนะ และลูกนกจะได้อะไรบ้างจากการบินได้สำเร็จ"

 

  • ให้โอกาสลูกได้เผชิญความกลัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปหากผ่านครั้งแรกไปได้ครั้งต่อไปก็จะง่ายขึ้น โดยให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นความจริงกับลูก เปิดโอกาสให้ลูกได้เตรียมตัวและแก้ปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่บังคับหรือบีบคั้น 

 

"พรุ่งนี้เราจะไปฉีดวัคซีนกันนะลูก เวลาฉีดหนูอาจจะเจ็บนิดหน่อย หนูอยากจะเตรียมตัวอย่างไรดีจ๊ะ"

 

  • เป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกดู เพราะลูกมักจะดูในสิ่งที่พ่อแม่เป็นมากกว่า สิ่งที่พ่อแม่สอน หากพ่อแม่ขี้กลัว ก็คงเป็นการยากในการที่จะสอนลูกให้เอาชนะความกลัวได้ 

 

  • ห้ามลูกให้น้อย ค่อยๆปล่อยให้ลูกได้ลองทำให้มากขึ้น อธิบายให้ลูกรู้ด้วยเหตุผล สิ่งไหนทำได้ ทำไม่ได้ หากเกิดอุบัติเหตุบ้าง พ่อแม่ควรคุมสติ รับมือด้วยท่าทีสงบเพื่อให้ลูกได้เรียนรู้

 

"ลูกเล่นปีนได้นะลูก แต่ต้องระมัดระวังเพื่อความปลอดภัยนะจ๊ะ"


หากลูกได้รับอุบัติเหตุ พ่อแม่ควรรับมือด้วยความใจเย็น

 

"หนูตกลงมาเจ็บใช่ไหมลูก มาแม่ดูแผลให้"

เมื่อลูกหายเจ็บและปลอดภัยแล้ว ค่อยชวนลูกพูดคุยถึง สาเหตุของอุบัติเหตุภายหลังพร้อมกับพูดคุยหาทางป้องกันร่วมกันกับลูก 




          ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ทุกคนมีความกลัวเกิดขึ้นได้เสมอ ยอมรับและค่อยๆ เปิดโอกาสให้ลูกได้เรียนรู้ เผชิญหน้ากับความกลัว สะสมความมั่นใจหยอดใส่กระปุกในหัวใจของลูกทีละเล็กทีละน้อย จะทำให้ลูกน้อยที่แสนจะขี้กลัวของเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกล้าและความมั่นใจสามารถเอาชนะความกลัวของตัวเองได้อย่างแน่นอนค่ะ !




สำหรับคุณพ่อคุณแม่ท่านใดอยากฝึกวิธีการสื่อสารเชิงบวกเรื่องความกลัวอยากให้ลองมาเรียนรู้ฟรีๆ กับ www.netpama.com นะคะ เพราะเชื่อว่าครอบครัวจะมีความสุขมากยิ่งขึ้นถ้าหากสื่อสารด้วยความเข้าใจ เหมาะกับทุกบ้านแน่นอน !



บทความโดย มัมมี่Bชวนเมาท์

NET PaMa